×

เตือนใจ ดีเทศน์ นักต่อสู้เพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ผู้เข้าชิง Nansen Refugee Award คนแรกของไทย

10.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ครูแดง-เตือนใจ ดีเทศน์ ผู้อุทิศตนเพื่อการพัฒนาสิทธิของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น 1 ใน 4 คนสุดท้ายที่จะเข้าชิงรางวัลนานเซ็นของ UNHCR ในปีนี้ จากการทำงานและความพยายามในการลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติภายในประเทศ
  • หลังจากที่มีการแก้ไขกฎหมายสัญชาติและทะเบียนราษฎร นับตั้งแต่ปี 2008 มีคนไร้รัฐไร้สัญชาติได้รับสัญชาติไทยแล้วมากกว่า 1 แสนคน ปัจจุบันประเทศไทยมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ต้องการได้รับความช่วยเหลืออยู่อีกเกือบ 5 แสนคนทั่วประเทศ

ครูแดง-เตือนใจ ดีเทศน์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยที่ทำงานด้านนี้มายาวนานกว่า 40 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่กำลังจะหมดวาระลงในอีกไม่ช้า ได้ถูกเสนอชื่อเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เข้าชิงรางวัล Nansen Refugee Award เป็นคนแรกของประเทศไทย

 

Nansen Refugee Award คืออะไร

รางวัลนานเซ็น (Nansen Refugee Award) เปรียบได้กับรางวัลโนเบลที่ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 1954 เพื่อมอบให้กับบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรที่ได้รับการยอมรับว่าได้อุทิศตนทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น รวมถึงกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติอย่างเต็มความสามารถ

 

รางวัลนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ ฟริดต์จอฟ นานเซ็น (Fridtjof Nansen) ข้าหลวงใหญ่ฯ คนแรกแห่งองค์การสันนิบาตชาติในช่วงเวลานั้นที่ได้อุทิศตน มุ่งมั่น และเสียสละทำงานเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริงจนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1922

 

 

ทำไม ‘เตือนใจ ดีเทศน์’ จึงถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนานเซ็นในปีนี้

ครูแดง-เตือนใจ ดีเทศน์ เป็นนักพัฒนาสังคมคนแรกในประวัติศาสตร์ของรางวัล Nansen Refugee Award ที่ได้รับพิจารณาให้ผ่านเข้ารอบ 4 คนสุดท้ายเป็นตัวแทนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากความทุ่มเทในการพยายามลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยตลอดกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเธอมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไร้รัฐไร้สัญชาติหลายแสนคนสามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้เพิ่มมากขึ้น

 

จากสถิติอย่างเป็นทางการของรัฐบาลไทยเมื่อเดือนมิถุนายน 2018 ปัจจุบันประเทศไทยมีคนไร้รัฐไร้สัญชาติอาศัยอยู่จำนวน 479,284 คน โดยรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นที่จะยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมถึงสนับสนุนโครงการ #IBelong ของ UNHCR ที่ตั้งเป้าขจัดภาวะดังกล่าวให้หมดไปจากประชาคมโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า นับตั้งแต่ปี 2014 ที่ผ่านมา

 

ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติคืออะไร

ครูแดงอธิบายว่าคนไร้รัฐคือคนที่ไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎรของรัฐใดในโลก ซึ่งเหมือนกับว่ามีแค่ร่างกาย แต่ไม่มีตัวตนในทางกฎหมาย ในขณะที่คนไร้สัญชาตินั้นคือคนที่ได้รับการสำรวจให้มีรายชื่อในระบบทะเบียนราษฎรแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพัฒนาสถานะหรือได้รับการรับรองสิทธิความเป็นพลเมือง ซึ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานต่างๆ ของรัฐได้ บ่อยครั้งที่พวกเขาถูกสังคมผลักให้กลายเป็นคนชายขอบและถูกแยกออกจากสังคมไปในที่สุด

 

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมานานกว่า 40 ปี คิดว่าปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติมีอยู่ในทุกประเทศ ขึ้นอยู่ที่ว่าแต่ละประเทศจะให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันมีผู้คนที่ตกอยู่ในภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลก

 

 

การถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนานเซ็นในปีนี้มีความหมายต่อครูแดงอย่างไร

“ก่อนอื่นอยากจะขอขอบคุณ UNHCR ที่ได้คัดเลือกให้เป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเพื่อที่จะเข้าชิงรางวัลนานเซ็นในปีนี้ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารกับสังคมเป็นไปได้อย่างกว้างขวางขึ้น ทำให้สังคมไทย รัฐบาลไทย หน่วยงานต่างๆ รวมถึงประเทศต่างๆ ในโลกได้รับรู้ถึงปัญหาของคนไร้รัฐไร้สัญชาติเพิ่มมากขึ้น รู้สึกภูมิใจที่มีคนรับรู้ถึงผลของสิ่งที่เราตั้งใจทำมาตลอด

 

“ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวเองเพียงคนเดียว การเข้าชิงรางวัลนานเซ็นในครั้งนี้เกิดขึ้นได้เพราะความร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ ในประเทศเรา ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมที่ทำให้มิติของการแก้ไขปัญหานี้มีความคืบหน้าไปมากตลอด 40 กว่าปีที่ได้ทำงานมา” ครูแดงเปิดใจกับ THE STANDARD

 

แรงบันดาลใจ อุปสรรค และความหวังต่อภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติในไทย

ครูแดงเล่าให้เราฟังว่า “เวลาไปพื้นที่ไหนๆ ก็มักจะมีคนเข้ามาบอกว่าเขาเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ กำลังมีปัญหา เราจะปล่อยให้พวกเขาเหล่านี้ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังและเผชิญปัญหาเหล่านั้นเพียงลำพังอย่างนั้นหรือ แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในการลดภาวะดังกล่าวนี้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคอีกไม่น้อยที่จะทำให้การผลักดันประเด็นนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก”

 

สำหรับอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงานที่ผ่านมาของครูแดง เรื่องแรกคือ ทัศนคติ คนในสังคมอาจจะมีทัศนะเชิงลบต่อคนที่เขาอพยพเข้ามา ซึ่งพอเข้ามาก็กลายเป็นคนไร้รัฐ คือไม่ได้ถูกสำรวจชื่อตามระบบทะเบียนราษฎรหรือยังไร้สัญชาติอยู่ มายาคติจะทำให้พวกเขาถูกมองว่าจะเข้ามาแย่งงาน แย่งทรัพยากร รวมถึงการใช้พื้นที่ในโรงพยาบาล ทำให้คนไทยต้องไปต่อคิวต่างๆ นานา ซึ่งเราจะเห็นการผลิตซ้ำข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังในลักษณะนี้อยู่เป็นระยะๆ

 

ถ้าทัศนคติเหล่านี้เปลี่ยนไปกลายเป็นว่า “เรามองมนุษย์ทุกคนไม่ใช่จากที่เขามีหรือไม่มีสัญชาติ แต่มองจากที่เขาเป็นมนุษย์ แล้วมองในเชิงบวก เราจะพบว่าพวกเขาก็เข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเราเช่นกัน”

 

 

เรื่องที่สองคือ ความไม่รู้ ความกลัว ความไม่กล้า จากทั้งเจ้าของปัญหาเองที่อาจจะมีการศึกษาน้อย เป็นคนที่ไม่รู้กฎหมาย รวมถึงจากตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่รู้จริงๆ เนื่องจากกฎหมายมีหลายฉบับที่ซับซ้อนและไม่กล้าที่จะตัดสินใจ

 

เรื่องที่สามคือ ระบบ ถ้าเรามีระบบงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการจัดสรรบุคลากรและทรัพยากรไปในพื้นที่ที่มีปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติได้ เราก็จะแก้ปัญหานี้ได้ดีขึ้น บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ในหลายพื้นที่เข้ามารับภาระงานโดยตำแหน่งมาอยู่ที่นี่ แต่ต้องทำเรื่องนี้ทั้งที่ไม่ได้มีใจรัก ก็อาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทำงาน การสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งก็จะยิ่งส่งผลทำให้การงานไม่ต่อเนื่อง และหลายภาคส่วนก็มีเรื่องของตัวเงินและการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง

 

ที่สำคัญคือการพิจารณาเรื่องคนไร้รัฐไร้สัญชาติไม่ควรขึ้นอยู่กับดุลพินิจ แต่ควรจะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมดทุกอำเภอ ทุกสำนักทะเบียน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยควรจะยกเครื่องในเรื่องนี้จากที่ดีอยู่แล้วให้กลายเป็นดีเลิศ

 

เรื่องสุดท้ายคือ นโยบายและกฎหมาย อาจจะยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ต้องพิจารณาทบทวนเรื่องนี้ให้ละเอียดรอบคอบ เช่น ในกรณีร้องขอสัญชาติหรือแปลงสัญชาติมาเป็นสัญชาติไทยมีเกณฑ์ต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือจะต้องเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ เช่น กรณีของ อาจารย์อายุ นามเทพ อาจารย์ประจำคณะดุริยศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่พาคณะนักร้องประสานเสียงไปคว้ารางวัลชนะเลิศยังต่างแดน หรือในกรณีของ หม่อง ทองดี แชมป์การร่อนเครื่องบินกระดาษประเภททีมผสมที่ประเทศญี่ปุ่น แต่คำถามสำคัญคือต้องสร้างชื่อเสียงหรือทำความดีและคุณประโยชน์แค่ไหนจึงเพียงพอที่จะผ่านเกณฑ์นั้นๆ เป็นต้น

 

 

“หลายเรื่องเป็นความคืบหน้ามากๆ ของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นแนวหน้าของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่เราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เราจะเสนอให้รัฐบาล ภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งสังคมไทยได้มีทัศนะเชิงบวกต่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และร่วมกันแก้ไขปัญหาให้หมดไป ไม่ใช่จากแค่ประเทศไทยหรือเอเชียแปซิฟิก แต่จากทั่วทั้งโลก โดยให้เขาถูกรวมเข้ามาเป็นพวกเดียวกับคนอื่นๆ ไม่ใช่ว่าถูกกีดกันออกไปเป็นคนชายขอบอย่างที่แล้วๆ มา”

 

(จากซ้ายไปขวา) กมลรัตน์ จิระพงศ์วัฒนา ตัวแทนภาคเอกชน, เตือนใจ ดีเทศน์, เพีย พากีโอ UNHCR ประเทศไทย

 

ด้าน เพีย พากีโอ รักษาการผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ระบุว่าการถูกเสนอชื่อของครูแดง รวมถึงการชูประเด็นเรื่องคนไร้รัฐไร้สัญชาติในเวทีประกาศรางวัล Nansen Refugee Award ในปีนี้จะเป็นมิติใหม่ที่เราจะได้มุ่งไปเพื่อให้การทำงานด้านนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย แต่รวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งคนไร้รัฐไร้สัญชาติกว่า 1 ใน 3 เป็นเด็ก ซึ่งยิ่งทวีความสำคัญที่จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไปจากประชาคมโลก ก่อนที่ปัญหานี้จะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นและทำให้มิติของปัญหามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

 

โดยการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล Nansen Refugee Award 2018 จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 กันยายนนี้ และจะมีพิธีมอบเหรียญรางวัลที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2018

 

ไม่ว่าครูแดงจะได้รับรางวัลในครั้งนี้หรือไม่ แต่เราเชื่อว่าครูแดงจะยังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิของคนไร้รัฐไร้สัญชาติต่อไป เช่นเดียวกับที่ครูแดงตั้งใจทำมาตลอด 40 กว่าปีที่ผ่านมา

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising