×

เมื่ออาจารย์-พนักงาน 60 มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรหยุดงานประท้วง: สิทธิและผลกระทบที่ต้องชั่งน้ำหนัก

28.11.2019
  • LOADING...
University and College Union

วงการอุดมศึกษาของสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญปัญหาระลอกใหม่ หลังสหภาพวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย หรือ University and College Union (UCU) เริ่มต้นมาตรการหยุดงานประท้วงของอาจารย์และพนักงานในมหาวิทยาลัย 60 แห่งทั่วสหราชอาณาจักรแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และการหยุดงานประท้วงนี้มีกำหนด 8 วัน ทำการไปจนถึงวันพุธที่ 4 ธันวาคมนี้ 

 

และแม้ช่วงการหยุดงานประท้วงจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่มาตรการเรียกร้องต่อเนื่องด้วยการทำงานเพียง ‘ตามหน้าที่ที่มี’ จะยังคงดำเนินต่อไปหลังจากนั้น ซึ่งหมายถึงการไม่ทำงานล่วงเวลา การไม่รับช่วยงานของเพื่อนร่วมงานที่ขาดงาน การไม่จัดตารางสอนชดเชยให้กับคาบเรียนที่หายไประหว่างการหยุดงานประท้วง และการไม่รับงานภาคสมัครใจ ทั้งหมดนี้จะดำเนินไปจนกว่าสหภาพฯ จะมีคำขอให้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

 

University and College Union

ภาพ: ucu.org.uk

 

จำนวนมหาวิทยาลัย 60 แห่งนั้น คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนมหาวิทยาลัยทั้งหมดในสหราชอาณาจักร และในจำนวนนี้ยังมีชื่อมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งที่คนไทยรู้จักกันดี อย่าง University of Oxford, University of Cambridge หรือ University of Edinburgh รวมอยู่ด้วย

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับการหยุดงานประท้วงในสถาบันการศึกษาของสหราชอาณาจักร ย้อนหลังไปเมื่อปี 2018 หรือ 2013 ก็มีการหยุดงานประท้วงในลักษณะคล้ายกันมาแล้ว

 

หยุดสอน-หยุดงาน เพราะ ‘ลดบำนาญ-ค่าจ้างต่ำ-งานหนัก’

แอนดี้ วิลเลียมส์ เจ้าหน้าที่ด้านสื่อและการสื่อสารของ UCU ประจำมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า สาเหตุของมาตรการเรียกร้องเหล่านี้ เกิดจากความไม่พอใจที่เงินบำนาญของอาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัยจะถูกปรับลดลง ตลอดจนความไม่เท่าเทียมกันระหว่างค่าจ้างของบุคลากร ซึ่งเขาอ้างข้อมูลว่า บุคลากรเพศหญิงได้ค่าจ้างเฉลี่ยน้อยกว่าบุคลากรเพศชายถึงร้อยละ 15 และค่าจ้างบุคลากรโดยรวมนั้นลดลงกว่าร้อยละ 20 ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา

 

“เราต้องการให้ปรับค่าจ้างให้ตามทันกับอัตราเงินเฟ้อ และการชดเชยความเสียหายกับค่าจ้างที่สูญเสียไปตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา” เขาระบุ

 

University and College Union

แอนดี้ วิลเลียมส์ เจ้าหน้าที่ด้านสื่อและการสื่อสารของ UCU ประจำมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์

 

วิลเลียมส์ยังบอกว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรมีจำนวนนักศึกษามากขึ้น แต่กลับไม่สามารถจ้างอาจารย์ที่มีคุณสมบัติสำหรับการสอนหรือการทำวิจัยได้มากเพียงพอ รวมถึงยังมีการจ้างงานด้วยสัญญาจ้างที่ไม่เหมาะสม ไม่มั่นคง และไม่เปิดโอกาสให้ลูกจ้างได้วางแผนอนาคตให้แก่ตนเองและครอบครัว นอกจากนี้การมีบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ยังส่งผลให้บุคลากรที่มีอยู่ต้องทำงานเกินกว่าที่ค่าจ้างที่ได้รับเป็นอย่างมาก

 

“เราได้คุยกับบรรดาอาจารย์และพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่มีใครที่ไม่รู้ว่าเพื่อนร่วมงานของเราบางคนได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิต มีบางคนต้องออกจากวงการอุดมศึกษาไปอย่างถาวร เพราะการทำงานภายใต้ภาวะแบบนี้ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ เราต้องการบุคลากรและเพื่อนร่วมงานมากกว่านี้”

 

ทั้งนี้ จาก 60 มหาวิทยาลัยที่ร่วมในมาตรการเรียกร้องดังกล่าว มี 42 มหาวิทยาลัยที่เรียกร้องทั้งเรื่องเงินบำเหน็จบำนาญ ค่าจ้าง และเงื่อนไขในการทำงาน อีก 14 มหาวิทยาลัยเรียกร้องเฉพาะเรื่องค่าจ้างและเงื่อนไขในการทำงาน และ 4 มหาวิทยาลัยเรียกร้องเฉพาะเรื่องเงินบำเหน็จบำนาญ

 

ฝั่งนายจ้างระบุ “เราพยายามถึงที่สุดแล้ว”

 

ท่ามกลางเหตุผลของฝั่งลูกจ้าง อีกด้านหนึ่ง สมาคมผู้ว่าจ้างแห่งวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย (University and Colleges Employers’ Association หรือ UCEA) และสมาคม Universities UK (UUK) ซึ่งก็คือฝั่งนายจ้าง ได้ออกจดหมายเปิดผนึกที่มีใจความสำคัญส่วนหนึ่งว่า บรรดานายจ้างเคารพในสิทธิของสมาชิก UCU ที่จะแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่สำคัญเหล่านี้ และตระหนักดีว่า ผลโหวตสนับสนุนมาตรการเรียกร้องอย่างการหยุดงานประท้วง หรือการทำงานเพียงตามหน้าที่นั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากขาดความกังวลหรือจุดยืนที่หนักแน่น อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวอ้างของ UCU ที่ว่า บรรดาสมาชิกถูกบังคับให้ต้องใช้มาตรการนี้

University and College Union

จดหมายเปิดผนึกโดย UCEA และ UUK จาก www.universitiesuk.ac.uk 

 

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ยังแสดงความเสียใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับนักศึกษาจากการสูญเสียเวลาเรียน โดยย้ำว่า สถาบันอุดมศึกษาจะทำทุกวิถีทางที่จะลดผลกระทบต่อนักศึกษาจากการหยุดงานประท้วงในครั้งนี้ 

 

เนื้อความจดหมายยังระบุว่า บรรดานายจ้างได้ใช้ความพยายามอย่างหนักตลอด 18 เดือนที่ผ่านมา ในการหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับปัญหานี้ เช่น การปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก หรือการเพิ่มสัดส่วนเงินสมทบฝั่งนายจ้าง จากร้อยละ 18 เป็นร้อยละ 21.1 พวกเขายังยืนยันด้วยว่า กองทุนบำเหน็จบำนาญของสถาบันอุดมศึกษานี้เป็นหนึ่งในกองทุนที่ดีที่สุดในสหราชอาณาจักร และให้สิทธิประโยชน์หลังการเกษียณอายุมากถึงเกือบ 3 เท่าของค่าเฉลี่ยสิทธิประโยชน์จากกองทุนบำเหน็จบำนาญภาคเอกชนของทั้งประเทศ สำหรับปัญหาค่าจ้าง UCEA ยังได้แนะนำสถาบันอุดมศึกษาให้ปรับเพิ่มค่าจ้างให้บุคลากรทันทีร้อยละ 1.8-3.65 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยไม่ต้องรอวงรอบการปรับค่าจ้าง ซึ่งอาจใช้เวลาอีกหลายเดือน ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักร ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และพวกเขายังหวังว่า จะได้หารือกับ UCU เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นธรรมและยอมรับได้กับทุกฝ่าย

 

จับปฏิกิริยานักศึกษา ‘เห็นด้วย-เห็นต่าง’

 

University and College Union

การรณรงค์เรียกร้องสิทธิของบุคลากรที่มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ระหว่างการหยุดงานประท้วง

 

ที่มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ในแคว้นเวลส์ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 60 มหาวิทยาลัยที่ร่วมในการหยุดงานประท้วงของ UCU ตลอดสัปดาห์ก่อนหน้านี้ นักศึกษาพากันสอบถามข้อมูลว่า จะมีการยกเลิกคาบเรียนหรือไม่ โดยมีทั้งคณาจารย์กลุ่มที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่า จะเข้าร่วมการหยุดงานประท้วง และกลุ่มที่ยังคงยืนยันว่า จะทำการสอนต่อไปตามปกติ แต่คณาจารย์บางส่วนก็พยายามหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยการย้ายคาบสอนหรือยกเลิกเฉพาะคาบเรียนที่ไม่ใช่คาบบังคับ 

 

THE STANDARD พูดคุยกับนักศึกษาปริญญาเอก สาขาสังคมวิทยา รายหนึ่งในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ แม้เธอจะมาร่วมเดินขบวนสนับสนุนการนัดหยุดงานในครั้งนี้ แต่เธอก็ยอมรับว่า นี่เป็นสถานการณ์ที่ซับซ้อน และมีหลายแง่มุมที่ต้องพิจารณา ทั้งผลกระทบที่เกิดกับนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาต่างชาติจากนอกยุโรปที่เสียค่าเล่าเรียนสูงกว่านักศึกษาจากในโซนยุโรปมาก แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง การมองหาอนาคตการทำงานที่ดีก็เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งเธอเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรรับฟังปัญหาของบุคลากรและผู้คนควรมีสิทธิในการเรียกร้องสิทธิของตนเอง เธอยังสะท้อนถึงปัญหาของกลุ่มนักศึกษาปริญญาเอก ที่ต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้สอนและเป็นผู้เรียนในเวลาเดียวกัน

 

“ถ้าพวกเขาไม่ได้รับค่าจ้างที่ดีพอ พวกเขาจะเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร และพวกเขาจัดการกับภาระงานของตัวเองได้อย่างไร ทั้งการสอน การเตรียมการสอน และการเขียนวิทยานิพนธ์” เธอตั้งคำถาม

 

แต่ก็ยังมีนักศึกษาอีกส่วนหนึ่ง ที่แม้ว่าจะเข้าใจเหตุผลของการนัดหยุดงานประท้วงครั้งนี้ แต่ก็ยังแสดงความกังวล เพราะพวกเขาจ่ายค่าเล่าเรียนในอัตราที่ไม่น้อย แต่กลับต้องสูญเสียคาบเรียนไปแบบที่อาจไม่มีการจัดคาบสอนชดเชยให้

 

แอนดี้ คลาร์ก นักศึกษาปริญญาโท สาขาวารสารศาสตร์เชิงข้อมูล ชาวสหราชอาณาจักร บอกกับ THE STANDARD ว่า สำหรับนักศึกษาปริญญาโท ทุกคาบเรียน และทุกนาทีในการเรียนมีความสำคัญมาก ซึ่งตัวเขาเองถือว่าโชคดีที่ถูกยกเลิกคาบสอนจากการนัดหยุดงานประท้วงเพียง 1 วัน แต่เพื่อนของเขาอาจจะถูกยกเลิกคาบสอนมากถึง 8-10 วัน ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนให้กับการเรียนการสอน แม้เขาจะเข้าใจว่า จุดประสงค์ของการเรียกร้องครั้งนี้มาจากอะไร และเข้าใจว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดมานาน 4-5 ปีแล้ว และยังคงเกิดขึ้นอยู่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี

 

University and College Union

แอนดี้ คลาร์ก นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์

 

“บุคลากรก็คงอยากแสดงออกและให้เสียงของเขาถูกรับฟัง แต่ในอีกแง่หนึ่ง พวกเขาไม่ใช่กลุ่มที่ได้รับเงินค่าจ้างต่ำที่สุดในสังคม และพวกเขาก็ได้เงินเดือนค่อนข้างสูง และมหาวิทยาลัยก็เป็นสถานที่ที่ผู้คนต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาเรียน ซึ่งรวมถึงผมด้วย ดังนั้น การหยุดงานประท้วงในครั้งนี้จึงไม่ได้กระทบถึงแค่นายจ้างหรืออธิการบดี แต่ยังกระทบถึงนักศึกษาผู้จ่ายเงินมาเรียน และเมื่อภาคเรียนนี้กำลังจะจบในเร็วๆ นี้ นักศึกษาจะขาดเรียนในคาบเรียนจำนวนมากที่พวกเขาจ่ายเงินมาเรียน” เขากล่าว

 

ขณะที่ UCU เองก็ร้องขอการสนับสนุนจากนักศึกษา โดยบอกว่า ภาวะการทำงานที่ย่ำแย่ก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน และคณาจารย์ส่วนหนึ่งที่ร่วมหยุดงานประท้วงก็ยืนยันว่า เข้าใจดีถึงค่าเล่าเรียนที่นักศึกษาต้องจ่าย แต่หากนักศึกษารู้สึกไม่พอใจกับเรื่องที่เกิดและการถูกยกเลิกคาบเรียน ขอให้ส่งข้อร้องเรียนไปยังผู้บริหาร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

 

ทั้งนี้ ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของสหราชอาณาจักรสำหรับนักศึกษาต่างชาติในปี 2019-2020 (จากการสำรวจโดย The Reddin Survey ในเว็บไซต์ thecompleteuniversityguide.co.uk/) อาจสูงตั้งแต่ราว 5,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 190,000 บาท ไปจนถึง 60,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 2,280,000 บาท

 

