×

ผลประชามติแบบไม่ต้องลุ้นกับความขัดแย้งเฟสใหม่ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น: จุดที่ไม่อาจหวนกลับยิ่งกว่าเดิม?

29.09.2022
  • LOADING...

ในที่สุดก็เป็นที่แน่ชัดแบบไม่ต้องลุ้นแล้วว่า ผลประชามติเรื่องการ ‘ขอเข้าร่วม’ กับสหพันธรัฐรัสเซียใน 4 เขตการปกครองนั้นเป็นไปอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยผลการนับคะแนนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ผลคะแนนจากพื้นที่ทั้ง 4 และผลคะแนนจากประชากรจากพื้นที่ทั้ง 4 ที่มีถิ่นพำนักในดินแดนรัสเซีย โดยคะแนนแบ่งออกเป็นดังนี้

 

  1. คะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากแคว้นทั้ง 4 ที่ยังคงพำนักในดินแดนทั้ง 4

สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์เห็นด้วยร้อยละ 99.23 สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ร้อยละ 98.42 จังหวัดซาปอริซเซียร้อยละ 93.11 และจังหวัดเคอร์ซอนร้อยละ 87.05 

 

  1. คะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากแคว้นทั้ง 4 ที่มีถิ่นพำนักในดินแดนรัสเซีย

สาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์เห็นด้วยร้อยละ 98.69 สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ร้อยละ 97.93 จังหวัดซาปอริซเซียร้อยละ 97.81 และจังหวัดเคอร์ซอนร้อยละ 96.75 

 

สรุปคือเสียงส่วนใหญ่ของทั้ง 4 แคว้นเป็นไปในทางเดียวกันคือ ต้องการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

 

และต่อให้ใครจะประณามอย่างไรรัสเซียก็ไม่สน เพราะรัสเซียถือหลักการ ‘Self-Determination’ อย่างแข็งขันในการรองรับการทำประชามตินี้ แบบที่ชาติตะวันตกเคยทำกับโคโซโวของเซอร์เบีย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของรัสเซียที่ไม่มีใครฟังในยุคนั้น 

 

นัยหนึ่งคือ เป็นการเอาคืนปมแผลเก่านั้น

 

นอกจากเราจะเห็นความกระตือรือร้นในการจัดการลงประชามติอย่างรวดเร็วจากฝั่งของดินแดนที่จัดประชามติแล้ว เรายังเห็นความกระตือรือร้นจากฝ่ายสถาบันทางการเมืองของรัสเซียอย่างสภาสหพันธรัฐฯ หรือสภาสูงที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของรัสเซียเองที่ประกาศว่า พร้อมให้การรับรองลงสัตยาบันของ ‘คำร้อขอเข้าร่วม’ จาก 4 แคว้นดังกล่าวภายในวันที่ 4 ตุลาคมนี้ด้วยซ้ำ ในอีกแง่หนึ่งคือถ้ายื่นขอเสนอ (ตามผลประชามติ) ภายในพรุ่งนี้ สภารัสเซียพร้อมให้การรับรองทันทีไม่เกินภายใน 7 วัน ทุกอย่างมันช่างรวดเร็วฉับไวยิ่งนัก ผิดวิสัยกระบวนการติดต่อราชการระบบรัสเซียในชีวิตประจำวันแบบเห็นได้ชัด (ตามประสบการณ์โลดโผนโจนทะยานในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่ในรัสเซียของผู้เขียน)

 

เพียงดูแค่ผิวเผินตามไทม์ไลน์เราก็พอจะเห็น ‘ความเร่งรีบ’ อยู่ในกระบวนการเหล่านี้ ทั้งการระดมพล ทั้งการจัดประชามติ

 

ต่อให้บอกว่าการลงประชามติครั้งนี้เป็นรูปแบบของประชามติไครเมีย เมื่อปี 2014 แต่ต้องยอมรับว่ากรณีของไครเมียยังมีกรอบเวลาเป็นเดือน ยังพอหลับตาได้ว่าประชามติในครั้งนั้นเป็น ‘กระบวนการตามกฎหมาย’ ได้บ้าง ในขณะที่กรณี 4 แคว้นนี้ พร้อมทั้งสถาบันทางการเมืองของรัสเซียเอง ทุกฝ่ายทำงานเร็วเป็นพิเศษ

 

ผู้สันทัดกรณีบางท่านให้ข้อสังเกตว่า ที่ทุกอย่างมีความเร่งรีบฉับไวเสร็จก่อน 4 ตุลาคมนี้ ก็เพราะว่าจะได้ทันวันฉลองวันคล้ายวันเกิดของปูติน ที่จะมีอายุครบ 70 ปีในวันที่ 7 ตุลาคมที่จะถึงนี้ อย่างน้อยก็เป็นความหมายเชิงสัญลักษณ์ว่า ปูตินได้เฉลิมฉลองวันเกิดด้วยการพาดินแดนเหล่านี้กลับสู่อ้อมอกอ้อมใจแผ่นดินแม่รัสเซียอีกวาระหนึ่ง

 

ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ภายในไม่เกินสัปดาห์หน้าเราคงได้เห็นแผนที่ประเทศสหพันธรัฐรัสเซียฉบับใหม่ที่รวม 4 แคว้นนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ Federal Subjects และถือเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซียตามกฎหมายรัสเซียทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัย และจากนี้เป็นต้นไป ถ้าใครมาโจมตีดินแดนของรัสเซียนี้ก็จะถือว่าโจมตีประเทศรัสเซียโดยตรง เพราะสถานะของแคว้นทั้ง 4 เมื่อถูกผนวกเข้ามาแล้วก็มีสถานะไม่ต่างจากเขตการปกครองอื่น เช่น กรุงมอสโก นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก จังหวัดสโมเลนสก์ จังหวัดอีร์คุตสก์ และเขตการปกครองอีกนับร้อยๆ แห่งที่ถ้าถูกโจมตีก็จะถือว่าเหมือนดินแดนอื่นๆ ดั้งเดิมของรัสเซียถูกโจมตี และต้องถูกตอบโต้อย่างสาสมเช่นกัน

 

ตรงนี้แหละที่จะมีความซับซ้อน เพราะสถานะในทางกฎหมายของดินแดนเหล่านี้จะเปลี่ยนไป แต่เดิมดินแดนเหล่านี้เป็นดินแดนนอกปกครองของรัสเซียที่รัสเซียเพียงให้การสนับสนุน แต่จากนี้ต่อไปจะเป็นดินแดนในอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเอง (ใครจะว่าอย่างไรไม่ทราบแต่รัสเซียมองแบบนี้) และสเกลการตอบโต้ก็อาจจะหนักหน่วงขึ้น เพราะถ้าเกิดใครยังดึงดันมาโจมตีก็เท่ากับว่า ฝ่ายนั้นจงใจโจมตีแผ่นดินของรัสเซียเองโดยตรง ดูได้จากคำเตือนของ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รมว.ต่างประเทศรัสเซีย ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ว่าพร้อมตอบโต้ทุกรูปแบบ และไม่ปิดกั้นทางเลือกอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อยับยั้งภัยคุกคามสูงสุดต่อรัสเซียด้วย

 

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ว่า เพราะเหตุใดทั้งการจัดการลงประชามติและการระดมพลกำลังพลสำรองถึงได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลัน ก็เพราะดินแดน ‘รัสเซียใหม่’ เหล่านี้ต้องการกำลังพลดูแลและปกป้อง เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะกำลังพลที่มีอยู่ที่ต้องดูแลความมั่นคงดินแดนอันกว้างใหญ่ที่สุดในโลกก็ตึงมือมากพอแล้ว อย่างที่ผู้เขียนเคยนำเรียนผู้อ่านไปในตอนที่แล้ว

 

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจมีคำถามในใจว่า แล้วทำไมต้องรีบกันจัง (ถ้าไม่นับว่าเป็นวันเกิดของผู้นำรัสเซีย) 

 

ผู้เขียนมองว่าหนึ่งในคำอธิบายที่ฟังแล้วเข้าทีก็คือ เรื่องบริบทของสมรภูมิที่โมเมนตัมของรัสเซียเสียไป หลังโดนกองทัพยูเครนตีโต้กลับในช่วงเริ่มต้นของฤดู ‘รัสปูติ๊ทซ่ะ’ พอดี ทั้งการลงประชามติ ทั้งการเรียกระดมพลเกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังจากรัสเซียจำเป็นต้อง ‘ถอยมาตั้งหลัก’ ก่อน ทั้งๆ ที่ทีแรกมีการคาดกันว่าการลงประชามติจะเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงด้วยซ้ำ (เป็นไปตามกระบวนการปกติที่ไม่ได้รีบเร่ง) นั่นหมายความว่า การตีโต้ของยูเครน ‘บีบ’ ให้รัสเซียต้องทำแบบนี้

 

อย่างน้อยการลงประชามติแบบรีบๆ จะทำให้รัสเซียดูเป็นผู้ชนะในเชิงสัญลักษณ์ แต่ทว่ามีผู้สันทัดกรณีหลายท่านก็มองว่า การเรียกระดมพลนั้นผิดจังหวะที่เหมาะที่ควรในเชิงจิตวิทยาพอควร กล่าวคือไม่ว่าจะช้าหรือเร็วด้วยบริบทและเหตุจำเป็นรัสเซียก็ต้องเรียกระดมพลอยู่ดี และการเรียกระดมพล ถ้าหากกระทำในตอนที่รัสเซียกำลังได้เปรียบ มันจะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจมากกว่า แต่ความเป็นจริงคือ รัสเซียเรียกระดมพลในภาวะที่ตัวเองเสียเปรียบ ย่อมสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อศักยภาพของฝ่ายรัสเซียเองในสายตาของชาวโลก เหมือนกับว่าเพราะจนตรอกถึงต้องเกณฑ์คนไปเพิ่ม จากคนในเองก็มองว่าจะถูกส่งไปเจอกับความไม่แน่นอน (บ้านๆ คือจะส่งไปตายหรือเปล่า) ดังนั้น เราจึงเห็นข่าวที่โลกตะวันตกประโคมว่า ชาวรัสเซียกำลังพากันแห่ออกนอกประเทศตามพรมแดนต่างๆ จนกระทั่งรถติดยาวหลายกิโลเมตร

 

สิ่งที่สื่อตะวันตกประโคมข่าวก็เป็นข้อเท็จจริงอยู่ เพราะเป็นภาพถ่ายดาวเทียมที่ถ่ายจากทั้งพรมแดนรัสเซีย-จอร์เจีย หรือรัสเซีย-มองโกเลีย ที่เห็นเป็นขบวนรถต่อคิวยาวอย่างชัดเจน (แต่ไม่เข้าคาซัคสถานที่มีพรมแดนที่ยาวกว่า เพราะรัฐบาลคาซัคสถานมีข้อตกลงว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่รวมความผิดถึงคดีหนีหมายเรียกระดมพลด้วย) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในโลกโซเชียลมีเดียของรัสเซียก็มีการเผยแพร่การสนับสนุนการทำหน้าที่ของพลเมืองในประเทศ ด้วยการเข้าร่วมระดมพลเช่นกัน ไม่ได้มีการต่อต้านการระดมพล 100% หรือการสนับสนุนการระดมพล 100% อย่างน้อยเราก็ได้รับรู้ว่าผลกระทบจากการตีโต้ของยูเครนอันนำมาซึ่งการเปลี่ยนนโยบายอย่างเร่งด่วนของรัสเซียนั้นก็ได้ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประชาสังคมรัสเซียด้วยคือ ความขัดแย้งทางความคิดเห็น แยกขยายใหญ่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

สถานการณ์ยิ่งซับซ้อนและแหลมคมมากขึ้น ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด

 

แฟ้มภาพ: Tomas Ragina / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X