วานนี้ (25 ตุลาคม) รัฐบาลยูเครนวอนประชาชนผู้ลี้ภัยสงคราม อย่าเพิ่งเดินทางกลับเข้าประเทศในช่วงฤดูหนาวนี้ เพื่อคลายแรงกดดันจากปัญหาขาดแคลนพลังงาน หลังจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อมานานกว่า 8 เดือนแล้ว
ด้าน อิรีนา เวเรชชุก รองนายกรัฐมนตรียูเครน ระบุว่า โครงข่ายด้านพลังงานทั้งหมดอาจไม่สามารถรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ “คุณก็เห็นแล้วว่ารัสเซียกำลังทำอะไร พวกเราจำเป็นต้องเอาชีวิตรอดผ่านฤดูหนาวนี้ไปให้ได้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยู่ต่างประเทศไปก่อนสักระยะหนึ่ง”
มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครนเผยว่า กองทัพรัสเซียโจมตีทางอากาศทำลายพื้นที่ในภาคส่วนพลังงานไปมากกว่า 1 ใน 3 ของประเทศแล้ว การกลับเข้าประเทศในช่วงเวลานี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้นไปอีก
เศรษฐกิจของยูเครนได้รับผลกระทบอย่างหนัก นับตั้งแต่สงครามเปิดฉากขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยผู้นำยูเครนวอนขอความช่วยเหลือด้านงบประมาณจากประชาคมโลกอย่างเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าอาจใช้งบประมาณสูงถึง 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.45 ล้านล้านบาท) ในปี 2023
ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ยูเครนจำเป็นต้องใช้งบประมาณราว 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.14 แสนล้านบาท) ต่อเดือน เพื่อเอาชีวิตรอดในปี 2023 และอาจปรับเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9 แสนล้านบาท) ต่อเดือน หากกองทัพรัสเซียโจมตีต่อเนื่องอย่างหนัก
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) รายงานว่า นับตั้งแต่กองทัพรัสเซียเปิดฉากรุกรานประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยออกจากประเทศยูเครนและเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ทั่วยุโรปกว่า 7.7 ล้านรายแล้ว หรือคิดเป็นราว 17.5% ของประชากรยูเครนทั้งหมด 44 ล้านราย โดยตัวเลขของผู้ลี้ภัยและขอบเขตความเสียหายยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
แฟ้มภาพ: Kay Nietfeld / Picture Alliance via Getty Images
อ้างอิง: