×

อุ่นเครื่องโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งสหราชอาณาจักร เมื่อเสียงโหวตเลือก ‘คน’ อาจแฝงมติมหาชนเรื่อง Brexit

09.12.2019
  • LOADING...
UK election

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • การเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรในวันที่ 12 ธันวาคม ถูกสื่อบางสำนักยกให้เป็น ‘The Brexit Election’ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่กำหนดอนาคตของสหราชอาณาจักรในการแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU)
  • โพลช่วงโค้งสุดท้ายจากหลายสำนักบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟของ บอริส จอห์นสัน มีคะแนนนำอยู่ที่ราว 41-46% รองลงมาคือพรรคเลเบอร์ ซึ่งมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 เดือนหลังสุด ตามด้วยพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ที่ราว 11-14% 

ศึกเลือกตั้งสหราชอาณาจักรรอบใหม่กำลังจะมาถึงในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ นับเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก่อนกำหนดถึง 2 ปี จากสถานการณ์ที่รัฐบาลของ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ไม่สามารถผลักดันข้อตกลง Brexit ให้สำเร็จในสภาได้ จนต้องยุบสภาไปเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ดังนั้นนอกจากนโยบายในเรื่องต่างๆ ที่ทุกพรรคการเมืองนำเสนอต่อประชาชนเพื่อการตัดสินใจแล้ว การเลือกตั้งรอบใหม่จึงเป็นความหวังของทุกพรรคการเมืองที่จะผลักดันนโยบาย Brexit ของตัวเองด้วย 

 

THE STANDARD ชวนมาทำความรู้จักกับบรรดาพรรคการเมืองในสหราชอาณาจักรและนโยบายสำคัญๆ ก่อนที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 46 ล้านคนจะได้ออกไปกำหนดอนาคตของพวกเขาในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้

 

 UK election

 

การเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรนั้นเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญ (House of Commons) หรือสภาล่าง หรืออาจเปรียบได้กับสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย ซึ่งสภาสามัญของสหราชอาณาจักรมีสมาชิกในปัจจุบันทั้งสิ้น 650 คน เป็นสมาชิกประเภทเดียวกันทั้งหมด คือมาจากระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (First Past The Post – FPTP) ซึ่งหมายถึงในเขตเลือกตั้งหนึ่งมีผู้แทนได้หนึ่งคน ผู้สมัครซึ่งได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ตามรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งในปัจจุบัน จำนวนเขตเลือกตั้งในอังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ สกอตแลนด์ และเวลส์ มีจำนวนทั้งสิ้น 533, 18, 59 และ 40 เขตตามลำดับ

 

ในวันเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิจะสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ระหว่างเวลา 07.00-22.00 น. นอกจากนี้ยังมีระบบการลงคะแนนทางไปรษณีย์และการลงคะแนนโดยใช้ตัวแทนด้วย การนับคะแนนจะเริ่มต้นทันทีที่เป็นไปได้หลังปิดหีบเลือกตั้งไม่เกิน 4 ชั่วโมง และคาดว่าจะทราบผลการเลือกตั้งในวันรุ่งขึ้น (13 ธันวาคม) จากนั้นหัวหน้าพรรคที่ได้ที่นั่งสูงสุดจะเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการจัดตั้งรัฐบาล และกลับมาที่บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ซึ่งเป็นทำเนียบนายกรัฐมนตรี

 

การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงชิงชัยทั้งสิ้น 70 พรรค แต่หากพิจารณาเฉพาะพรรคใหญ่ที่มีความสำคัญ แต่ละพรรคมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น

 

UK election

 

พรรคคอนเซอร์​เวทีฟ นำโดย บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่ได้เสียงไปมากที่สุด 318 เสียงในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าในยุค เทเรซา เมย์ แต่ก็ยังไม่ใช่เสียงข้างมากในสภา จนต้องนำเสียงจากพรรค DUP ที่ได้ 10 ที่นั่งมาสนับสนุนในการตั้งรัฐบาล มาครั้งนี้คอนเซอร์เวทีฟประกาศชัดเจนว่าหากพรรคของเขาได้เสียงข้างมากในสภา เขาจะทำให้ดีล Brexit ผ่านสภาให้ได้ และทำให้สหราชอาณาจักรพ้นจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ให้ได้ในวันที่ 31 มกราคม 2020 นอกจากนี้ยังจะให้งบประมาณเพิ่มเติมกับระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ซึ่งก็เป็นระบบหลักประกันสุขภาพที่ให้บริการแก่ประชาชนอย่างเสมอภาคและฟรีเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับงบประมาณจากภาษีของประชาชน ตลอดจนเพิ่มจำนวนพยาบาลกว่า 50,000 คน ส่วนด้านสวัสดิภาพของประชาชนจะมีการเพิ่มจำนวนตำรวจกว่า 20,000 นาย และมีบทลงโทษทางกฎหมายแก่อาชญากรที่รุนแรงมากขึ้น

 

นอกจากนี้คอนเซอร์เวทีฟยังจะเพิ่มการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์​ การศึกษา การฝึกอาชีพ โครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้การควบคุมปริมาณหนี้เอาไว้ และยังจะลงทุนด้านพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ตามเป้าหมายภายในปี 2050 พวกเขายังสัญญาว่าจะไม่เพิ่มอัตราภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินสมทบเข้าระบบหลักประกันแห่งชาติ หรือ National Insurance อีกด้วย

 

UK election

 

ขณะที่พรรคใหญ่อีกพรรคที่แย่งชิงความเป็นรัฐบาลกับคอนเซอร์เวทีฟมาอย่างยาวนานอย่าง พรรคเลเบอร์ เลือกตั้งครั้งที่แล้วได้ไป 262 ที่นั่ง ครั้งนี้ เจเรมี คอร์​บิน หัวหน้าพรรค ประกาศนโยบายเรื่อง Brexit ว่าพร้อมจะให้เสียงโหวตของมหาชนกำหนดอนาคตของสหราชอาณาจักรในสหภาพยุโรปอีกครั้ง โดยภายใน 3 เดือนหลังเข้ารับหน้าที่ พวกเขาจะเจรจาหาดีลใหม่ที่ดีกว่าภายใต้หลักการ เช่น การหลีกเลี่ยงปัญหาพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสาธารณรัฐไอร์แลนด์ การวางตัวอย่างใกล้ชิดกับระบบตลาดเดียวของสหภาพยุโรป เป็นต้น และภายใน 6 เดือนหลังเข้ารับหน้าที่จะมีการทำประชามติรอบสองเพื่อมอบการตัดสินใจแก่ประชาชนอีกครั้งว่าจะรับดีลเพื่อออกจากสหภาพยุโรป หรือจะยังคง ‘อยู่ต่อ’ ใน EU ต่อไป 

 

ส่วนนโยบายด้านระบบสุขภาพอย่าง NHS เลเบอร์ก็บอกว่าจะ ‘ซ่อมแซม’ ส่วนที่ยังมีปัญหา ยุติการแปรรูป NHS และเพิ่มงบประมาณให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ 4.3% ต่อปี แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยากจน เช่น การประกันค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ 10 ปอนด์ (หรือราว 390 บาท) ต่อชั่วโมง สำหรับคนทำงานที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ลดชั่วโมงการทำงานเหลือ 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยไม่ลดค่าจ้างภายใน 10 ปี รวมถึงสร้างบ้านเช่าราคาถูกของการเคหะมวลชน (Public Housing) ให้แก่ประชาชนเพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้พวกเขายังประกาศพร้อมตั้งกองทุน National Transformation Fund มูลค่า 400 ล้านปอนด์ โดยในจำนวนนี้ 250 ล้านปอนด์จะลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนและคาร์บอนต่ำ การคมนาคม การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนอีก 150 ล้านปอนด์จะใช้ไปกับการเปลี่ยนผ่านสังคม เช่น ยกระดับโรงเรียน โรงพยาบาล สถานดูแลคนชรา 

 

ส่วนพรรคที่ได้อันดับ 3 จากการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าด้วยจำนวนเก้าอี้ 35 ที่นั่งอย่าง พรรคสกอตติช เนชันแนล (SNP) นำโดย นิโคลา สเตอร์เจียน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองจากสกอตแลนด์ มาภายใต้สโลแกน ‘Stronger for Scotland’ ประกาศสนับสนุนการทำประชามติรอบสองในประเด็น Brexit และต่อต้านการออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง (No-Deal Brexit) โดยจะหนุนให้ยกเลิก Brexit หากสถานการณ์เดินไปสู่จุดดังกล่าว และจะเสนอทำประชามติเพื่อแยกสกอตแลนด์ออกมาเป็นอีกประเทศที่มีเอกราชเป็นของตนเองอีกครั้ง หลังการทำประชามติในเรื่องดังกล่าวเมื่อปี 2014 ประชาชนผู้ออกมาใช้สิทธิกว่า 55% ลงคะแนน ‘ไม่เห็นชอบ’ ต่อการแยกเอกราชนี้ 

 

นอกจากนี้พวกเขาบอกว่าจะยุตินโยบายรัดเข็มขัด ผลักดันให้รัฐบาลลงทุนด้านเศรษฐกิจและบริการสาธารณะ ปกป้องระดับเงินบำนาญ ตลอดจนออกกฎหมายเพื่อไม่ให้รัฐบาลนำระบบ NHS ไปใช้ในการเจรจาการค้า

 

UK election

 

พรรคลิเบอรัล เดโมแครต ภายใต้การนำของ โจ สวินสัน ซึ่งเลือกตั้งครั้งที่แล้วได้ไป 12 ที่นั่ง ครั้งนี้ประกาศไม่เอา Brexit และจะนำเงินมูลค่า 5 หมื่นล้านปอนด์ที่เป็น ‘โบนัส’ จากการที่ไม่เกิด Brexit และเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะเติบโตภายใต้การเป็นสมาชิก EU ต่อไปไปใช้เพื่อบริการสาธารณะและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ในแง่ทางสังคม พรรคนี้ประกาศว่าจะเพิ่มภาษีรายได้ 1 เพนนี ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 7 พันล้านปอนด์ต่อปีในการนำไปใช้เพื่อ NHS และการดูแลสังคมในรูปแบบอื่นๆ จ้างครูเพิ่มกว่า 20,000 อัตรา และปรับฐานเงินเดือนแรกเข้าของครูให้เพิ่มมากขึ้น สร้างบ้านเช่าราคาถูกของการเคหะมวลชนกว่า 1 แสนหลังต่อปี เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างที่ทำงานแบบไม่กำหนดชั่วโมงการทำงานที่แน่นอนขึ้น 20% เพื่อทดแทนความไม่แน่นอนในชั่วโมงการทำงาน ตลอดจนให้สิทธิเรียกร้องการเป็นลูกจ้างที่มีชั่วโมงการทำงานแน่นอนหลังจากทำงานในรูปแบบนี้เกินกว่า 12 เดือน 

 

ส่วนในแง่โครงสร้างพื้นฐาน พวกเขาก็จะใช้งบประมาณลงทุนกว่า 1.3 แสนล้านปอนด์เพื่อยกระดับการคมนาคม ระบบพลังงาน สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศจะต้องมาจากพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 80% เป็นต้น

 

มาถึงพรรคที่มีบทบาทโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็น Brexit ก็คือพรรคเดโมเครติก ยูเนียนนิสต์ (DUP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาจากไอร์แลนด์เหนือที่นำโดย อาร์ลีน ฟอสเตอร์ พวกเขาพร้อมสนับสนุนข้อตกลง Brexit ที่ส่งผลดีต่อทั้งสหราชอาณาจักรและ ‘ไม่ทิ้งไอร์แลนด์เหนือไว้ข้างหลัง’ โดยจะออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งหมด ต้องไม่มีกำแพงทางการค้าระหว่างดินแดนบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ เนื่องจากพวกเขาชี้ว่าไอร์แลนด์เหนือทำการค้ากับดินแดนบริเตนใหญ่มากกว่าปริมาณการค้ากับดินแดนอื่นๆ ทั่วโลกรวมกัน 

 

ส่วนประเด็นอื่นๆ DUP บอกว่าพวกเขาจะลงทุนในด้านสาธารณสุข ยกระดับค่าครองชีพ ยุติมาตรการรัดเข็มขัด เพิ่มเงินสนับสนุนให้แก่เกษตรกร ให้งบประมาณกว่า 2.2% ของ GDP ในกิจการทหาร ส่งเสริมการขยายระบบคมนาคม และยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงดีเซลในรถบัสสาธารณะ ฯลฯ 

 

อย่างไรก็ตาม ไอร์แลนด์เหนือยังมีพรรคฝ่ายซ้ายที่ได้เก้าอี้ในการเลือกตั้งครั้งก่อนน้อยกว่าอย่าง พรรคซินน์เฟน (Sinn Féin) ที่อยากเห็นการรวมชาติกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ไม่ต้องการ Brexit และต้องการให้ไอร์แลนด์เหนือมี ‘สถานะพิเศษ’ ในสหภาพยุโรป ตลอดจนได้กลับเข้าไปเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปทันทีเมื่อการรวมชาติเกิดขึ้นด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีพรรคการเมืองอื่นๆ เช่น พรรค UKIP ที่ประกาศพร้อมจะออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง ลดจำนวนผู้อพยพ และทุ่มงบประมาณ 5,400 ล้านปอนด์เพื่อจ้างหมอและพยาบาลหลายหมื่นตำแหน่ง, พรรคกรีน ที่เน้นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมตามหลักการของพรรค ประกาศทุ่มงบ 1 แสนล้านปอนด์เพื่อดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างบ้านเคหะมวลชนที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพกว่าแสนหลัง รวมทั้งปลูกต้นไม้กว่า 700 ล้านต้นในปี 2030 หรือแบนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ก็มีนโยบายด้านอื่น เช่น การสนับสนุนประชามติรอบสองเรื่อง Brexit และหนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ต่อไปในสหภาพยุโรป หรือพรรค ​Brexit ที่ตั้งขึ้นมาโดยหลักการที่ต้องการเห็น Brexit เกิดขึ้นอย่างชัดเจนก็ยืนยันว่าจะไม่ขยายเวลา Brexit อีกต่อไปแล้ว และจะถอนตัวจากทุกหน่วยงานของ EU ด้วย รวมทั้งจะยกเลิกภาษีมรดก ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อินเทอร์เน็ต Wi-Fi และบริการสำหรับเยาวชน และพรรค Plaid Cymru พรรคการเมืองจากเวลส์ที่สนับสนุนการทำประชามติ Brexit รอบสองและหนุนให้สหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา และเน้นการลงทุนเพื่อสร้างงานและต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  

 

ท่ามกลางการหาเสียงที่เป็นไปอย่างคึกคักและบรรดานักการเมืองที่ทยอยออกโทรทัศน์เพื่อร่วมการดีเบตในนโยบายกลุ่มต่างๆ ล่าสุดผลสำรวจคะแนนนิยมในช่วงโค้งสุดท้ายที่เหลือเวลาไม่ถึง 7 วันก่อนการเลือกตั้งจากหลายสำนัก บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ซึ่งมีแนวโน้มความนิยมเพิ่มขึ้นหลัง บอริส จอห์นสัน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กำลังมีคะแนนนำอยู่ที่ราว 41-46% รองลงมาคือพรรคเลเบอร์ ซึ่งเพิ่งมีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 เดือนหลังสุด และมีคะแนนนิยมอยู่ที่ราว 31-34% ตามด้วยพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ที่ราว 11-14% และกลุ่มที่มีคะแนนนิยมรองลงไปจากนี้เป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรค SNP พรรค Brexit และพรรคกรีน

 

และถ้าถามถึงความสำคัญของการเลือกตั้งจากคนในแวดวงการเมือง ผู้สื่อข่าวก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับ สตีเฟน วิลเลียมส์ อดีตสมาชิกสภาสามัญจากพรรคลิเบอรัล เดโมแครต ในเขตบริสตอลเวสต์ ระหว่างปี 2005-2015 และอดีตรัฐมนตรีเงากระทรวงการนวัตกรรม อุดมศึกษา และทักษะ ซึ่งพรรคของเขามีจุดยืนค้าน Brexit อย่างชัดเจน เขาบอกกับเราว่า การเลือกตั้งสำคัญกับเขาทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ ‘สำคัญที่สุดในชีวิต’ ของเขา เพราะเป็นการกำหนดอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรกับภาคส่วนอื่นของยุโรป เขายังยืนยันว่า การทำประชามติรอบสองเป็นหนทางที่ดีกว่าในเรื่องนี้ และนอกจากเรื่อง Brexit แล้ว เรื่องนโยบายสาธารณสุขก็เป็นประเด็นที่มีบทบาทต่อการเลือกตั้งในทุกๆ ครั้ง

 

“ผมเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการวัดผลว่า บอริส จอห์นสัน จะได้เสียงส่วนใหญ่ในสภาฯ หรือจะเป็นพรรคเลเบอร์และพรรคเสรีนิยมอื่นๆ ที่จะใช้กลยุทธ์ในการรวมเสียงจากที่นั่งที่แตกต่างกัน เพื่อจะหยุดยั้งเขาไว้ให้ได้” วิลเลียมส์ระบุ

 

แม้ข้อมูลจากโพลหลายสำนักจะให้น้ำหนักกับการเลือกตั้งครั้งนี้ไปที่เรื่อง Brexit เช่นโพลของ YouGov ที่ระบุว่าเรื่องที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งคิดว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ประเทศกำลังเผชิญคือ Brexit หรือโพลของ Deltapoll ที่ชี้ว่า Brexit เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ความสำคัญ ไปจนถึงการที่สถานีโทรทัศน์ Sky News จัดรายการพิเศษโดยให้ชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ‘The Brexit Election’ จนถูกพรรคเลเบอร์ร้องเรียนไปยังหน่วยงานกำกับดูแลว่าอาจเป็นการเข้าข้างพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่ชูจุดขายว่าจะทำ Brexit ให้สำเร็จ ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้ต่ออนาคตของสหราชอาณาจักรในสหภาพยุโรป แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากข้อมูลของบางสำนักโพล ผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องสุขภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่อง Brexit เลย และปัญหาอาชญากรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และผู้อพยพก็ยังได้รับความสนใจอยู่เช่นกัน

 

ชัดเจนว่าพรรคคอนเซอร์เวทีฟเองต้องการเสียงส่วนใหญ่ในสภาเพื่อ ‘Get Brexit Done’ หรือ ‘ทำ Brexit ให้สำเร็จ’ แต่บทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วที่พวกเขาได้รับเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาจนต้องหาเสียงสนับสนุนจากพรรคอื่นมาช่วยตั้งรัฐบาล ตลอดจนต้องลุ้นกันหลายระลอกกับความพยายามที่จะผ่านดีลสำคัญนี้ ซึ่งก็ยังไม่สำเร็จเสียที คงเป็นความท้าทายที่พวกเขาต้องต่อสู้อย่างหนักในสนามเลือกตั้งหนนี้เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลงเอยคล้ายแบบเดิมหรือพลิกไปกว่าเดิม นั่นคือฝั่งพรรคเลเบอร์อาจจะได้ตั้งรัฐบาลแทน หรืออาจมีความไม่แน่นอนอีกมากมายต่อไปในอนาคต

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising