‘รถติด’ ปัญหาโลกแตกของคนกรุงเทพฯ ที่ต้องประสบพบเจอกันทุกวัน ปัญหานี้พาประเทศไทยไปสู่การรับรู้ระดับโลก เมื่อรายงานการประเมินสภาพจราจรทั่วโลก ประจำปี 2016 (Global Traffic Scorecard Report) ระบุว่า ไทยเป็นประเทศรถติดอันดับ 1 ของโลก
หากโฟกัสไปที่ผู้ใช้รถส่วนบุคคลในกรุงเทพมหานคร เราใช้เวลาอยู่ในรถเฉลี่ยปีละ 24 วัน ที่น่าเศร้าใจคือ จากตัวเลขนี้หมายความว่า เราใช้เวลาอยู่ในรถมากกว่าวันหยุดตามกฎหมายแรงงาน (13 วัน) เกือบเท่าตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยคำนวณไว้ว่า หากเอาเวลาที่คนกรุงเทพฯ ติดอยู่บนถนนมาคำนวณเป็นค่าเสียโอกาสทางด้านเวลา จะคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 60 ล้านบาทต่อวัน
ถ้าถามว่า “ทำไมรถติด?” คำตอบตามหลักวิชาการ คือ เพราะปริมาณการเดินทางสูงกว่าโครงข่ายที่มีอยู่ แปลตรงๆ คือ มีรถมากเกินถนนจะรับไหว ในชั่วโมงเร่งด่วนของกรุงเทพฯ มีรถบนถนนมากกว่าปริมาณสูงสุดที่รองรับได้ถึง 60%
คำตอบฟังดูเหมือนกำปั้นทุบดิน แต่หากวิเคราะห์ลงไปแล้วจะเห็นว่า ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้รัฐตั้งหลักการแก้ปัญหาจราจรโดยการเพิ่มถนน
เป็นที่มาของโครงการก่อสร้างทางด่วน สะพานข้ามแม่น้ำ รวมไปถึงการขยายถนนต่างๆ
ถูกต้องแล้วครับ การแก้ปัญหาจราจรโดยการสร้างถนนเพิ่มไม่ช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ในทางตรงกันข้ามระหว่างการก่อสร้างยังทำให้รถติดหนักขึ้นไปอีก
รู้จัก Ride Sharing แนวคิดลดจำนวนรถยนต์บนถนน
ความโชคดี คือ ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวในโลกที่เจอกับปัญหารถติด ประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ทั่วโลกล้วนเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศวัฒนธรรมรถยนต์
เรากล่าวไม่ได้ว่าสหรัฐอเมริกาแก้ปัญหารถติดได้สำเร็จ แต่ประเทศเสรีนี้มีรูปแบบการแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ ‘การใช้รถร่วมกัน’ หรือ Ride Sharing
องค์กรธุรกิจอิสระแห่งสหรัฐอเมริกาค้นพบว่า การใช้รถร่วมกันนี้มีมานานแล้ว โดยเริ่มมีแบบแผนอย่างจริงจังช่วงกลาง ค.ศ. 1970 ซึ่งสหรัฐฯ เริ่มมีปัญหาการจราจรติดขัดและมลภาวะ การใช้รถร่วมกันช่วยลดต้นทุนในการขับขี่ หลักการคือ การที่ผู้โดยสารแต่ละคนร่วมกันใช้รถและร่วมกันจ่ายค่าเดินทาง หรือร่วมกันออกค่าโดยสารให้ผู้ขับขี่
การใช้รถร่วมกันช่วยลดปริมาณการใช้รถบนท้องถนน ทำให้สภาพคล่องทางจราจรสูงขึ้น อุบัติเหตุลดลง ใช้พลังงานน้อยลง ใช้พื้นที่จอดรถน้อยลง แต่ผลผลิตในการทำงานและสุขภาพจิตดีขึ้น ที่สำคัญไม่ต้องลงทุนใดๆ เพิ่มเติม เพราะเป็นการใช้รถที่วิ่งบนถนนอยู่แล้วมาสร้างประโยชน์
แน่นอนว่า ‘การใช้รถร่วมกัน’ หรือ Ride Sharing มีข้อดีมากมาย แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้นจริงอย่างกว้างขวาง
โครงการ Ride Sharing เคยมีในไทย แต่ส่วนใหญ่ล้มเหลว
โครงการดีๆ แบบนี้ก็มีที่ประเทศไทยเช่นกัน แต่มักอยู่ในวงจำกัดและไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
เมื่อปี 2545 โรงเรียนบดินทรเดชา สิงห์ สิงหเสนี ริเริ่มโครงการเพื่อนบดินทรร่วมทาง เป็นการร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนในการรับ-ส่งบุตรหลาน
แต่โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากขาดความเป็นส่วนตัว
บางครั้งเสียเวลาเพราะปัญหาการนัดหมาย และปัญหาสำคัญคือผู้ปกครองเจ้าของรถไม่ได้รับผลตอบแทน
เมื่อปี 2551 FriendsInCar.com เว็บไซต์ Ride Sharing แห่งแรกของไทยได้เปิดตัวขึ้น ลักษณะเป็นเว็บบอร์ดตั้งกระทู้หาเพื่อนร่วมทางไปทำงานในย่านกลางเมือง เช่น สีลม, อโศก, บางนา แต่ผลตอบรับไม่ดีจนปัจจุบันเว็บไซต์นี้ปิดบริการไปแล้ว โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ล้มเหลวคือขาดความเชื่อมั่นเรื่องข้อมูลความปลอดภัย อีกทั้งเว็บไซต์นี้ไม่ระบุชัดเจนว่าเป็นของหน่วยงานใด ไม่มีผู้ประสานงาน ไม่มีการประเมินผล และไม่รู้เป้าหมายหลักชัดเจนว่าผู้จัดทำหวังผลตอบแทนอย่างไรกับโครงการนี้
Uber เปลี่ยนโลก ฟื้น Ride Sharing จากฝันกลายเป็นจริง
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเอื้อให้ ‘การใช้รถร่วมกัน’ ให้ง่ายขึ้น มีความปลอดภัยและรัดกุมมากขึ้น แก้จุดอ่อนดั้งเดิมของระบบ Ride Sharing ในอดีต
ปัจจุบันโลกเริ่มรู้จักบริการร่วมเดินทางชื่อดังอย่าง Uber ผ่านความเป็นบริษัทระดับโลกที่มีชื่อเสียงช่วยให้ไว้วางใจขึ้นได้ระดับหนึ่ง หลักการของการให้บริการยังคงเป็นการอาศัยรถบนท้องถนน และพื้นที่ว่างในรถเหล่านั้นโดยเฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ประโยชน์ในการเดินทางให้เกิดขึ้นสูงสุด จากสถิติการใช้รถของคนกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยคือ 2.1 คนต่อคัน แปลว่ายังเหลือที่นั่งบนรถอีกเพียบ
Uber ทลายอุปสรรคของแนวคิด Ride Sharing ซึ่งมักล้มเหลวในอดีต ผ่านระบบแอปพลิเคชันที่ช่วยบอกพิกัดนัดหมายทั้งสถานที่และเวลาได้อย่างสะดวก มีระบบประเมินผลผู้ขับขี่ ที่สำคัญ Uber ทลายปัญหาเรื่อง ‘ค่าตอบแทน’ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคือปัจจัยสำคัญ Uber ทำให้ผู้ขับขี่เจ้าของรถได้ค่าตอบแทนชัดเจน เช่นเดียวกับผู้โดยสารที่จะทราบต้นทุนค่าเดินทางในแต่ละครั้ง
หากรถที่ให้บริการร่วมเดินทางกลายมาเป็นวิธีโดยสารอันดับ 1 ของคนกรุงเทพฯ รถบนถนนจะหายไปถึง 3.5 ล้านคัน หรือกว่า 60% อีกทั้งยังลดจำนวนที่จอดรถในเมืองซึ่งกินพื้นที่มหาศาลให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อย่างที่ควรจะเป็น
ในอนาคตเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปจะช่วยเปลี่ยนอุปนิสัยในการเดินทาง ไปจนถึงความคิดในการครอบครองรถของคนรุ่นใหม่ ปลดปล่อยเมืองของเราจากปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน ด้วยบริการร่วมเดินทางเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
อ้างอิง:
- งานวิจัยโครงการการศึกษาโปรแกรมการโดยสารร่วมกันในประเทศไทย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) โดย ผศ.ดร. จิตติชัย รุจนกนกนาฏ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย