×

นักคิดเสนอให้สหราชอาณาจักรออก ‘วีซ่าสภาพภูมิอากาศ’ ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม

24.03.2023
  • LOADING...
วีซ่าสภาพภูมิอากาศ

กลุ่มนักคิดเสนอให้สหราชอาณาจักรออกวีซ่าสภาพภูมิอากาศ (Climate Visa) ช่วยเหลือบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยรายงานของกลุ่มนักคิดระบุว่า การอพยพในครั้งนี้อาจมีส่วนช่วยให้สหราชอาณาจักรสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050 ไม่มากก็น้อย

 

โดย วิล แทนเนอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนักคิดอย่าง Onward และเป็นรองหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรเตรียมพร้อม เพื่อรับมือกับการอพยพย้ายถิ่นฐานทั่วโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากผลพวงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก

 

ขณะที่ เท็ด คริสตี-มิลเลอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ของ Onward ระบุว่า เราไม่สามารถปล่อยให้การย้ายถิ่นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศกลายเป็นวิกฤตการณ์แห่งศตวรรษที่ 21 ได้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรจำเป็นต้องเตรียมพร้อมและสร้างความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคต่างๆ ที่เปราะบางอย่างมาก พร้อมเปิดเส้นทางวีซ่าที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย สำหรับบรรดาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลาย

 

ข้อเสนอดังกล่าวของกลุ่มนักคิดเกิดขึ้นหลังจากที่สหราชอาณาจักรเปิดรับบรรดาผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนและผู้อพยพชาวฮ่องกงผ่านช่องทางวีซ่าที่จัดทำขึ้นเอง จึงเกิดเป็นแนวคิดที่เสนอให้ทางการสหราชอาณาจักรออกวีซ่า เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน 

 

ทางด้าน ซูเอลลา เบรเวอร์แมน รัฐมนตรีมหาดไทยของสหราชอาณาจักร แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อข้อเสนอดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักคิดยังมองว่า การเปิดรับผู้อพยพจากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ‘ในจำนวนจำกัด’ สอดคล้องกับแนวทางของสหราชอาณาจักรที่ต้องการจะมีส่วนช่วยรับมือกับปัญหาดังกล่าวนี้

 

เบื้องต้นยังไม่มีการเสนอตัวเลขของจำนวนวีซ่าสภาพภูมิอากาศที่สามารถออกได้ อีกทั้งแนวทางที่มีต่อบรรดาผู้อพยพอาจเป็นไปในทิศทางที่ทางการสหราชอาณาจักรอาจอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ภายในประเทศได้ชั่วคราว เพื่อตั้งหลักและประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ชั่วคราว พร้อมทั้งเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งอาจมีการอนุญาตให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมบางส่วนเข้าทำงานหรือสามารถตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศแห่งนี้ก็เป็นได้ 

 

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการประเมินและหารือถึงความเป็นไปได้ของรัฐบาลสหราชอาณาจักรและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ขณะที่ อเล็กซ์ แชปแมน นักวิจัยอาวุโสประจำ New Economics Foundation (NEF) เห็นพ้องที่สหราชอาณาจักรควรมีความรับผิดชอบทางศีลธรรมอย่างลึกซึ้งต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก ในการสนับสนุนบรรดากลุ่มผู้อพยพและผู้ลี้ภัยอันเนื่องมาจากวิกฤตดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันเขาก็ตั้งข้อสังเกตว่า การนำเอาแรงงานไร้ทักษะมาจากบรรดาประเทศที่กำลังพัฒนา อาจไม่ได้ตอบโจทย์การเติมเต็มช่องว่างและผลักดันให้สหราชอาณาจักรมุ่งไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศปลอดคาร์บอนได้อย่างที่กลุ่มนักคิดคาดการณ์ไว้ พร้อมทั้งเสนอให้มีการยกระดับระบบการพัฒนาทักษะต่างๆ ของผู้คนภายในประเทศเอง เพื่อให้มาขับเคลื่อนเป้าหมายนี้อย่างจริงจัง

 

ภาพ: Mehmet Ali Poyraz / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X