×

วิเคราะห์กลยุทธ์รับมือโควิดของอังกฤษ ทำไมจึงคลายล็อกแม้มีผู้ติดเชื้อต่อวันหลักหมื่น

27.07.2021
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • รัฐบาลทั่วโลกจะมีกลยุทธ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคแบบ Global Scale อยู่ 3 กลยุทธ์ใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ
  1. Race through it: ปล่อยให้เชื้อมันระบาดเองโดยธรรมชาติ
  2. Delay and Vaccinate: การออกกฎหมายให้มีการล็อกดาวน์ เคร่งครัดเรื่อง Social Distancing มีการใส่หน้ากากเพื่อชะลอการระบาด
  3. Coordinate and Crush: ล็อกดาวน์ควบคู่กับการปิดพรมแดนโดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
  • กลยุทธ์ที่ช้าที่สุดแต่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จที่สุดก็คือกลยุทธ์ที่ 2 (Delay and Vaccinate) ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่หลายๆ ประเทศในโลกนี้กำลังใช้กันอยู่ รวมไปถึงประเทศไทยด้วย
  • ตอนนี้ที่ประเทศอังกฤษเปลี่ยนจากกลยุทธ์ที่ 2 (Delay and Vaccinate) ไปเป็นกลยุทธ์ที่ 1 (Race through it) เรียบร้อยแล้ว แต่ที่ทางรัฐบาลตัดสินใจแบบนี้ก็เพราะว่ามีหลักฐานพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าวัคซีนสามารถ Break the Link ระหว่างการติดเชื้อและการป่วยหนัก/การเสียชีวิตได้จริง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การ Break ที่มีประสิทธิภาพ 100% ก็ตาม

มีคนถามผมว่าตอนนี้อังกฤษกำลังใช้กลยุทธ์อะไรในการต่อสู้กับโควิด ทำไมเขาถึงเปิดประเทศได้แล้ว ณ ตอนนี้ ทั้งๆ ที่จำนวนเคสกำลังพุ่งขึ้นสูงทุกวัน บางวันมากกว่าห้าหมื่นคนต่อวันด้วยซ้ำ

 

สำหรับใครที่ยังไม่ได้ดูวิดีโอของ TED-Ed ในหัวข้อ When is a pandemic over? รัฐบาลจะมีกลยุทธ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคแบบ Global Scale อยู่สามกลยุทธ์ใหญ่ๆ ซึ่งก็คือ

 

  1. Race through it: ปล่อยให้เชื้อมันระบาดเองโดยธรรมชาติ โดยกลยุทธ์นี้คือการปล่อยให้คนติดเชื้อกันเอง ซึ่งก็จะทำให้จำนวนเคสสูงขึ้นเร็ว มีคนที่อาจจะเสียชีวิตสูงมากภายในพริบตา และก็อาจจะทำให้โรงพยาบาลเต็มจนรับผู้ป่วยใหม่ไม่ไหว จนกระทั่งมีผู้ที่ติดเชื้อแล้วหายเยอะพอในจำนวนประชากรจนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นในที่สุด

 

  1. Delay and Vaccinate: การออกกฎหมายให้มีการล็อกดาวน์ เคร่งครัดเรื่อง Social Distancing มีการใส่หน้ากาก เพื่อที่จะชะลอการระบาดของเชื้อ ทั้งหมดนี้เป็นการยืดเวลาให้กับนักวิทยาศาสตร์ในการทำวิจัยค้นคว้าหาวัคซีนให้เจอ และการระบาดก็จะจบลงในตอนที่มีจำนวนประชากรได้รับการฉีดวัคซีนมากเพียงพอจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้น

 

  1. Coordinate and Crush: กลยุทธ์นี้คล้ายกับกลยุทธ์ที่ 2 ซึ่งก็คือมีการออกกฎหมายล็อกดาวน์ มี Social Distancing มีการใส่หน้ากาก แต่แทนที่จะรอวัคซีนอย่างเดียว แต่ละประเทศจะมีการ Coordinate หรือร่วมมือกันในการปิดพรมแดนไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อจากประเทศตัวเองไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และจากความร่วมมือกันของคนในประเทศและประเทศข้างเคียง จะส่งผลให้แต่ละประเทศสามารถลดจำนวนผู้ที่ติดเชื้อได้มากพอ จนทำให้เชื้อหายไปจากสังคมจากการมีกฎหมายล็อกดาวน์

 

ตามทฤษฎีแล้ว กลยุทธ์ที่ 1 (Race through it) คือกลยุทธ์ที่จะทำให้ Pandemic จบเร็วที่สุด แต่ก็จะทำให้มีคนป่วยหนักและเสียชีวิตมากที่สุดเช่นเดียวกัน อีกอย่างหนึ่งคือกลยุทธ์นี้จะไม่เวิร์กหากคนสามารถติดเชื้อซ้ำๆ กันได้ กลยุทธ์ที่เร็วเป็นอันดับที่สองคือกลยุทธ์ที่ 3 (Coordinate and Crush) แต่กลยุทธ์นี้ต้องการความร่วมมือของคนในสังคมและรัฐบาลเพื่อนบ้านเยอะ ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าการขอความร่วมมือมักจะเป็นนโยบายที่ไม่ประสบความสำเร็จในโลกของความเป็นจริง ส่วนใหญ่เป็นเพราะแรงจูงใจในการขอความร่วมมือ โดยเฉพาะความร่วมมือจากประเทศอื่นๆ มักจะมีไม่พอ

 

กลยุทธ์ที่ช้าที่สุดแต่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จที่สุดก็คือกลยุทธ์ที่ 2 (Delay and Vaccinate) ซึ่งกลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ที่หลายๆ ประเทศในโลกนี้กำลังใช้กันอยู่ รวมไปถึงประเทศไทยด้วย

 

และประเทศอังกฤษเองก็ใช้กลยุทธ์นี้มาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2020 ซึ่งตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลอังกฤษได้ออกกฎหมายให้มีการล็อกดาวน์เต็มพิกัด มี Social Distancing มีการใส่หน้ากาก ซึ่งก็ทำให้การพีกของจำนวนผู้ที่ติดเชื้อและเสียชีวิตไม่มากจนเกินไป (แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันก็มากพอสมควร โดยเฉพาะในเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อวันละห้าหมื่นและเสียชีวิตเกือบๆ สองพันกว่าคนเป็นเวลาติดกันหลายวัน)

 

แต่ในขณะนี้ วันที่ประเทศอังกฤษมีคนในประเทศได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วถึงสองเข็มมากกว่า 60% ของคนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีในประเทศ รัฐบาลได้ทำการคลายล็อก (เกือบ) ทุกอย่างแล้วทั้งๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย (ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อแล้ววันละห้าหมื่นกว่าคนและอาจจะมีผู้ติดเชื้อมากถึงสองแสนคนต่อวันในเดือนสิงหาคม)

 

 

สรุปก็คือตอนนี้ที่ประเทศอังกฤษเปลี่ยนจากกลยุทธ์ที่ 2 (Delay and Vaccinate) ไปเป็นกลยุทธ์ที่ 1 (Race through it) เรียบร้อยแล้วนะครับ แต่ที่ทางรัฐบาลตัดสินใจแบบนี้ก็เพราะว่ามีหลักฐานพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าวัคซีนสามารถ Break the Link ระหว่างการติดเชื้อและการป่วยหนัก/การเสียชีวิตได้จริง ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การ Break ที่มีประสิทธิภาพ 100% ก็ตาม แต่ก็พอที่จะทำการขยับเขยื้อนนโยบายไปสู่การทำให้ Pandemic ในเกาะอังกฤษจบเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่จะเริ่มมี Winter Flu ที่มักจะเริ่มระบาดในเดือนตุลาคม-ธันวาคมในทุกๆ ปีครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X