เมื่อวานนี้ (17 กันยายน 2562) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการและเสวนาประจำปี 2562 ของสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย หรือ TUDA 2019
โดยปีนี้สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘City Walk by Urban Design เมืองออกแบบ คนออกเดิน’ มีเป้าหมายสร้างความรู้ ความเข้าใจ และช่วยปลุกจิตสำนึกสังคมและทุกภาคส่วนถึงโครงการพัฒนาเมืองที่เน้นสภาพแวดล้อมการเดินเท้า
“การแก้ปัญหาของเมืองไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความเข้าใจและความสามารถในการใช้กระบวนการด้านนโยบาย และด้านการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่สามารถเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยจะมีรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินกว่า 300 สถานี การพัฒนาเมืองโดยเฉพาะสถานีเหล่านี้ ด้วยแนวคิด ‘การเดินเท้า’ จึงเป็นเรื่องสำคัญและร่วมสมัยเป็นอย่างยิ่ง ที่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจระดับจุลภาคในพื้นที่ต่างๆ ได้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ขณะเดียวกัน ผศ.ดร.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานจัดงาน TUDA 2019 กล่าวว่า นิทรรศการ TUDA 2019 มีเป้าหมายจุดประกายให้สังคม หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เห็นถึงความสำคัญของโครงการพัฒนาเมือง เพื่อสนับสนุนการเดินเท้าในพื้นที่เขตเมือง ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม สร้างสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน สถาบัน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง 15 องค์กร ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ มีศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง เป็นผู้ออกแบบเนื้อหานิทรรศการหลัก นำเสนอดัชนีเมืองเดินได้ (GoodWalk Index) ในกรุงเทพฯ และเมืองรองทั่วประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญจากโครงการ ‘เมืองเดินได้ เมืองเดินดี’ (Goodwalk Thailand) ข้อมูลดังกล่าวสามารถต่อยอดสู่การสร้างเมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินเท้าได้ต่อไปในอนาคต
“สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยได้เล็งเห็นถึงความสําคัญของการเดินเท้า ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่พื้นฐานของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินเท้าภายในเขตพื้นที่เมือง จะว่าไปข้อโต้แย้งว่าทำไมเมืองต้องเดินได้-เดินดี แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับความสวยงาม แต่เป็นเรื่องของสุขภาวะของคน สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เมืองที่เดินได้-เดินดี ลดโอกาสที่จะเป็นโรคอ้วนถึง 10% สำคัญกับกรุงเทพฯ ที่สถิติคนเป็นโรคอ้วนถึง 44% เมืองที่เดินได้-เดินดี ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทางอากาศ และ PM2.5
“เมืองที่เดินได้-เดินดี ส่งเสริมความรู้จักมักคุ้นของคนกับย่าน นั่นคือ ความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและเมือง นำไปสู่ความเป็นพลเมือง และสุดท้าย เมืองที่เดินได้-เดินดี กระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ภายใต้กระแสเศรษฐกิจเสรีนิยมและเศรษฐกิจฐานความรู้ อนาคตของเมืองขึ้นกับขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งหากเมืองยังเดินไม่ได้เดินไม่ดี ไม่มีความน่าดึงดูดแก่บริษัท แรงงานสร้างสรรค์มาลงทุนและทำงานในเมืองได้” ผศ.ดร.นิรมล กล่าว
ทางด้าน คธาทิพย์ เอี่ยมกมลา นายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย กล่าวว่า สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยจัดนิทรรศการและเสวนาประจำปีต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีเป้าหมายให้สังคมเห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพสถาปนิกผังเมือง และมีส่วนช่วยผลักดันให้โครงการพัฒนาเมืองประสบผลสำเร็จ ที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยได้จัดงานมาแล้ว 3 วาระ ประกอบด้วย TUDA 2015 เจ้าพระยา คลอง เมือง, TUDA 2016 City on the Move: ขับเคลื่อน เชื่อมต่อ และ TUDA 2017 กรุงเทพฯ เมืองสวรรค์ สร้างสรรค์มหานครแห่งระบบราง ตามลำดับ
โดยการจัดนิทรรศการประจำปี 2562 ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานด้านการพัฒนาเมืองหลายภาคส่วน
ทั้งนี้ สำหรับผู้สนใจสามารถเดินทางมาชมนิทรรศการ TUDA 2019 ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 23 กันยายน 2562 ณ ลานแฟชั่นฮอลล์ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
ร่วมฟังเสวนา ‘24 เมืองรองออกเดิน’ โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และ อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ในวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2562 เวลา 13.00-16.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์