×

GDP อังกฤษปี 2021 ขยายตัว 7.5% เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 81 ปี หรือตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

14.02.2022
  • LOADING...
UK

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำปี 2021 ของสหราชอาณาจักร ขยายตัว 7.5% ดีกว่าตัวเลข GDP ในปี 2020 ที่หดตัว 9.4% และนับเป็นการขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1941 หรือในรอบ 81 ปี

 

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง เป็นผลมาจากการช่วยเหลือของรัฐบาล ด้วยงบประมาณหลายพันล้านปอนด์ในการสนับสนุนแรงงานและบริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด รวมถึงการที่อังกฤษเปิดเศรษฐกิจเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา และอาจเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตมากที่สุดของกลุ่มประเทศ G7 ในปี 2021

 

อย่างไรก็ตาม ONS กล่าวว่า เศรษฐกิจของอังกฤษยังไม่ได้กลับมาอยู่ในช่วงที่ก่อนเกิดการระบาดในทุกไตรมาส โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมที่ GDP หดตัว 0.2% เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และการใช้มาตรการป้องกันการระบาดที่ทำให้ตัวเลขการบริโภคภายในประเทศลดลง รวมถึงราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น

 

ONS ให้รายละเอียดเพิ่มว่า โดยปกติ GDP ในไตรมาสที่ 4 มักจะขยายตัว 1% ซึ่งไตรมาส 4 ปี 2021 ก็เป็นไปตามคาดการณ์ แต่ก็ยังต่ำกว่า GDP ช่วงไตรมาส 4 ปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดอยู่ราว 0.4% 

 

อย่างไรก็ตาม เฉพาะในเดือนธันวาคม GDP หดตัว 0.2% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดที่มีการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดการเตือนและดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอย การดำเนินธุรกิจ และกระทบต่อ GDP 

 

ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของ GDP ในไตรมาส 4 ปี 2021 มาจากกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและรักษาสุขภาพ และกิจกรรมทางสังคม โดย ONS ได้รับรายงานว่าประชาชนได้เข้ารับการทดสอบการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นอย่างมาก ต่อเนื่องมาถึงจำนวนผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวัง และแผนการฉีดวัคซีนที่เพิ่มจำนวนขึ้น 

 

เอ็มมา ม็อกฟอร์ด ผู้จัดการกองทุนของกองทุน Premier Miton Monthly Income Fund กล่าวว่า การ ‘Protect Christmas’ โดยที่ผู้คนจำนวนมากพร้อมใจกันทำงานจากที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการพบปะสังสรรค์ในเทศกาลคริสต์มาส เนื่องจากเกิดการกลายพันธ์ุของโควิด ส่งผลให้ GDP ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยในเดือนธันวาคม ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับสุขภาพของเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 7.2% ในเดือนเมษายน และได้กำหนดขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบ Back-to-back เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2004 โดยปรับอัตราดอกเบี้ยหลักจาก 0.1% เป็น 0.5% โดยคาดว่าจะเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ในปี 2022 เหลือขยายตัว 3.75% จากเดิมที่ขยายตัว 5%

 

ปัญหาค่าแรงต่ำยังกดดันต่อเนื่อง 

แอนนาเบลล์ วิลเลียมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินส่วนบุคคลจากบริษัท Nutmeg ด้านการจัดการการลงทุนออนไลน์ของอังกฤษ กล่าวว่า ค่าครองชีพกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้คนหลายล้านคนในสหราชอาณาจักร และหากยังคงดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานาน ก็จะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

 

ฟรานเซส โอเกรดี เลขาธิการแห่งสภาสหภาพแรงงานสหราชอาณาจักร (TUC) กล่าวว่า ค่าแรงที่แท้จริงลดลง เนื่องจากราคาพลังงานในครัวเรือนและค่าใช้จ่ายของร้านค้ารายสัปดาห์เพิ่มสูงขึ้น โดยมาตรฐานการครองชีพอยู่ภายใต้แรงกดดันที่ยาวนานที่สุดเป็นเวลา 3 ทศวรรษ ท่ามกลางวิกฤตค่าครองชีพและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ซึ่งแรงกดดันนี้กำลังส่งผลกระทบต่อ GDP ของสหราชอาณาจักร รวมถึงทำให้การฟื้นตัวในยุคหลังโควิดอ่อนแอลง

 

ซามูแอล ทอมบ์ส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสหราชอาณาจักรที่บริษัทที่ปรึกษา Pantheon Macroeconomics กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรยังคงซบเซา หลังจากการเริ่มต้นอย่างแข็งแกร่งในปี 2021 แม้จะลดลงในช่วง 6 เดือนสุดท้าย ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนแรงงานและวัสดุอย่างต่อเนื่อง และปริมาณการส่งออกที่ลดลงหลังจาก Brexit

 

การลดลงของ GDP ที่เกิดจากโอมิครอนในเดือนธันวาคม 2021 ยังหมายความว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรยังคงมีขนาดเล็กกว่าก่อนเกิดโรคระบาด ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐอเมริกา จีน และยูโรโซน

 

ONS รายงานตัวเลขการส่งออกสินค้าในปี 2021 ลดลง 10.5% เมื่อเทียบกับปี 2018 หรือมีมูลค่าลดลง 36.8 พันล้านปอนด์ ส่วนการนำเข้าทั้งหมดในปี 2021 ลดลง 23.4 พันล้านปอนด์ เมื่อเทียบกับปี 2018 หรือลดลง 4.8%

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X