เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา มีการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษหลังจากทำหน้าที่มาอย่างยาวนานกว่า 2 ปี โดยการปิดประชุมครั้งนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน จนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2019 อันเป็นวันที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเสด็จพระราชดำเนินมายังรัฐสภาเพื่อทรงมีพระราชดำรัสเปิดการประชุม โดยในช่วงเวลาที่ปิดประชุมดังกล่าวจะไม่มีการประชุมสภา สมาชิกสภาจะไม่สามารถอภิปรายหรือแสดงข้อคิดเห็น หรือเสนอให้มีการลงมติใดๆ ได้เลย
แม้ว่าการปิดประชุมสภาของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) นั้นจะเป็นอำนาจที่ฝ่ายบริหารสามารถทำได้ตามกฎหมายของอังกฤษ แต่ก็ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากว่าเป็นการกระทำที่มีนัยแอบแฝงทางการเมืองที่จะไม่ให้สภาผู้แทนราษฎรได้เข้ามามีบทบาทในเรื่อง Brexit ทั้งยังเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย และเป็นการลดทอนคุณค่าของระบบรัฐสภาอังกฤษ
แต่เขาได้ตอบโต้ว่า นักการเมืองและรัฐสภานั้นเองที่ล้มเหลวในการทำตามเจตจำนงของประชาชนในการถอนตัวออกจาก EU ตามที่ได้มีการลงประชามติไปแล้ว และเขามองว่าสิ่งนั้นคือความล้มเหลวของประชาธิปไตยอังกฤษ
เรื่องการปิดประชุมสภานี้จึงเป็นเรื่องที่มีความเห็นต่างและขัดแย้งกันมากเรื่องหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา และได้ทำให้เกิดภาพที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนอย่างในพิธีปิดสมัยประชุมเมื่อคืนวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในห้องประชุมสภา เมื่อเจ้าพนักงานในตำแหน่งที่เรียกว่า Black Rod ได้อัญเชิญคทาเข้ามาในฐานะผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเพื่อแจ้งการปิดประชุมสภา สมาชิกสภาบางส่วนได้โห่ร้องและส่งเสียงดังขัดขวางการทำหน้าที่ของ Black Rod รวมถึงสมาชิกบางส่วนยืนอยู่รอบบัลลังก์ประธานสภาพร้อมกับชูป้ายที่มีถ้อยคำว่า ‘Silenced’ (เงียบ) เพื่อเป็นการประท้วงการปิดประชุมที่ถือเป็นการปิดโอกาสไม่ให้สมาชิกสภาได้อภิปรายใดๆ
เมื่อผู้แทนพระองค์ได้แจ้งกระแสพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่ จอห์น เบอร์โคว (John Bercow) ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะลุกขึ้นจากเก้าอี้และออกจากห้องประชุม อันจะเป็นการปิดประชุมสภาอย่างเป็นทางการ เขาได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า การปิดประชุมครั้งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ปกติและไม่เป็นไปตามบรรทัดฐานของสภา เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารที่ขัดกับความรู้สึกของสมาชิกส่วนใหญ่ในที่ประชุมนี้และประชาชนจำนวนมากภายนอกสภา และเมื่อเขาเดินออกไปแล้ว สมาชิกสภาบางส่วนก็ยังคงส่งเสียงดังและร้องเพลงต่างๆ ในห้องประชุมต่อไป
ความวุ่นวายในสภาที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากในสภาอังกฤษ ซึ่งเคร่งครัดกับการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาและเน้นความเรียบร้อยในการประชุม สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการแสดงออกทางการเมืองของสมาชิกในการคัดค้านการใช้อำนาจปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรของนายกรัฐมนตรีจอห์นสัน
นอกจากการคัดค้านในสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นเรื่องทางการเมืองแล้ว การปิดประชุมสภาดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบกฎหมายอังกฤษด้วย กล่าวคือมีการฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลว่าการใช้อำนาจปิดประชุมสภาของนายกรัฐมนตรีจอห์นสันนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อหลักการทางประชาธิปไตย ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการปิดประชุมอย่างเป็นทางการ โดยมีการฟ้องร้องต่อทั้งศาลที่อังกฤษและศาลที่สกอตแลนด์
ในการยื่นฟ้องต่อศาลอุทธรณ์ของอังกฤษ (High Court) นั้น ผู้ฟ้องร้องได้กล่าวหาว่า การใช้อำนาจเพื่อปิดประชุมสภาของนายกรัฐมนตรีจอห์นสันนั้นเป็นการขัดต่อหลักการทางรัฐธรรมนูญของอังกฤษและเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การใช้อำนาจนี้ย่อมเป็นการทำให้องค์กรทางการเมืองซึ่งมีอำนาจสูงสุดเช่นรัฐสภาไม่อาจทำหน้าที่ในช่วงเวลาสำคัญและเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตได้ ดังนั้น จึงขอให้ศาลได้พิจารณาและประกาศว่า คำแนะนำของนายกรัฐมนตรีที่ให้สมเด็จพระราชินีนาถปิดประชุมสภานั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ศาลได้วินิจฉัยว่า การที่ศาลจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาก่อนว่าเรื่องนั้นมีเนื้อหาสาระในทางใด เมื่อการปิดประชุมสภานั้นเป็นการกระทำทางการเมืองโดยแท้ และเป็นอำนาจที่รัฐบาลสามารถตัดสินใจและดำเนินการได้ นายกรัฐมนตรีจึงมีอำนาจดำเนินการดังกล่าว และศาลจะไม่ก้าวล่วงเข้าไปใช้มาตรฐานทางกฎหมายในการตัดสินเรื่องนั้นๆ
จากคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงเป็นการยืนยันว่า แม้จะมีข้อวิจารณ์และเรียกร้องให้การกระทำของนายกรัฐมนตรีจอห์นสันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลอังกฤษก็ยังคงยึดมั่นในหลักการที่ว่า ศาลจะไม่ตรวจสอบการกระทำทางการเมือง โดยถือเป็นเรื่องระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในการตรวจสอบถ่วงดุลกัน
อย่างไรก็ตาม หลักการเดียวกันนี้กลับมีการตีความทางกฎหมายที่แตกต่างกันไปในศาลของสกอตแลนด์ เมื่อศาลสูงสุดในทางแพ่งของสกอตแลนด์ (the Court of Session) ได้มีคำพิพากษาในที่ 11 กันยายนที่ผ่านมาว่า คดีที่มีผู้ร้องว่าการใช้อำนาจโดยแท้ของฝ่ายบริหาร (Prerogative Power) ในการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบและขัดต่อหลักการประชาธิปไตย อันเป็นการยื่นฟ้องในลักษณะเดียวกันกับศาลที่อังกฤษ
ศาลสูงสุดของสกอตแลนด์ได้วินิจฉัยว่า แม้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารจะมีอำนาจกระทำการดังกล่าวได้ แต่การดำเนินการในกรณีนี้นั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและเป็นความพยายามในการปิดกั้นมิให้สภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ (improper purpose of stymieing Parliament) อันจะมีผลให้การถวายคำแนะนำแด่สมเด็จพระราชินีนาถและการปิดสภานั้นเป็นการอันไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือว่าไม่มีผลใดๆ ในทางกฎหมายเลย
จากคำวินิจฉัยดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นการที่ศาลหรือองค์กรตุลาการได้เข้ามาก้าวล่วงและวินิจฉัยเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญของอังกฤษได้ให้ความเห็นไว้ว่า การวินิจฉัยดังกล่าวจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งและจะส่งผลต่อระบบการเมืองและกฎหมายของอังกฤษในระยะยาว เนื่องจากจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวบรรทัดฐานและหลักการทางรัฐธรรมนูญที่ว่า “การกระทำทางการเมืองที่เป็นอำนาจโดยเฉพาะของฝ่ายบริหารนั้นไม่อาจถูกตรวจสอบได้โดยฝ่ายศาลหรือตุลาการ”
ดังนั้น ความเห็นในเรื่องดังกล่าวจึงเกิดแตกต่างเป็นสองแนวทาง ทั้งจากแนวทางของศาลอังกฤษและศาลสกอตแลนด์ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการเห็นต่างระหว่างลอนดอนและเอดินบะระ (เมืองหลวงของสกอตแลนด์)
ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ความเห็นทั้งสองเรื่องจะมีการฎีกาขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแห่งสหราชอาณาจักร (the Supreme Court) และจะมีการพิจารณาพิพากษาในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในคดีนี้อย่างไร ซึ่งจะส่งผลกระทบสำคัญอย่างยิ่งต่อหลักการทางรัฐธรรมนูญที่ถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องยาวนานของอังกฤษ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
ข้อมูลบางส่วนจาก
- www.bbc.com/news/uk-politics-48936711
- edition.cnn.com/uk/live-news/boris-johnson-scottish-court-ruling-intl/index.html
- www.theguardian.com/politics/2019/sep/10/brexit-chants-of-shame-as-suspension-of-parliament-descends-into-chaos
- www.bbc.com/news/uk-scotland-49650729
- www.bbc.com/news/uk-scotland-49661855
- www.bbc.com/news/uk-49604584
- www.judiciary.uk/wp-content/uploads/2019/09/Miller-No-FINAL-1.pdf