เป็นข่าวครึกโครมและอยู่ในเรดาร์มหาอำนาจที่เฝ้าจับตาอย่างใกล้ชิด หลังเกาหลีเหนือส่งทหารไปร่วมรบกับรัสเซียในสงครามกับยูเครน ท่ามกลางความกังวลว่า หมากก้าวนี้จะผูกปมขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่แก้ยากอยู่แล้วให้เป็นเงื่อนตายที่ซับซ้อนขึ้นอีกหรือไม่ เพราะวันนี้เรามีอีกหนึ่งตัวแสดงจากคาบสมุทรเกาหลีกระโดดข้ามจีนไปร่วมสู้รบด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาเปียงยางจะมีส่วนร่วมโดยป้อนอาวุธไปช่วยรัสเซียอยู่แล้วก็ตาม
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เดิมปัญหาของเกาหลีเหนือเป็นโจทย์ชุดใหญ่ในการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกอยู่แล้ว เรามีปัญหาทะเลจีนใต้และช่องแคบไต้หวันในเอเชีย นอกจากนี้ประเด็นเกาหลีเหนือพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีก็ยังเป็นปัญหาค้างคาอยู่ วันนี้พอเกิดการเชื่อมต่อระหว่างโจทย์ในคาบสมุทรเกาหลีกับสมรภูมิในยูเครนจึงเกิดความยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น
ประมาณการว่าทหารชุดแรกที่เกาหลีเหนือส่งไปมีจำนวน 3,000 นาย เข้าไปอยู่ในแคว้นคุสค์ของรัสเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่สู้รบติดกับยูเครน คำถามต่อมาคือ ท้ายที่สุดเกาหลีเหนือจะส่งไปเท่าไร จากการคาดการณ์น่าจะอยู่ที่ 10,000 นาย ซึ่ง ดร.สุรชาติ มองว่าเป็นจำนวนที่มากและมีนัยสำคัญ
เกาหลีเหนือกลายเป็นคู่สงครามกับยูเครน?
คิมจองอึน ผู้นำของเกาหลีเหนือ และ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย เพิ่งทำข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกันเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งมีพันธกรณีที่สองฝ่ายจะส่งทหารเข้าช่วยอีกฝ่าย หากอยู่ในภาวะสงครามหรือเผชิญภัยคุกคามความมั่นคง
ดร.สุรชาติ กล่าวว่า การส่งกำลังรบมีนัยสูงกว่าการส่งอาวุธไปช่วย เราจะเห็นว่าที่ผ่านมาชาติตะวันตกไม่ส่งทหารเข้าไปในยูเครนเป็นอันขาด เพราะอาจถูกตีความว่าเป็นการเข้าสู่สงครามเต็มตัว
การส่งอาวุธเป็นเพียงการส่งความช่วยเหลือ ไม่เป็นพันธะมากเท่ากับการส่งทหารไปช่วยรบ ส่วนการส่งทหารจะเท่ากับการพาประเทศเข้าสู่สงคราม
กรณีนี้ทำให้เกิดการตีความได้ว่า เกาหลีเหนือเป็นคู่สงครามยูเครนโดยตรง หรือวันนี้เกาหลีเหนือกลายเป็นรัฐคู่พิพาทในสงครามไปแล้ว และการทำเช่นนี้ของเกาหลีเหนือทำให้สงครามยูเครนกลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อพิพาทบนคาบสมุทรเกาหลี
นอกจากนี้การมาของทหารเกาหลีเหนือในสงครามยูเครนจะยิ่งทำให้สหรัฐฯ และ NATO ต้องกังวลกับปัญหาสงครามยูเครนอย่างมาก เพราะเท่ากับเป็นสัญญาณว่ารัสเซียกำลังขยายสงครามในอีกแบบหนึ่ง และความหวังที่ว่ากองทัพรัสเซียจะหมดขีดความสามารถในการรบนั้นอาจเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะไม่เพียงมีการสนับสนุนอาวุธจากพันธมิตร แต่ยังมีการส่งทหารอีกด้วย ซึ่งจะทำให้กองทัพรัสเซียรบได้นานขึ้น และเท่ากับบอกว่า สงครามจะยังไม่ยุติได้ง่ายๆ และ NATO อาจต้องเตรียมตัวมากขึ้นด้วย
สงครามขยายวงสู่เอเชียหรือไม่
การส่งทหารไปร่วมรบทำให้สถานการณ์สงครามในยูเครนไปเชื่อมกับโจทย์การเมืองในเอเชีย ซึ่ง ดร.สุรชาติ มองว่าเป็นการยกระดับสงครามในทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยสะท้อนชัดจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นใกล้ชิดระหว่างรัสเซียกับเกาหลีเหนือ และเป็นเครื่องยืนยันว่าเวลานี้เกาหลีเหนือกลายเป็นพันธมิตรที่สำคัญของรัสเซีย นอกเหนือไปจากอิหร่านที่ส่งอาวุธและโดรนไปให้รัสเซียใช้รบก่อนหน้านี้
เกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่มองเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคามบนคาบสมุทรอยู่แล้วจะยิ่งหวาดระแวงมากขึ้น จากเดิมปัญหาการพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์และการทดลองขีปนาวุธของเกาหลีเหนือก็สร้างความหวาดระแวงอยู่แล้ว จนวันนี้มีความวิตกเกิดขึ้นด้วยว่า สถานการณ์ที่เป็นอยู่จะนำไปสู่สงครามตัวแทนในอนาคตหรือไม่ เพราะจุดยืนของโซลนั้นชัด คือสนับสนุนรัฐบาลเคียฟในการทำสงครามต่อต้านมอสโก ขณะที่เปียงยางสนับสนุนมอสโกอย่างแข็งขัน ซึ่งถ้าท้ายที่สุดเกาหลีใต้ส่งทหารไปช่วยบ้างก็จะเท่ากับการทำสงครามตัวแทนโดยพฤตินัย
เกาหลีเหนือได้อะไรจากการช่วยรัสเซีย
แน่นอนว่าการจับมือครั้งนี้รัสเซียจะได้กำลังเสริมและสายพานอาวุธที่ใช้สู้รบจากเกาหลีเหนือ เป็นการต่อลมหายใจปูตินในสมรภูมิที่ควันระเบิดยังคละคลุ้งและยังไม่เห็นปลายทางสันติภาพ
สำหรับเกาหลีเหนือจะได้อะไรนั้น ดร.สุรชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการคือได้ใช้สนามรบจริงในการฝึกฝนหน่วยทหารพิเศษ เพราะตั้งแต่สงครามเกาหลี 1953 เป็นต้นมา เกาหลีเหนือก็ไม่ได้รบแบบจริงจังเลย และเมื่อกวาดตาไปทั่ว ไม่มีที่ไหนฝึกทหารของพวกเขาได้ดีไปกว่าสงครามในยูเครนแล้วในเวลานี้
แน่นอนว่าอีกสิ่งที่เกาหลีเหนือต้องการและจะได้จากรัสเซียคือองค์ความรู้ด้านอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงเทคโนโลยีขีปนาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำและเทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เกาหลีใต้และญี่ปุ่นหวั่นวิตก เพราะหากเกาหลีเหนือมีอาวุธและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในครอบครอง ย่อมส่งผลต่อดุลอำนาจทางทหารบริเวณคาบสมุทรเกาหลี
จีนกระอักกระอ่วน คุมเกาหลีเหนือยากขึ้น?
ดร.สุรชาติ มองว่า การที่ความสัมพันธ์ของคิมจองอึนและปูตินดี และกรณีส่งทหารไปช่วยรบ จีนอาจเกิดความกระอักกระอ่วนหรือไม่พอใจอยู่ลึกๆ
ปัจจุบันเกิดเป็นความสัมพันธ์สามเส้า รัสเซีย-จีน-เกาหลีเหนือ ซึ่งต้องตามดูพัฒนาการต่อไป
ดร.สุรชาติ ชี้ว่า เกาหลีเหนือทำให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาจีนเรื่องอาวุธอีกต่อไป เพราะเวลานี้สามารถพึ่งพารัสเซียเพิ่มได้ ซึ่งสำหรับจีนแล้วกลายเป็นโจทย์ที่ยากขึ้นในการรับมือเกาหลีเหนือหรือควบคุมเกาหลีเหนือหลังจากนี้
เกิดคำถามที่น่าขบคิดด้วยว่า การที่เปียงยางกับมอสโกมีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจะเพิ่มอำนาจต่อรองให้เกาหลีเหนือในการคุยกับจีนด้วยหรือไม่ ซึ่ง ดร.สุรชาติ มองว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะการที่เกาหลีเหนือขอให้รัสเซียช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีอาวุธ อาจสะท้อนว่าที่ผ่านมาจีนอาจจำกัดการถ่ายโอนเทคโนโลยีพอสมควร ซึ่งด้านหนึ่งก็บีบให้เกาหลีเหนือมองหาทางเลือก และตอนนี้เกาหลีเหนือก็มีทางเลือกแล้ว ซึ่งจากนี้ต้องจับตาต่อไป
ถ้าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ทันสมัยก็หลีกเลี่ยงยากที่จะทำให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต้องขอมีอาวุธนิวเคลียร์ด้วยเพื่อคานอำนาจ กลายเป็นความเสี่ยงใหม่ในคาบสมุทร และเกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทับซ้อนกันหลายชุด
ภาพ: Contributor / Getty Images