×

5 ข้อที่เราได้รู้จากการ ‘เป่านกหวีด’ เปิดโปงครั้งใหญ่สนั่นวงการเทคฯ จากอดีตผู้บริหารของ Twitter

26.08.2022
  • LOADING...
Twitter

Whistleblower คือคำที่มาจากคำว่า Whistle (นกหวีด) + Blower (ผู้เป่า) ที่รวมกันมีความหมายว่า ‘ผู้เป่านกหวีด’ ที่ออกมาแจ้งให้บริษัทได้รับรู้หรือเปิดเผย/ให้ข้อมูลอันเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติงานและการกระทำอันไม่ถูกไม่ควรของบริษัท องค์กร หรือประเทศ ในที่สาธารณะ 

 

เหมือนกับการเป่านกหวีดให้เกิดเสียงดังจนทุกคนให้ความสนใจ เช่น กรณีของ Edward Snowden ที่แฉความลับของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ Frances Haugen ที่เคยออกมาพูดถึง Facebook 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

ล่าสุดชายชื่อ Peiter Zatko ฉายา ‘Mudge’ ซึ่งเป็นอดีตแฮกเกอร์ฝีมือดีจากกลุ่มแฮกเกอร์ที่โด่งดังในยุค 1996-2000 อย่าง L0Pht ที่เคยเจาะระบบรักษาความปลอดภัยและปิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตของสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 30 นาที เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตสามารถถูกเจาะ ขโมย และปิดกั้นได้ง่ายแค่ไหน

 

ก่อนที่ในปี 1998 Mudge กับเพื่อนอีก 6 คนได้ให้การต่อหน้าสภาคองเกรส และภายหลังเขาได้มีโอกาสทำงานให้กับกระทรวงกลาโหมแห่งรัฐบาลสหรัฐฯ ในฐานะหัวหน้าทีมดูความปลอดภัยโลกไซเบอร์ในปี 2010 ได้ทำงานให้กับ Google ในปี 2013 และถูกชักชวนไปทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร และหัวหน้าแผนกดูแลระบบรักษาความปลอดภัยให้กับหนึ่งในบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ที่สุดที่โลกเคยมีมาอย่าง Twitter ในปี 2020

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Mudge ทำหน้าที่นี้ จนกระทั่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาในเดือนมกราคม เขาถูกไล่ออกด้วยข้อหา ‘การเป็นผู้นำที่ไม่มีประสิทธิภาพและการบริหารงานที่ล้มเหลว’ 

 

และเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเป่านกหวีดเปิดโปงครั้งใหญ่จากอดีตหัวหน้าทีมรักษาความปลอดภัยคนนี้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติงานของ Twitter ที่เขากล่าวอ้างว่าเป็นภัยต่อระบบรักษาความปลอดภัยต่อสหรัฐอเมริกา และยังก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อผู้ลงทุนและหน่วยงานที่กำกับดูแลอีกด้วย ด้วยเอกสารเกือบ 200 หน้าด้วยกัน 

 

ข้อกล่าวหาของ Mudge คือ Twitter เต็มไปด้วยข้อบกพร่องในระบบรักษาความปลอดภัยอย่างร้ายแรง จากการที่อาจไม่ลบผู้มูลผู้ใช้แม้จะเลิกใช้งานแอ็กเคานต์ไปแล้วอย่างที่พึงจะทำ, ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนในปัญหาเรื่องแอ็กเคานต์ที่เป็นสแปม, ความเป็นไปได้ในการการว่าจ้างหน่วยข่าวกรองต่างประเทศ และการไม่ทำตามข้อตกลงกับกฎข้อบังคับของคณะกรรมาธิการว่าด้วยการค้าแห่งสหพันธรัฐ หรือ Federal Trade Commission (FTC) ที่อาจนำไปสู่การกระทำอื่นๆ ที่ไม่ชอบมาพากลอีกมากมาย

 

Twitter

Peiter Zatko ชายผู้เปิดโปง Twitter

ภาพ: Matt McClain/The Washington Post via Getty Images

 

และนี่คือ 5 ข้อที่เราได้รู้จากการเปิดโปงครั้งนี้ ผ่านเอกสารของ Mudge และข้อโต้แย้งจากตัวแทนของ Twitter 

 

1. ความเปราะบางในระบบรักษาความปลอดภัย 

ข้อกล่าวหาของ Mudge ที่ใหญ่ที่สุดคือ บริษัทเจ้าของสื่อโซเชียลมีเดียระดับนี้ขาดความปลอดภัยทางด้านข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นจากการที่พนักงานนับพันสามารถเข้าถึงและมีส่วนรับผิดชอบในปริมาณงานและข้อมูลเกือบครึ่งของบริษัท หรือวิศวกรที่ทำงานและข้องเกี่ยวโดยตรงกับข้อมูลผู้ใช้ของจริงแบบไลฟ์ 

 

ทำให้ Twitter มีมาตรฐานการทำงานที่ต่างจากบริษัท Google และ Meta ที่นักพัฒนาจะใช้ Dummy Data หรือข้อมูลที่สร้างมาเพื่อใช้ปรับคีย์โค้ดและทดสอบโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับข้อมูลหลักที่ผู้บริโภคใช้อยู่

 

ความหละหลวมตรงนี้เปิดช่องให้พนักงานบางคนสามารถฉกฉวยข้อมูลจากผู้ใช้ได้ และการโค้ดดิ้งเพื่ออัปเดตอาจทำให้ระบบล่มจนแพลตฟอร์มใช้งานไม่ได้เลย นอกจากนี้ยังนำไปสู่ปัญหาคนนอกสามารถเจาะเข้าระบบของบริษัท Twitter ได้ในแบบที่ไม่ควรและจะไม่เกิดขึ้นกับบริษัทไหน 

 

นอกจากนี้ในหลายๆ ครั้งมีการตรวจพบว่าพนักงานบริษัทติดตั้งสปายแวร์ในคอมพิวเตอร์ของพวกเขาจากคำร้องขอขององค์กรบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่ระบุแน่ชัดในรายงานว่ามีพนักงานกี่คนที่เกี่ยวข้องกับการใช้สปายแวร์

 

การเข้าถึงได้ทั้งจากภายนอกและภายในเช่นนี้ จึงไม่แปลกใจเท่าไรนักที่ในปี 2020 จะมีแฮกเกอร์สามารถยึดแอ็กเคานต์ Twitter ของบุคคลสำคัญๆ ได้ เช่น Joe Biden, Barack Obama, Elon Musk และอีกมากมาย

 

ในข้อกล่าวหายังระบุอีกว่า ปัญหาน่าปวดหัวนี้แทบจะเกิดขึ้นอย่างน้อย 1 ครั้งในแต่ละสัปดาห์ แต่สาธารณชนไม่ทราบถึงสิ่งนี้ ซึ่งอันที่จริงเป็นกฎข้อบังคับขั้นเด็ดขาดที่บริษัทต้องพึงแจ้งให้ทราบต่อ FTC 

 

และยังมีการบ่งชี้ด้วยว่า Twitter มีแนวโน้มที่จะไม่ลบข้อมูลข้อผู้ใช้หลังจากพวกเขาปิดบัญชีไปแล้ว เพราะในหลายๆ เคส บริษัทเองก็ไม่สามารถนับและติดตามจำนวนที่แน่นอนของข้อมูลได้ ซึ่งนำไปสู่การทำให้หน่วยงานควบคุมดูแลเกิดความเข้าใจผิดว่าตกลงแล้วข้อมูลที่ควรถูกลบได้ถูกลบอย่างที่พึงกระทำหรือไม่

 

ทางตัวแทนจาก Twitter ออกมาโต้แย้งข้อกล่าวหาว่า ทีมโปรดักต์กับทีมวิศวกรจะเข้าถึงแพลตฟอร์มได้เมื่อมีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเฉพาะเจาะจงเท่านั้น แต่พนักงานแผนกอื่นอย่างแผนกการเงิน แผนกกฎหมาย แผนกเซล แผนกสนับสนุน และแผนกทรัพยากรบุคคล ไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มได้ 

 

นอกจากนี้ยังได้กล่าวว่าบริษัทใช้ระบบตรวจสอบอัตโนมัติ เพื่อที่จะมั่นใจว่าซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับการอัปเดตจะไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มได้ และการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลแบบไลฟ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อโค้ดนิ่งและมีการตรวจสอบแล้วว่าผ่านความต้องการพื้นฐาน

 

ในส่วนของความปลอดภัยแอ็กเคานต์และข้อมูล ทาง Twitter ชี้แจงว่า หลังจากที่ผู้ใช้ต้องการลบแอ็กเคานต์ ทาง Twitter จะ Deactivate และเริ่มขั้นตอนการลบทิ้ง แต่ปฏิเสธที่จะพูดกับทาง CNN ว่ากระบวนการลบเสร็จสิ้นในปลายทางหรือไม่

 

2. Twitter มีระบบที่สามารถคำนวณปริมาณแอ็กเคานต์ที่เป็นสแปมได้ง่ายๆ แต่ตัดสินใจไม่ใช้มัน

เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องการใช้บอต และการหลีกเลี่ยงการเปิดเผยเรื่องนี้ที่นำไปสู่การถอนดีลเข้าซื้อมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐของ Elon Musk 

 

เป็นเวลาหลายปีที่ Twitter บอกกับผู้ลงทุนว่าแอ็กเคานต์ปลอมและสแปมแอ็กเคานต์มีจำนวนไม่ถึง 5% ของผู้ใช้ Twitter ที่กำลังแอ็กทีฟอยู่ แต่การเปิดเผยจาก Mudge ผ่านเอกสารบ่งชี้ว่า สถิตินี้ไม่ได้พูดถึงภาพรวมของตัวเลขแอ็กเคานต์ที่เป็นสแปมเมื่อเทียบกับตัวเลขแอ็กเคานต์ทั้งหมด แต่แค่เป็นซับเซ็ตของของแอ็กเคานต์ที่ถูกคัดเลือกมาแล้วว่ามีผลลัพธ์ทางการค้า เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณตัวเลขโดยเฉพาะ

 

ยังมีการเปิดเผยข้อมูลอีกด้วยว่าในปี 2021 หัวหน้าแผนกคนหนึ่งบอกกับเขาว่า บริษัทไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีบอตมากมายขนาดไหนบน Twitter เท่านั้นยังไม่พอ ผู้บริหารยังไม่มีความกระตือรือร้นในการค้นหามัน เพราะพวกเขากังวลว่าการวัดปริมาณที่แม่นยำและเที่ยงตรงนี้ เมื่อนำไปเปิดเผยต่อสาธารณะจะทำลายภาพลักษณ์และก่อให้เกิดความเสียหายต่อมูลค่าของบริษัท

 

Mudge ยังกล่าวหาว่า ที่ Parag Agrawal ซีอีโอของ Twitter เคยทวีตในเดือนพฤษภาคมว่า บริษัทเต็มไปด้วยความกระตือรือร้นที่จะตรวจสอบและลบแอ็กเคานต์สแปมมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เป็น ‘คำโกหก’

 

Twitter

Parag Agrawal ซีอีโอของ Twitter

ภาพ: Kevin Dietsch / Getty Images

 

ในข้อนี้ทาง Twitter ได้โต้กลับว่า คำกล่าวหาของ Mudge เป็นคำกล่าวหาที่ขาดบริบทรอบข้าง และไม่ใช่บอตทั้งหมดที่เป็นบอตไม่ดี กับเสริมด้วยว่าการจะนับตัวเลขปริมาณบอตใน Twitter อาจเป็นการนับจำนวนบอตที่มีการตรวจพบและกำจัดแล้ว 

 

และทางบริษัทยังไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ในการกำจัดทุกๆ แอ็กเคานต์ที่เป็นสแปมบน Twitter ซึ่งนั่นคือสาเหตุที่ทำไมมันถึงน้อยกว่า 5% แต่ไม่ได้มีการโต้กลับต่อข้อกล่าวหาว่าความตั้งใจของซีอีโอ Parag Agrawal เป็นคำโกหก

 

3. Twitter สามารถถูกบังคับให้ปิดระบบและถูกชัตดาวน์ถาวรได้

ปัญหานี้ต่อเนื่องจากปัญหาความปลอดภัยไซเบอร์ Mudge ระบุว่า มีความเสี่ยงสูงที่ Twitter จะถูกชัตดาวน์ เนื่องจาก 500,000 เซิร์ฟเวอร์ของ Twitter ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่ได้รับการอัปเดต และระบบรักษาความปลอดภัยของบริษัทไม่ได้มาตรฐาน 

 

เช่น การเข้ารหัสข้อมูลที่ถูกจัดเก็บ ในขณะที่เซิร์ฟเวอร์อื่นๆ ไม่ได้รับการซัพพอร์ต เพราะซอฟต์แวร์ที่ใช้นั้นเก่าไป ทำให้หากข้อมูลในระบบศูนย์กลางล้มเหลวพร้อมกันขึ้นมา การที่ Twitter ขาดขั้นตอนการกู้คืนที่ครอบคลุมจะทำให้พวกเขาเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่ นำไปสู่การชัตดาวน์ที่อาจกินระยะเวลาเป็นแรมเดือน หรือแย่สุดคืออย่างถาวร

