สหราชอาณาจักรจับมืออิตาลีและญี่ปุ่นพัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภายใต้โครงการความร่วมมือ Global Combat Air Program (GCAP) ระหว่างสามประเทศ คาดจะช่วยสร้างงานทักษะสูงหลายร้อยตำแหน่งในสหราชอาณาจักรในช่วง 10 ปีข้างหน้า นอกเหนือไปจากการป้องกันประเทศ
วานนี้ (9 ธันวาคม) ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดินทางไปยังฐานทัพอากาศ RAF Coningsby ในลินคอล์นเชอร์ เพื่อเปิดตัวโครงการความร่วมมือ GCAP ระยะที่ 1 พร้อมชมเครื่องบิน Typhoon ซึ่งเป็นเครื่องบินรบรุ่นเก่าที่กองทัพอากาศอังกฤษใช้งานเป็นหลักตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับเครื่องบินรุ่นใหม่ซึ่งจะมาแทนที่ Typhoon นั้นมีชื่อเรียกชั่วคราวว่า Tempest ได้รับการยกระดับความสามารถด้านต่างๆ เช่น การควบคุมอัตโนมัติเต็มรูปแบบ เซ็นเซอร์ขั้นสูง อาวุธล้ำสมัย และระบบข้อมูลที่เป็นนวัตกรรม โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ภายในปี 2035
เทคโนโลยีควบคุมสั่งการด้วยท่าทาง และการติดตามการเคลื่อนไหวของดวงตา จะสามารถวัดภาระงานของนักบิน ทำให้ทราบความเหนื่อยล้าและความเครียดทางจิตใจ ขณะที่เทคโนโลยี AI จะช่วยให้เครื่องบินยังคงปฏิบัติภารกิจต่อไปได้ แม้นักบินหมดสติ นอกจากนี้ ห้องนักบินจะไม่มีแผงหน้าปัด และเทคโนโลยีล่องหนขั้นสูงจะช่วยให้เครื่องบินรอดพ้นจากการตรวจจับของเรดาร์
บริษัทตรวจสอบบัญชี PricewaterhouseCoopers คาดการณ์เมื่อปีที่แล้วว่า การรับบทนำในการพัฒนาเครื่องบินรุ่นใหม่ดังกล่าวอาจช่วยสร้างงานมากถึง 21,000 ตำแหน่งต่อปี และจะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 2.62 หมื่นล้านปอนด์ภายในปี 2050
ซูนัคกล่าวในโอกาสเปิดตัวโครงการว่า “ความมั่นคงของสหราชอาณาจักรทั้งในวันนี้และสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต จะเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญสูงสุดเสมอ นั่นเป็นเหตุผลที่เทคโนโลยีการป้องกันประเทศของเราต้องก้าวล้ำ แซงหน้า และช่วงชิงความได้เปรียบผู้ที่พยายามจะทำร้ายเรา
“ความร่วมมือกับอิตาลีและญี่ปุ่นที่เราประกาศในวันนี้ มีเป้าหมายเช่นนั้น ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่า ความมั่นคงปลอดภัยของภูมิภาคยูโร-แอตแลนติกและอินโด-แปซิฟิกนั้นไม่สามารถแบ่งแยกออกจากกันได้
ด้าน เบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอังกฤษ กล่าวว่า “ความร่วมมือกับอิตาลีและญี่ปุ่นเพื่อสร้างและออกแบบเครื่องบินรบรุ่นใหม่นั้น แสดงถึงความร่วมมือที่ยอดเยี่ยมในด้านเทคโนโลยีการป้องกันประเทศที่ทันสมัย รวมถึงความเชี่ยวชาญที่ประเทศพันธมิตรแลกเปลี่ยนกัน อันจะนำไปสู่การสร้างงานทักษะสูงทั่วทั้งภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างความมั่นคงระยะยาวสำหรับสหราชอาณาจักรและพันธมิตรของเรา”
GCAP ถือเป็นความร่วมมือด้านกลาโหมล่าสุดของสหราชอาณาจักรกับประเทศพันธมิตร นอกเหนือไปจากความร่วมมือ AUKUS กับสหรัฐฯ และออสเตรเลีย เพื่อสร้างเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์แก่กองทัพเรือออสเตรเลีย รวมทั้ง NATO
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมการบิน นำโดยบริษัท BAE Systems ผู้ผลิตและพัฒนาอาวุธและเครื่องบินสำหรับการทหาร บริษัทเป็นผู้บุกเบิกการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติขั้นสูง และใช้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติในเครื่องบินทหาร
อ้างอิง: