โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่ ‘ทรงอิทธิพล’ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2020 ที่ผ่านมา แน่นอนว่าเราย่อมนึกถึง ‘Twitter’ ซึ่งความเคลื่อนไหวสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งบันเทิงหรือการเมือง ล้วนเกิดขึ้นในแพลตฟอร์มนี้ทั้งสิ้น
THE STANDARD มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ อาร์วินเดอร์ กุจรัล กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Twitter ผ่านอีเมล ถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน Twitter ทั้งในแง่ของการเติบโตของผู้ใช้งาน (ปลายปีที่แล้วมีการประเมินว่า ผู้ใช้ Twitter ในไทยอยู่ที่ราว 11 ล้านคน) ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปีนี้ รวมไปถึงเรื่องการเมืองทั้งกระแส IO ไปจนถึงมีความพยายามปิดกั้นหรือแทรกแซงการทำงานของ Twitter หรือไม่
อาร์วินเดอร์ ให้ข้อมูลว่า ได้เห็นการเติบโตและความหลากหลายของบทสนทนาที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันบน Twitter ประเทศไทย ชุมชนบน Twitter กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา Twitter กลายเป็นสถานที่สำคัญที่ช่วยให้ผู้คนเชื่อมต่อกันได้ไม่เพียงแค่ในช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เท่านั้น แต่ในช่วงหลังการระบาดเช่นเดียวกัน ในขณะที่เรื่องราวในแวดวงบันเทิงและ K-Pop ยังคงเป็นหัวข้อที่ขับเคลื่อนบทสนทนาบน Twitter แต่เรายังเห็นบทสนทนาที่เกี่ยวกับความงาม เกม ท่องเที่ยว และอีกหลายหัวข้อที่เติบโตมากขึ้นเช่นกันในปีนี้
ในแง่ของความบันเทิงนั้น ผู้คนได้ใช้ทวิตเตอร์เพื่อพูดคุยและแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับละครหรือซีรีส์ไทย พล็อตเรื่องและนักแสดงนำ นอกจากนั้นซีรีส์วายไทยที่เติบโตขึ้นมายังทำให้มีบทสนทนาจำนวนมากพูดถึงนักแสดงนำคู่อย่าง #ไบร์ทวิน #ออฟกัน และ #หวานใจมิวกลัฟ ซึ่งล้วนเป็นบุคคลในวงการบันเทิงที่ถูกทวีตถึงมากที่สุดในปี 2020
อาร์วินเดอร์ ระบุว่า สิ่งที่โดดเด่นของประเทศไทยคือ การมีส่วนร่วมของผู้คน พวกเขามีความหลงใหลในหัวข้อและบทสนทนาที่พวกเขาให้ความสนใจ และมักทวีตถึงเรื่องเหล่านั้นอยู่เสมอ ดังเช่นตัวอย่างในหัวข้อของความงามกับอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นสองเรื่องที่มีคนพูดถึงเพิ่มมากขึ้นบน Twitter ประเทศไทย สอดคล้องกับความจริงที่ว่า ผู้ใช้งาน Twitter ในประเทศไทยถึง 77% มีความสนใจในเรื่องของการดูแลผิวพรรณและรูปร่างของตัวเอง
นอกจากนี้ข้อมูลยังแสดงให้เห็นเพิ่มเติมอีกว่า Twitter ชาวไทยราว 88% มีความหลงใหลในเรื่องของอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้ ‘อาหารและเครื่องดื่ม’ ติดอันดับ 3 ของหัวข้อที่มีผู้คนพูดถึงมากที่สุดบน Twitter ส่วนหัวข้ออื่นๆ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นบน Twitter ประเทศไทย ได้แก่ การทำอาหาร การท่องเที่ยว เทคโนโลยี และเกม
ขณะเดียวกันยังมีบทสนทนาที่เกี่ยวกับการช้อปปิ้ง ซึ่งเป็นผลพวงจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซในปีนี้ เห็นได้จากตัวอย่างของการวิจัยล่าสุดที่พบว่า ผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์ประเทศไทยมากกว่า 4 ใน 5 คน ทำการซื้อของออนไลน์ นอกจากนี้กีฬาก็เป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสนใจ โดยหัวข้อกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทยคือ ฟุตบอล
ในแง่ของการตลาดนั้น อาร์วินเดอร์กล่าวว่า ปีนี้เราเห็นว่ามีแคมเปญของหลายๆ แบรนด์ในประเทศไทยที่มีความโดดเด่น โดยเฉพาะ 8 แบรนด์ที่สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ด้วยความสามารถในการรังสรรค์แคมเปญการตลาดให้เป็นที่น่าจดจำ และได้รับรางวัล #BestofTweets 2020 Thailand Awards ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
Twitter มองเห็น 3 วิธีหลักๆ ที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จในการใช้ Twitter ในประเทศไทย ดังนี้
- การรับฟังกลุ่มเป้าหมาย มีบทสนทนาเกิดขึ้นทุกวินาทีบน Twitter ประเทศไทย ทุกแบรนด์สามารถค้นหาและทำความเข้าใจกับบทสนทนาที่พูดถึงแบรนด์หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ได้
- การเรียนรู้ แบรนด์ต่างๆ ใช้งาน Twitter เพื่อโฟกัสไปยังสิ่งที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ และเรียนรู้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ รวมถึงศึกษาว่าผู้บริโภคให้คุณค่ากับเรื่องอะไร และยังสามารถรับฟังฟีดแบ็กอันมีค่าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการบริการต่างๆ
- การเชื่อมต่อ แบรนด์สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถเชื่อมต่อกับลูกค้าและกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้ ถึงแม้ว่าสภาพแวดล้อมต่างๆ ของธุรกิจในปีนี้จะมีความท้าทาย แต่จากการวิจัยของ Twitter แสดงให้เห็นว่าผู้คนยังคงต้องการรับฟังข่าวสารข้อมูลจากแบรนด์ต่างๆ อยู่ เราจึงเห็นการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ บน Twitter เป็นแห่งแรก และยังเป็นการใช้พลังของ Twitter เพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประโยชน์อีกด้วย
“เราคาดหวังว่าในปี 2021 จะเป็นปีที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม อีเวนต์ใหญ่ๆ และการแข่งขันกีฬาระดับโลกจะกลับมา ในขณะที่ Twitter จะยังคงเป็นสถานที่ที่คนทั่วโลกจะมารวมตัวกัน เพื่อพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์แบบเรียลไทม์ Twitter จะยังคงมุ่งมั่นในการเชื่อมโยงผู้คน และเป็นพื้นที่ให้กับแบรนด์ได้คอนเน็กต์กับสิ่งที่เกิดขึ้น และสร้างความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย ผ่านโซลูชันที่มีบน Twitter เท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม มีหลากหลายคำถาม เช่น
- มีนโยบายจัดการกับ IO อย่างไร มีมุมมองและจุดยืนอย่างไรกับการใช้งาน Twitter แบบ IO
- ในช่วงที่การเมืองร้อนแรง Twitter เป็นแพลตฟอร์มสื่อกลางสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง มอง Movement นี้อย่างไร และมีจุดยืนอย่างไรต่อเรื่องนี้
- Insight เกี่ยวกับทวีตที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งสามารถสะท้อนปรากฏการณ์ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาได้
- ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจรัฐมีความพยายามในการควบคุมเนื้อหาในแพลตฟอร์ม หรือแทรกแซงการทำงานของแพลตฟอร์มบ้างไหม และทางทวิตเตอร์มีจุดยืน และแอ็กชันอย่างไรกับเรื่องนี้
โดย Twitter กล่าวกับ THE STANDARD ว่า ยังไม่พร้อมที่จะตอบคำถามเหล่านี้ในช่วงเวลานี้ และจะขอตอบในช่วงเวลาต่อไปแทน ซึ่งหาก Twitter ตอบคำถามกลับมาแล้ว THE STANDARD จะหยิบมานำเสนอในโอกาสต่อไป
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์