 

ในรายการการเปิดเผยของ Mudge ยังระบุอีกว่า Twitter ไม่ได้จ่ายเงินให้กับทรัพย์สินทางปัญญาที่ใช้เป็น Dataset ในการเทรน AI ซึ่งนั่นทำให้ฟีเจอร์สำคัญๆ ของ Twitter ที่เราเห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้ เช่น ระบบอัลกอริทึมที่ตัดสินใจว่าจะแนะนำข้อมูลข่าวสารประเภทไหน จากที่ไหน แหล่งไหน บนหน้าฟีด Twitter เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย 

 

และถ้าหากบริษัทที่ให้ข้อมูลเหล่านั้นฟ้องและบังคับใช้กฎหมายขึ้นมา มันอาจนำไปสู่ความสูญเสียทางการเงินครั้งใหญ่ของ Twitter ได้ และที่แย่ไม่แพ้กันคืออาจต้องล้มเลิกการใช้ฟีเจอร์ที่เกิดขึ้นมาได้จากการใช้เซ็ตข้อมูลเหล่านี้ในการช่วยสร้าง 

 

ในข้อกล่าวหานี้ ทาง Twitter ไม่มีการโต้ตอบแต่อย่างใด

 

4. Twitter มีระบบที่อ่อนแอขนาดที่ประเทศอื่นสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าถึงระบบที่หละหลวมได้ และซ้ำร้ายอาจมีพนักงานภายในที่รับเงินค่าจ้างในการทำหน้าที่เป็นสปายให้กับต่างชาติ

ในรายงานการเปิดเผยของ Mudge ยังได้พูดถึงความน่ากลัวของระบบที่อ่อนแอของ Twitter ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามระดับชาติ ด้วยการพูดถึงรัฐบาลต่างประเทศที่สามารถเข้าถึงข้อมูลในบริษัท Twitter ได้ หรือสามารถสร้างกำลังงัดได้จากการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งส่งผลเสียอย่างยิ่งยวดต่อผลประโยชน์ของรัฐบาลสหรัฐฯ และความมั่นคงของชาติ

 

นี่ไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้างลอยๆ เพราะในรายการบอกด้วยว่า หลังจากที่ Mudge ถูกไล่ออกจาก Twitter ต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ แจ้งทาง Twitter ว่ามีพนักงาน 1 คนหรือมากกว่านั้นทำงานให้กับหน่วยข่าวกรองต่างประเทศ หรือเป็นสปายให้ต่างชาติ ซึ่งยังไม่ชัดเจนเท่าไรนักว่า Twitter ได้รับรู้เรื่องนี้หรือไม่ หรือบริษัทมีทีท่าอย่างไรต่อข้อมูลนี้ แต่สิ่งที่ต้องโฟกัสคือนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะในปี 2019 คณะลูกขุนตัดสินคดีอดีตพนักงาน Twitter เป็นสปายให้กับซาอุดีอาระเบียมาก่อนหน้านี้แล้ว

 

การเปิดเผยยังสาวไปถึง Parag Agrawal ซีอีโอของ Twitter ขณะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี และก่อนหน้าที่รัสเซียจะบุกยูเครนว่า ตัวเขาได้เจรจากับทางรัสเซีย ด้วยข้อเสนอจะมอบข้อผ่อนปรนทางด้านการเซ็นเซอร์และการสอดส่องดูแลแพลตฟอร์ม เพื่อแลกกับการที่บริษัทจะเติบโตขึ้นในประเทศนี้ 

 

Twitter

 

โดย Mudge ระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า ซีอีโอ Twitter ไปข้องเกี่ยวกับ Vladimir Putin ก็เพราะความกังวลในเรื่องที่ Twitter เป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ 

 

ทั้งยังกล่าวด้วยว่า Twitter รับเงินจากจีนและมีการแชร์ข้อมูลกันเกิดขึ้น แลกกับการที่ช่วยระบุตัวผู้ใช้ชาวจีนที่ลักลอบผ่านระบบเซ็นเซอร์ของทางการจีนเข้ามาใช้แอ็กเคานต์ Twitter ซึ่งทางผู้บริหารรู้ดีถึงความเสี่ยง แต่ก็เชื่อว่าบริษัทจำเป็นต้องพึ่งพาเม็ดเงินเกินกว่าจะที่เลิกทำแบบนี้ได้

 

Mudge ยังกล่าวต่อไปว่า ไม่เพียงรัสเซียและจีน แต่อินเดียก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ในการบังคับให้ Twitter จ้างเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่สามารถเข้าถึงระบบภายในของ Twitter ได้ และยังขาดการเปิดเผยความจริงที่โปร่งใสเที่ยงตรงในรายงานอีกด้วย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิพลเมืองได้ออกมาพูดว่า อินเดียได้เพิ่มปริมาณเจ้าหน้าที่ด้านดิจิทัลในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา

 

ข้อกล่าวหานี้ Twitter ก็ไม่ออกมาตอบโต้อีกเช่นกัน

 

5. Twitter ละเมิดข้อตกลงหลายข้อกับทาง FTC

Mudge ระบุในรายงานการเปิดเผยว่า การละเมิดกฎหมายรัฐบาลกลางนี้ทั้ง ‘ต่อเนื่อง ซ้ำแล้วซ้ำอีก และเป็นการกระทำที่ไม่หยุดไม่หย่อน’ เขากล่าวว่าทาง Twitter จงใจสร้างความเข้าใจผิดต่อหน่วยงายควบคุมดูแลเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลผู้ใช้ และในเรื่องที่บริษัทไม่ทำตามข้อตกลงบังคับใช้ปี 2011 กับทาง FTC ในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้

 

และเมื่อถูกถามถึงการลบข้อมูลและแอ็กเคานต์ของผู้ยกเลิกการใช้งานบัญชี พวกเขาบอกกับทาง FTC ว่าได้ Deactivate แอ็กเคานต์แล้ว แต่ไม่ได้ชี้แจงว่าข้อมูลยังไม่ได้ถูกลบเนื่องมาจากการไม่สามารถติดตามข้อมูลและจำนวนข้อมูลเหล่านั้นได้ รวมไปถึงการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเรื่องที่บริษัทละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาด้วยเช่นกัน

 

รายงานของ Mudge ยังเผยอีกด้วยว่า ทั้งอีเมลและเบอร์โทรศัพท์ถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องเพื่อจุดประสงค์ในการโฆษณา แม้ว่าก่อนหน้านี้ในปี 2020 ทาง Twitter กับ FTC เคยตกลงเจรจาข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาการนำข้อมูลเหล่านั้นอย่างไม่ถูกไม่ควรเกิดขึ้นแล้วก็ตาม และอันที่จริงในช่วงที่ Mudge เข้ามาทำงานกับทาง Twitter ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาบอกกับเขาว่า Twitter ไม่เคยยอมทำตามข้อตกลงกับทาง FTC ที่สร้างขึ้นในปี 2011 เลย

 

Twitter

 

ในข้อนี้ตัวแทของ Twitter ที่ตำแหน่งคล้ายคลึงกับตำแหน่งในอดีตของ Mudge แย้งว่า ในรายงานการปฏิบัติตามของ Twitter กับ FTC มีความชัดเจนในตัวมันเอง ด้วยการว่าจ้างบุคคลที่สามมาตรวจสอบบัญชี ภายใต้การยอมรับของข้อตกลงปี 2011 ที่ตัวของ Mudge ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย และยันยืนยันว่า บางบริษัทปฏิบัติตามกฎข้อบังคับเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความโปร่งใสต่อหน่วยงานบังคับดูแลในการกำจัดปัญหาในระบบ

 

และยังกล่าวด้วยว่า Mudge ล้มเหลวในการเข้าใจระบบและขั้นตอนการทำงานของ Twitter และความเข้าใจผิดทำให้เขาตัดสินใจมากล่าวอ้างลอยๆ อย่างไม่ถูกต้องเช่นนี้

 

“ผมรู้จัก Mudge ตั้งแต่วันของเขาที่ Cult of the Dead Cow (กลุ่มแฮกเกอร์ที่ Mudge เคยเป็นตัวตั้งตัวตี) ตอนที่ผมทำงานที่ Microsoft เขาและทีม Stake ช่วยกันพัฒนาระบบและกลยุทธ์รักษาความปลอดภัย รวมไปถึงการทำงานของเขากับกระทรวงกลาโหมเองก็ยังเป็นไปอย่างโปร่งใสเที่ยงตรงสูงสุด และยึดมั่นอยู่กับมาตรฐานทางเทคนิคในการพัฒนาระบบเสมอ ถ้า Mudge บอกว่า Twitter มีปัญหาด้านความมั่นคงไซเบอร์ Twitter ก็กำลังมีปัญหาใหญ่แล้วล่ะ” Aaron Turner เพื่อนของ Mudge ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์กล่าว

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X