×

พายุวิภาช่วยผ่อนวิกฤตแล้ง แต่น้ำยังน้อยกว่าที่คาด เขื่อนสิริกิติ์น้ำลดฮวบต่อเนื่อง เหลือใช้การได้ 5%

โดย THE STANDARD TEAM
05.08.2019
  • LOADING...
ภัยแล้ง

ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจเผยอิทธิพลของพายุดีเปรสชันวิภาส่งผลดี ช่วยเติมน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 1,250 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังน้อยกว่าที่คาดการณ์ สั่งปรับลดแผนระบายน้ำเขื่อนสิริกิติ์ 300 ล้าน ลบ.ม. หลังพบน้ำลดฮวบต่อเนื่อง เหลือใช้งานได้ 5% พร้อมเร่งทุกมาตรการเพื่อเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ลดผลกระทบแล้งหน้า

 

วันนี้ (5 ส.ค.) สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยผลการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อิทธิพลของพายุดีเปรสชันวิภา จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ พบว่า ปัจจุบันหย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชันวิภา ปกคลุมด้านตะวันตกของภาคเหนือ ส่งผลให้ภาคเหนือ ด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปาง ลำพูน ตาก กาญจนบุรี อุทัยธานี ราชบุรี จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา ซึ่งจากการคาดการณ์ในช่วงระหว่างวันที่ 6-9 ส.ค. 2562 ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ 

 

ทั้งนี้ อิทธิพลของพายุดีเปรสชันวิภาจะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำที่ไหลเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งทั่วประเทศ (ตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. ถึง 7 ส.ค. 2562) ได้ประมาณ 1,250 ล้าน ลบ.ม. แต่ยังน้อยกว่าที่คาดการณ์ 

 

แบ่งเป็น ภาคเหนือ 355 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 140 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออก 20 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก 665 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 70 ล้าน ลบ.ม. ส่วนภาคกลางไม่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

 

โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ เขื่อนสิริกิติ์ 282 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 7% ปริมาณน้ำในอ่างฯ 3,309 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนภูมิพล 28 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 5% ปริมาณน้ำในอ่างฯ 4,304 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เขื่อนสิรินธร 106 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 16% ปริมาณน้ำในอ่างฯ 1,018 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนห้วยหลวง 1 ล้าน ลบ.ม. น้ำใช้การ 17% ปริมาณน้ำในอ่างฯ 28 ล้าน ลบ.ม.

 

สำหรับปริมาณฝนตก 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกสูงสุดบริเวณ อ.เทิง 291 มิลลิเมตร (มม.) อ.แม่สรวย 257 มม. จ.เชียงราย และปริมาณฝนสะสม 3 วันสูงสุด บริเวณ อ.เทิง จ.เชียงราย 291 มม. อ.เชียงคำ จ.พะเยา 212 มม. อ.บ่อเกลือ จ.น่าน 186 มม. และ อ.เขาสมิง จ.ตราด 150 มม. ทั้งนี้ ภาพรวมของปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ส.ค. 2562) มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 38,202 ล้าน ลบ.ม. หรือ 47% ศักยภาพน้ำบาดาล 1,228 ล้าน ลบ.ม. ต่อเดือน 

 

นอกจากนี้ ปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในหลายพื้นที่ ซึ่งทำให้น้ำท่าในลำน้ำสายหลักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง แม้จะไม่ส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งหรือน้ำท่วมฉับพลัน แต่ชั้นดินที่อุ้มน้ำไว้จนอิ่มตัว อาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มได้ในบางพื้นที่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แจ้งเตรียมพร้อม และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและดินโคลนถล่มใน 6 จังหวัด 193 หมู่บ้าน ได้แก่ จ.เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ลำปาง และตาก

 

“แม้อิทธิพลของพายุวิภาในระยะนี้จะส่งผลดีในการช่วยเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำหลายแห่ง และบรรเทาภัยแล้งได้ แต่ผลกระทบของฝนทิ้งช่วงยังคงมีต่อเนื่อง สทนช. ได้เร่งตรวจสอบผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่ส่งผลให้เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 453 ล้าน ลบ.ม. หรือ 5% โดยได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการแจ้งกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน โดยปรับลดการระบายน้ำจากแผนเดิมลง 300 ล้าน ลบ.ม. รวมถึง 3 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เพื่อเก็บกักน้ำให้มีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ และอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน โดยหน่วยงานในพื้นที่ต้องเร่งสร้างการรับรู้และความเข้าใจ เพื่อลดความเสียหายจากผลกระทบดังกล่าว และขอให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ฤดูแล้งหน้าจะได้มีน้ำใช้อย่างพอเพียง” เลขาธิการ สทนช. กล่าว 

 

ภาพ: wikimedia

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising