×

‘Two-Way Communication’ เกณฑ์สื่อสารใหม่ของกองทุนอสังหา-กองรีท

02.03.2024
  • LOADING...

ในทุกการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือกองทุน สิ่งสำคัญคือ ‘การสื่อสาร’ กับผู้ลงทุน สำหรับกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (กลุ่มกองทุนอสังหา) และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (กองรีท) ก็เช่นเดียวกัน โดยในปี 2562 สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้ส่งเสริมให้กลุ่มกองทุนอสังหาและกองรีทมีการสื่อสารกับผู้ถือหน่วยลงทุน นั่นคือการจัดประชุมสามัญประจำปีเพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ทราบถึงการบริหารจัดการกองทุนรวมในเรื่องที่สำคัญแบบ Face-to-Face ซึ่งการประชุมนี้เป็นข้อกำหนดเช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ต้องดำเนินการภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชี อย่างไรก็ดี ในช่วงปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด สำนักงาน ก.ล.ต. ได้อนุโลมเรื่องการให้ข้อมูลกับผู้ถือหน่วยลงทุนด้วยการจัดส่งหนังสือรายงานข้อมูลให้ผู้ถือหน่วยรับทราบแทนได้ 

 

สำหรับปี 2567 นี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงให้กลุ่มกองทุนอสังหาและกองรีท มีการรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนอย่างต่อเนื่อง หากแต่มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์การจัดประชุมสามัญประจำปี เรื่องวิธีการและช่องทางการสื่อสาร เพื่อให้เป็นทางเลือกกับกองทุนเพิ่มเติม เป็นวิธีที่เรียกกันว่า การสื่อสารสองทาง หรือ Two-Way Communication โดยมี 3 ข้อมูลหลักที่กลุ่มกองทุนอสังหาและกองรีท ต้องสื่อสารให้ผู้ถือหน่วยลงทุนรับทราบคือ 

 

  1. การจัดการของกลุ่มกองทุนอสังหา และ/หรือ กองรีท ในเรื่องที่สำคัญ และแนวทางการจัดการในอนาคต
    2. ฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกลุ่มกองทุนอสังหา และ/หรือ กองรีท ในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา โดยงบการเงินนั้นต้องผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีแล้วเป็นอย่างน้อย 
  2. การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของกลุ่มกองทุนอสังหา และ/หรือ กองรีท รวมถึงค่าใช้จ่ายในการสอบบัญชี   

 

ทั้งนี้ การสื่อสารในลักษณะ Two-Way Communication ไม่ว่าจะเป็นการจัดประชุมแบบ Face-to-Face ในสถานที่ประชุมจริง หรือการจัดประชุมรูปแบบออนไลน์ (e-Meeting) หรือรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) หรือด้วยวิธีการอื่นใดนั้น ผู้ถือหน่วยจะต้องสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ โดยบริษัทจัดการกองทุน และ/หรือ ผู้จัดการกองทรัสต์ ต้องคำนึงถึงโอกาสที่ผู้ถือหน่วยจะได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และในกรณีที่ผู้ถือหน่วยมีการสอบถามข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลนั้นจะต้องจัดทำและเปิดเผยสรุปประเด็นคำถาม-คำตอบ เพื่อให้ผู้ถือหน่วยลงทุนท่านอื่นรับทราบร่วมกัน ภายใน 14 วันนับแต่วันที่มีการดำเนินการพบปะ และเปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถสอบถามข้อมูลได้ โดยข้อมูลนั้นจะเปิดเผยผ่านระบบการเปิดเผยสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มกองทุนอสังหา และ/หรือ กองรีท ที่มีวาระการนำเสนอที่ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องพิจารณาอนุมัติ กองทุนจะต้องจัดการประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายในการจัดประชุมด้วย 

 

ดังนั้น ในปี 2567 นี้อาจมีบางกลุ่มกองทุนอสังหา และ/หรือ กองรีท ที่หันมาใช้เกณฑ์นี้มาจัดประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนบ้างแล้ว ซึ่งผู้ถือหน่วยลงทุนเองจะสามารถติดตามข้อมูลและการกำหนดสิทธิ์ได้รับข้อมูลที่กลุ่มกองทุนอสังหา และ/หรือ กองรีท ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ เพื่อผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้พิจารณาข้อมูลเพื่อเข้าร่วมประชุม และ/หรือ ส่งข้อซักถาม รวมถึงให้คำแนะนำต่างๆ แก่บริษัทจัดการ/ผู้จัดการกองทรัสต์

 

 

 

อ้างอิง: 

  • ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 33/2566 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลของกองทุนรวมและทรัสต์ที่มีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือโครงสร้างพื้นฐาน (ฉบับที่ 12)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising