×

จับตาความสัมพันธ์อังกฤษ vs. EU กับปมขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ No-Deal Brexit ปลายปีนี้

โดย THE STANDARD TEAM
11.09.2020
  • LOADING...

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยบทวิเคราะห์เรื่อง ร่างกฎหมาย Internal Market Bill ของอังกฤษ… ชนวนนำไปสู่ No-Deal Brexit ในสิ้นปีนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าจากสถานการณ์ล่าสุดที่ทางการอังกฤษเตรียมเสนอร่างกฎหมาย Internal Market Bill ที่เปิดช่องให้รัฐบาลอังกฤษสามารถมีข้อปฏิบัติที่ขัดแย้งกับความตกลงที่เคยให้ไว้กับ EU ได้ อาจเป็นชนวนใหม่ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับ EU กลับมาเปราะบางยิ่งกว่าเดิม ส่งผลให้การเจรจาความตกลงทางการค้าที่จะนำมาทดแทนความสัมพันธ์เดิมที่ควรจะเกิดภายในสิ้นปีคงไม่เกิด แต่จะนำพาอังกฤษเข้าสู่เส้นทาง No-deal Brexit ในวันที่ 31 ธันวาคมนี้แทน

 

โดยบทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุว่า การที่รัฐบาลอังกฤษเตรียมเสนอร่างกฎหมาย Internal Market Bill ที่ให้รัฐบาลอังกฤษมีอำนาจปฏิบัติบางประเด็นที่แย้งกับข้อตกลงการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปที่ได้ลงนามไปเมื่อต้นปี 2020 นับเป็นความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับ EU กลับมาเปราะบางอีกครั้ง ซึ่งทำให้การเจรจาที่ค้างคาอยู่เป็นไปได้ยากขึ้นอีก อาทิ EU ต้องการความโปร่งใสจากรัฐบาลอังกฤษในประเด็นเรื่องการอุดหนุนของรัฐ รวมถึงข้อเรียกร้องของ EU ที่ต้องการเข้าไปทำประมงในน่านน้ำอังกฤษได้เหมือนเดิม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ด้วยสถานการณ์ที่คลุมเครือ ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นว่าในวันที่ 1 มกราคม 2021 อังกฤษจะถอนตัวจาก EU โดยไร้ซึ่งข้อตกลงใดๆ หรือเกิด No-deal Brexit เนื่องจาก

 

  1. ร่างกฎหมาย Internal Market Bill เปิดช่องให้ทางการอังกฤษดำเนินมาตรการที่ขัดกับความตกลงที่เคยให้ไว้กับ EU ได้ ยิ่งทำให้เรื่องที่เคยจบไปแล้วกลับมาเป็นประเด็นอีก แม้อังกฤษจะอ้างว่าเป็นการแก้ไขในบางประเด็น แต่ EU มองการแก้ไขดังกล่าวเป็นการแก้ไขความตกลงระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบทางกฎหมายทั้งรัฐสภาอังกฤษและสภา EU ซึ่งหากจะแก้ไขจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้วสองฝ่ายเท่านั้น โดยเฉพาะในเรื่องความตกลงพรมแดนไอร์แลนด์เหนือกับประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งเป็นความอ่อนไหวในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่เป็นหัวใจสำคัญของการเจรจามาโดยตลอด และก็เหมือนว่าได้ทางออกร่วมกันไปแล้วว่าไอร์แลนด์เหนือจะยังอยู่ในสหภาพศุลกากรยุโรป (Custom Union: CU) ตามข้อตกลงการถอนตัวเมื่อต้นปี 2020 แต่สุดท้ายอังกฤษก็ยังต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือแยกออกมาเป็นอิสระจาก EU อย่างชัดเจนอยู่ดี จนนำมาสู่การเสนอกฎหมาย Internal Market Bill ดังกล่าว 

 

  1. การเจรจาข้อตกกลงการค้าระหว่างอังกฤษกับ EU ที่จะมาทดแทนความสัมพันธ์เดิมคงไม่เกิดขึ้น มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิด No-Deal Brexit ในวันที่ 31 ธันวาคม เนื่องจากเงื่อนเวลาถอนตัวที่ใกล้เข้ามาทุกที ประกอบกับการเสนอกฎหมายของอังกฤษดังกล่าว กลายเป็นชนวนใหม่ที่อาจนำไปสู่จุดแตกหักในการเจรจาระหว่างอังกฤษกับ EU ซึ่งทาง EU ไม่น่าจะยอมรับสถานการณ์กลับไปกลับมาของอังกฤษได้ โดยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมายังไม่เห็นภาพความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของทั้งคู่ในอนาคตได้อย่างชัดเจน ยิ่งถ้าหากอังกฤษใช้กฎหมายใหม่มาทำให้สิ่งที่เคยตกลงไว้ต้องเปลี่ยนไป ก็มีความเป็นไปได้อย่างมากว่าการเจรจาระหว่างอังกฤษกับ EU ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้จะออกมาในรูปแบบที่ EU ไม่น่าจะยอมให้โอกาสอังกฤษแบบครั้งก่อน หรืออาจไม่มีข้อสรุปร่วมกันในระยะข้างหน้าได้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสะท้อนภาพรวมของกรณีนี้ว่า จากสาเหตุดังกล่าวทำให้บทสรุปของ Brexit เต็มไปด้วยความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นความตกลงที่ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะวัดออกมา และโดยเฉพาะปมการเมืองภายในอังกฤษที่กลายมาเป็นปัญหาของการเจรจาตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ทำให้อังกฤษกำลังเดินหน้าเข้าสู่การแยกตัวเป็นอิสระจาก EU อย่างแท้จริงทั้งในเชิงนโยบายเศรษฐกิจและการเงินที่ไม่ต้องอิงกับ EU อีกต่อไป นั้บตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 ซึ่งสิ่งที่อังกฤษต้องแบกรับทันทีคือต้นทุนทางภาษีสินค้าที่ส่งไปยัง EU ในอัตรา MFN Rate คิดเป็นมูลค่าภาษีที่อังกฤษต้องแบกรับประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี 

 

นอกจากนี้การที่อังกฤษยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจาก EU ถึงครึ่งหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าอังกฤษก็ต้องมีกำแพงภาษีนำเข้า ส่งผลต่อเงินเฟ้อในประเทศ แต่ก็ไม่น่าจะกระทบต่ออังกฤษมากนัก เพราะในเบื้องต้นอังกฤษประกาศลดภาษีให้แก่สินค้านำเข้าเพื่อการบริโภคในประเทศ และลดหย่อนภาษีนำเข้าหลายรายการเป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่โดยรวมแล้วการเกิด No-Deal Brexit ก็ไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจอังกฤษในปี 2021 ที่เป็นรอยต่อการฟื้นตัวหลังโควิด-19 

 

อีกทั้งการที่อังกฤษไม่มีกรอบนโยบายที่ชัดเจนหลังถอนตัวจาก EU ในปีนี้ ยังเป็นความท้าทายเชิงนโยบายระหว่างประเทศในการเจรจาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอื่นๆ โดยระยะสั้นจะทำให้เกิดความผันผวนทางการค้าระหว่างประเทศ หลังจากนั้นผลกระทบจะทยอยหายไปในที่สุด หากในที่สุดอังกฤษสามารถวางกรอบนโยบายความสัมพันธ์กับนานาประเทศได้ แต่ในด้านการลงทุนที่มีความอ่อนไหวต่อนโยบายมากกว่า ประกอบกับที่ผ่านมานักลงทุนในอังกฤษได้กระจายการลงทุนออกจากอังกฤษไปพอสมควรนับตั้งแต่มีสัญญาณ Brexit และยังมีความเสี่ยงว่านักลงทุนจะย้ายฐานการผลิตออกไปมากขึ้นอีกในปี 2021 หากยังไม่มีความชัดเจนทั้งการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งในประเด็นนี้คงส่งผลกระทบให้โครงสร้างเศรษฐกิจอังกฤษเปลี่ยนไปอย่างถาวร

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า ในส่วนของไทยแม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้น แต่อังกฤษก็มีบทบาทสำคัญในฐานะตลาดส่งออกสำคัญอันดับต้นๆ ของไทยในยุโรป โดยมีมูลค่าส่งออกปีละประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก การที่เศรษฐกิจอังกฤษฟื้นตัวล่าช้าก็อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยตามมา 

 

อย่างไรก็ดี การที่อังกฤษถอนตัวจาก EU ก็ส่งผลให้อังกฤษต้องมีระบบศุลกากรและอัตราภาษีนำเข้าเป็นของตนเองตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 เป็นต้นไป โดยในเบื้องต้นอังกฤษประกาศให้สินค้านำเข้ากว่าร้อยละ 60 ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า (ตอนเป็นสมาชิก EU สินค้าที่ไม่ต้องเสียภาษีมีเพียงร้อยละ 47 ของสินค้านำเข้าทั้งหมดของอังกฤษ) ทั้งนี้การปรับโครงสร้างภาษีของอังกฤษในภาพรวมทำให้ผู้ส่งออกไทยมีภาระทางภาษีน้อยลง ซึ่งในบรรดาสินค้าส่งออกของไทย 20 อันดับแรกไปอังกฤษ สินค้าส่งออกหลักของไทยร้อยละ 30 ของการส่งออกทั้งหมดไปอังกฤษยังมีภาษีคงเดิม ได้แก่ ไก่แปรรูป ยังคงมีโควตานำเข้าเหมือนเดิม และ รถจักรยานยนต์ อัตราภาษียังคงเดิมที่ร้อยละ 6 คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และวงจรพิมพ์ อัตราภาษีคงเดิมที่ร้อยละ 0 สำหรับสินค้าอื่นๆ แม้จะมีการลดภาษี แต่ก็เป็นสินค้ามีมูลค่าส่งออกไม่สูง เช่น สินค้าที่อัตราภาษีลดลงเหลือร้อยละ 0 ได้แก่ อาหารสุนัขและแมว อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ สินค้าที่อัตราภาษีลดลงจากเดิม ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 2 (เดิมร้อยละ 2.5) ซอสปรุงรสอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 6 (เดิมร้อยละ 7.7) 

 

ทั้งนี้ยังคงต้องจับตาความสัมพันธ์ที่คลุมเครือของอังกฤษกับ EU รวมทั้งอังกฤษกับประเทศอื่นๆ และนโยบายการค้าที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงปลายปีนี้ต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะมีผลต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศของไทย อีกทั้งหากไทยสามารถเจรจาความตกลง FTA กับอังกฤษได้สำเร็จ ก็เป็นอีกเครื่องมือที่จะช่วยสร้างแต้มต่อทางการค้าให้แก่ไทยได้ในระยะยาว

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X