นับจนถึงขณะนี้ (27 พฤศจิกายน 2562) ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในประเด็นค่าจ้างบุคลากร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญ แม้ฝั่งนายจ้างหรือ UCEA รับปากว่า จะกำชับไปยังมหาวิทยาลัยให้แก้ปัญหาอื่น เช่น ปัญหาภาระงานหนักเกินไป หรือปัญหาความเท่าเทียมทางรายได้ระหว่างเพศแล้วก็ตาม

 

ภาคผนวก: กฎหมายว่าอย่างไรกับเรื่องนี้

ตามกฎหมายของสหราชอาณาจักร หากสหภาพแรงงานต้องการจะให้มีการใช้ ‘มาตรการเรียกร้องของแรงงาน (Industrial Action)’ เช่น การนัดหยุดงานประท้วง หรือการให้สมาชิกทำงานเพียงไม่เกินหน้าที่ที่มี (แบบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้) สหภาพแรงงานต้องจัดการลงคะแนนเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ภายใต้การกำกับดูแลของกรรมการที่เป็นอิสระ เพื่อให้สมาชิกโหวตว่า จะมีการใช้มาตรการนี้หรือไม่ สหภาพแรงงานต้องแจ้งนายจ้างด้วยว่า จะมีการลงคะแนนดังกล่าวเกิดขึ้น รวมถึงแจ้งผลการลงคะแนนให้นายจ้างทราบ

 

นายจ้างจะไม่มีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำตามมาตรการเรียกร้องของแรงงานดังกล่าว หากการลงคะแนนเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย, นายจ้างได้รับแจ้งถึงการใช้มาตรการเรียกร้องดังกล่าวล่วงหน้าก่อนวันเริ่มมาตรการจริงอย่างน้อย 7 วัน และการใช้มาตรการนี้เกิดจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อาทิ ข้อพิพาทเรื่องเงื่อนไขการทำงาน 

 

หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างเนื่องจากเข้าร่วมมาตรการเรียกร้องดังกล่าวภายใน 12 สัปดาห์นับแต่วันเริ่มมาตรการ ลูกจ้างสามารถยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานได้ว่าการเลิกจ้างดังกล่าวไม่เป็นธรรม

 

แต่หากขั้นตอนการใช้มาตรการเรียกร้องของสหภาพฯ นั้นไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น สหภาพฯ จัดการลงคะแนนไม่ถูกต้อง, สหภาพฯ ไม่ได้แจ้งนายจ้างภายในเวลาที่กำหนด หรือสหภาพฯ สนับสนุนให้ลูกจ้างใช้มาตรการนี้เพื่อกดดันองค์กรอื่นที่ไม่ใช่องค์กรตัวเอง กรณีนี้ลูกจ้างสามารถถูกเลิกจ้างได้ หรือกรณีที่ข้อพิพาทได้ข้อยุติแล้ว และสหภาพฯ ไม่ได้ขอให้ลูกจ้างใช้มาตรการเรียกร้อง แต่ลูกจ้างกลับหยุดงานหรือใช้มาตรการเรียกร้องเสียเอง กรณีนี้ลูกจ้างก็ถูกเลิกจ้างได้เช่นกัน

 

และเมื่อถูกเลิกจ้างจาก 2 กรณีดังกล่าวข้างต้น ลูกจ้างไม่มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลว่าถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

 

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกเลิกจ้าง แต่นายจ้างอาจไม่จ่ายค่าจ้างในระหว่างเวลาที่ลูกจ้างใช้มาตรการเรียกร้องดังกล่าว หรืออาจฟ้องร้องเรื่องการทำผิดสัญญาจ้างได้

 

แต่ทั้งหมดนี้ สหภาพฯ ไม่มีสิทธิบังคับให้สมาชิกต้องทำตามมาตรการเรียกร้องแต่อย่างใด สมาชิกมีสิทธิพิจารณาและตัดสินใจทำตามหรือไม่ด้วยตนเอง แม้ตามกฎหมายจะให้ตัวแทนสหภาพฯ หรือตัวแทนแรงงานไปยืนประท้วงหน้าสถานที่ทำงานของตัวเอง และร้องขอให้ลูกจ้างทำตามมาตรการเรียกร้องได้ แต่ก็ไม่มีสิทธิขัดขวาง หากลูกจ้างปฏิเสธและยังจะกลับเข้าไปทำงานตามปกติ

 

ส่วนลูกจ้างที่เลือกจะหยุดงานประท้วง ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้งนายจ้างล่วงหน้าว่า ตนเองจะหยุดงานประท้วง และสหภาพฯ ก็ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องส่งรายชื่อลูกจ้างที่จะเข้าร่วมมาตรการเรียกร้องดังกล่าวให้กับนายจ้างด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X