×

อนาคตของนักศึกษาวิชาออกแบบ เมื่อการเรียนดีไซน์ไม่ใช่แค่เรื่องสวยๆ งามๆ แต่เป็นการคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาอย่างมีระบบ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
23.04.2018
  • LOADING...

หากเดินดุ่มเข้าไปถามคนวัยทำงานว่า ทุกวันนี้ได้ใช้ความรู้จากห้องเรียนสมัยมหาวิทยาลัยไหม คำตอบที่ได้รับจำนวนไม่น้อยคงจะเป็น ไม่ แถมเสริมได้อีกว่า ความรู้ตอนนั้นก็คืนอาจารย์ไปพร้อมชีตประกอบการเรียนทั้งหลายที่ส่งต่อให้รุ่นน้องสายรหัสนั่นแหละ

 

เพราะโลกหมุนไปอย่างรวดเร็วขึ้นทุกวัน ทักษะความรู้ที่ต้องใช้ในชีวิตจึงปรับเปลี่ยนเลื่อนไหลตามให้ทันเสมอ ชุดข้อมูลที่เคยใช่ในวันก่อนอาจไม่ใช่ในวันพรุ่งนี้อีกต่อไป ลำพังตัวเราเองอาจไม่ยากเท่าไรในการหมั่นอัปเดตข้อมูลใส่ตัวด้วยการท่องโลกออนไลน์ แต่สำหรับคณะและมหาวิทยาลัยล่ะ พวกเขาต้องคาดการณ์อนาคตล่วงหน้าได้ไกลแค่ไหนถึงจะสร้างหลักสูตรที่ทำให้ผู้เรียนอยู่รอดอย่างแข็งแกร่งในตลาดแรงงานของโลกยุคใหม่ที่อาจเปลี่ยนไปได้ในทุกครั้งที่กะพริบตา

 

แม้จะเพิ่งพ้นสถานะบัณฑิตมาในจำนวนปีที่นับนิ้วได้ไม่หมดมือ แต่เราก็แทบนึกไม่ออกว่าการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้เป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิชาของ ‘การออกแบบ’ เมื่อการดีไซน์ยุคนี้ไม่ใช่แค่เรื่องสวยๆ งามๆ แต่ก้าวข้ามไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และประสบการณ์ให้ผู้ใช้งาน

 

เพื่อไขข้อข้องใจ THE STANDARD จึงออกเดินทางไปถึงทุ่งรังสิต เพื่อพูดคุยกับ รองศาสตราจารย์เฉลิมวัฒน์ ตันตสวัสดิ์ คณบดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ รองคณบดีฝ่ายการสื่อสารกลยุทธ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแนวทางการสร้างนักออกแบบยุคใหม่ ทิศทางการปรับตัวของคณะและมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการสื่อสารกับพ่อแม่ในวันที่ชื่อคณะไม่ได้การันตีชื่ออาชีพอีกต่อไป

 

 

โลกปัจจุบันหมุนไปไวมาก เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตคนเยอะขึ้น อาจารย์มองว่านักออกแบบและสถาปนิกในยุค 4.0 ควรปรับตัวอย่างไรบ้าง

รศ.เฉลิมวัฒน์: ยุค 4.0 จริงๆ ก็เป็นยุคที่เราต้องมาสร้าง Innovation สร้างนวัตกรรม เดิมทีเราพูดกันเฉพาะการสร้างความสวยงาม หรือสร้างเพื่อตอบโจทย์การใช้สอยของผู้ว่าจ้าง ก็ต้องคิดถึงว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ใช้งานอย่างไร จะเห็นว่านักออกแบบที่ประสบความสำเร็จคือเขาไปสร้างประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค ยกตัวอย่างเครือ Apple หรือตึกทั้งหลายที่เขาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ใช้มีประสบการณ์ที่ดีกับผลิตภัณฑ์ ก็ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น เรียกว่านักออกแบบก็ต้องปรับตัวพอสมควร

 

ผศ.อาสาฬห์: เทคโนโลยีที่พูดถึงในที่นี้อาจจะกว้างมาก อย่างเช่นวัสดุศาสตร์ พูดถึงวัสดุในการก่อสร้างเป็นอาคาร พูดถึงเทคโนโลยีที่เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม เดี๋ยวนี้มี VR สถาปนิกก็ออกแบบและขายคอนโดฯ กันด้วย VR เทคโนโลยีที่พูดถึงกันนี้มันกว้างมาก นักออกแบบก็ต้องมีความสามารถในการเลือกใช้เทคโนโลยีมาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ เรามี 3D Printer, 3D Scanner อะไรต่างๆ ก็เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักออกแบบออกแบบได้ดีขึ้นจากสมัยก่อน

 

แล้วแนวทางการปรับตัวของคณะสถาปัตย์ฯ ธรรมศาสตร์ เป็นอย่างไร

รศ.เฉลิมวัฒน์: คณะสถาปัตย์ฯ เรามีวิสัยทัศน์คือ Shape Future Living เราจะออกแบบการอยู่อาศัยแห่งอนาคตให้กับผู้คน จากคำคำนี้ แน่นอนว่าเราต้องมาสร้างนวัตกรรมหรือ Innovation การปรับตัวของเราคือการหาของใหม่ๆ รวมทั้งหลักสูตร วิธีการเรียนรู้ สถานที่ใหม่ที่สามารถปั้นคนที่จะมาอยู่ในยุคใหม่ของเราได้ ทีนี้เราเชื่อว่าการสร้างนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณรู้หลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เราก็ต้องสร้างความร่วมมือ

 

กลยุทธ์อย่างหนึ่งของเราก็คือการมี Collaboration กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคการผลิต ภาคเอกชน เช่น เราไปนั่งเรียนร่วมกับแสนสิริ ศุภาลัย บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ เอาประสบการณ์ของคนในบริษัทเหล่านั้นมาช่วยเหลือ เอาโจทย์ของเขามาใช้ ให้นักศึกษาเราไปเรียนรู้ ไปดูพื้นที่จริง ได้ออกแบบตึกของจริงซึ่งมันเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากอดีต แล้วคณาจารย์กับบุคลาการของแสนสิริก็ช่วยกันตรวจ นักศึกษาก็จะได้ประสบการณ์เยอะ ได้รู้จักคน ได้รู้ว่าในกระบวนการทำงานจริงต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง นี่คือการเรียนรู้ร่วมกัน

 

ในระดับมหาวิทยาลัยเราก็เรียนรู้ข้ามหลักสูตร ข้ามคณะ สถาปัตย์-พาณิชย์ สถาปัตย์-รัฐศาสตร์ สร้างเป็นหลักสูตรที่เรียนรู้ข้ามศาสตร์กัน นี่คือการปรับตัวของเรา เราอยู่กับการออกแบบอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องเรียนรู้หลายๆ อย่าง หรือด้านความร่วมมือกับสถาบันต่างประเทศ เราก็ต้องคิดว่าเด็กต้องออกไปเห็นโลกเยอะๆ ดังนั้น อย่างง่ายเราก็จะทำเวิร์กช็อปให้กับนักศึกษา ทุกซัมเมอร์เขาสามารถไปแลกเปลี่ยนดูงานต่างประเทศได้ อันนี้ก็คือเรื่อง Collaboration

 

อีกอันที่พูดถึงเมื่อกี้คือเรื่องเทคโนโลยี เราก็พยายามเน้นให้การเรียนรู้ของเรานำด้วยเทคโนโลยี หรือ Technology-driven คือเราต้องมีพื้นที่หรือระบบซึ่งให้เทคโนโลยีทั้งหลายเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมด ก็จะนำไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ภายในคณะซึ่งเราปรับขึ้นมากมาย

 

พื้นที่ใหม่ๆ นั้นมีอะไรบ้าง

รศ.เฉลิมวัฒน์: ตอนนี้ที่ทำเสร็จและใกล้จะเสร็จแล้วมีอยู่ 3 พื้นที่ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ก็มาจากระบบการเรียนรู้ซึ่งเราคิดว่ามันต้องครบวงจร หนึ่งคือ นักออกแบบต้องเริ่มจากการคิดก่อน การคิดสมัยใหม่คือต้อง Brainstorm ทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม ทำงานร่วมกับคนอื่น มันก็นำไปสู่พื้นที่ที่เรียกว่า Design Future Lab เป็นเหมือนแฟลกชิปโปรเจกต์ที่เกิดจากการที่นักศึกษาชอบไปทำงานนอกหลักสูตรกัน เราก็สร้างพื้นที่ให้ทดลอง ทำหน้าที่เป็นโค้ช ช่วยสร้างพาร์ตเนอร์ให้เขา โปรเจกต์ไหนที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ เราก็หาภาคเอกชนมาช่วยมาร่วมทุนกับเขา

 

 

จากพื้นที่ที่เขาคิดผลิตภัณฑ์ขึ้นมาได้ ต่อไปก็ต้องสร้างม็อกอัพ สร้าง Prototype เราก็มีพื้นที่ที่เรียกว่า CLICK หรือ Creative Lab for Innovation Conceptual Knowledge ซึ่งมีอุปกรณ์ไฮเทคอย่าง 3D Printing, 3D Scanner, Laser Cutter เพื่อให้สิ่งที่พวกเขาคิดสามารถสร้างขึ้นมาเป็นต้นแบบ เห็นเป็นรูปเป็นร่างได้จริง

 

 

พอคิดขึ้นได้ สร้างต้นแบบได้ การศึกษาบางอย่างมันต้องการการเข้าไปมีประสบการณ์ในพื้นที่ สมมติเขาออกแบบคอนโดฯ แล้วอยากรู้ว่าห้องเขากว้างใหญ่แค่ไหน เราก็มีพื้นที่ที่เรียกว่า Digital Media Space เป็นพื้นที่กว้างๆ ที่มีโปรเจกเตอร์ 20 ตัวฉายภาพลงมาบนพื้นและผนังให้เห็นในมาตราส่วน 1:1 ทั้ง 360 องศาเลย เขาก็จะรู้ว่าสิ่งที่เขาออกแบบใหญ่พอไหม เล็กไปไหม ใช้งานได้จริงไหม นี่คือลักษณะพื้นที่สมัยใหม่ซึ่งสะท้อนการเรียนรู้ครบวงจรรูปแบบใหม่ในการออกแบบ

 

 

แปลว่านักศึกษาจะไม่ต้องตัดโมเดลกันข้ามคืนอีกต่อไป

รศ.เฉลิมวัฒน์: (หัวเราะ) การตัดโมเดลก็ยังต้องมีอยู่นะ คือนอกจากเราจะได้เห็นงานเป็นสามมิติ มันคือการฝึกสกิลอย่างหนึ่ง จริงๆ การตัดโมเดลมันสามารถตัดอย่างง่ายๆ เร็วๆ เพื่อทดสอบไอเดียที่คิดไปให้เรามองเห็นได้โดยรอบ แน่นอนว่าคุณสามารถทำภาพดิจิทัลสามมิติขึ้นมาก็ได้ แต่สกิลการตัดกระดาษ การติดกาว พวก Hands-on ก็ยังสำคัญกับนักออกแบบอยู่

 

นักศึกษาวิชาออกแบบยุคนี้มีสกิลอะไรแตกต่างกับยุคก่อนหน้าบ้าง

รศ.เฉลิมวัฒน์: นักศึกษาเจเนอเรชันนี้จะโดดเด่นเรื่องความกล้าแสดงความคิดเห็น Multitasking และการเข้าถึงเทคโนโลยีทั้งหลาย บางเรื่องถ้าให้เราหาข้อมูลเองคงหานานมาก แต่เขาสามารถทำได้แบบปุ๊บปั๊บ แล้วเขามีสกิลที่สามารถทำหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ เรียนไปแชตไป ทำหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ แต่ได้ดีหรือเปล่าก็อีกเรื่อง (หัวเราะ) แต่ด้านความอดทนเขาจะน้อยลงไป เป็นสิ่งที่เราต้องเติมให้เขา อย่างการตัดโมเดลก็เป็นการฝึกความอดทนอย่างหนึ่ง

 

คนยุคใหม่มักจะคิดว่าถ้าเรามีไอเดียเจ๋งๆ ขึ้นมาอย่างหนึ่ง ไปเริ่มเป็นสตาร์ทอัพแล้วมันก็จะประสบความสำเร็จได้ แต่จริงๆ แล้วสตาร์ทอัพที่ล้มก็มี คิดเป็นสัดส่วนที่เยอะกว่าคนที่ประสบความสำเร็จอีก คนรุ่นใหม่หลายคนอยากเป็นผู้ประกอบการเอง เป็นเจ้านายของตัวเองและมีลูกน้อง เจ้านายจะต้องรู้ก่อนว่าสิ่งที่ทำคืออะไร เคยผ่านงานเหล่านี้มาก่อน คนที่อยู่ๆ จะเป็นเจ้านายเลยโดยไม่เคยผ่านงานเหล่านี้มา โอกาสที่จะล้มก็มีเยอะ เพราะไม่รู้ว่ามันทำยังไง ไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นยังไง

 

 

การมีพื้นที่การเรียนรู้อย่าง Design Future Lab, CLICK และ Digital Media Space สำคัญกับนักศึกษาวิชาออกแบบอย่างไร

ผศ.อาสาฬห์: อย่าง Design Future Lab จริงๆ มันก็เกิดจากว่าเราอยากผลักดันเรื่อง Design Incubator ให้เด็กหัดคิดเพื่อต่อยอดได้ ตอนแรกเราก็คิดว่าจะแทรกเข้าไปยังไง จะไปโยนในวิชาเรียนเหรอ ในโปรเจกต์สตูดิโอเหรอ ซึ่งงานก็เยอะอยู่แล้ว เด็กก็เหนื่อย ทำแล้วก็ดูไม่แฮปปี้ เราเลยลองดึงออกมาข้างนอก เป็นอะไรที่เขาอยากทำจริงๆ แล้วให้เขาเสนอไอเดียขึ้นมา อย่างบางกลุ่มที่มีไอเดียด้านการจัดอีเวนต์ต่างๆ ก็ลองให้เขาดึงขึ้นมาทำดู แล้วเราก็ช่วยโค้ชไปเรื่อยๆ มันก็จะได้พื้นที่การเรียนรู้แบบใหม่ๆ ให้กับเด็กที่สนใจและทำจริงๆ

 

รศ.เฉลิมวัฒน์: ทั้งสามห้องที่ทำขึ้นใหม่นี้ไม่อยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของวิชาเรียนเลย เป็นกิจกรรมนอกหลักสูตร ในอนาคตเรามองว่าพื้นที่การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในห้องอีกต่อไป ทุกตารางนิ้วสามารถใช้ในการเรียนรู้ได้หมด

 

ผศ.อาสาฬห์: เดิมเราแยกเป็นห้อง เป็นชั้นปี แต่ถ้าเกิดเรามีพื้นที่ที่ไม่มีขอบเขตพวกนี้เลยล่ะ ไม่มีเส้นกั้นระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา นักศึกษาอาจเรียนรู้จากการทำงานกับอาจารย์ หรือนักศึกษารุ่นน้องเรียนจากรุ่นพี่ พี่เรียนจากน้อง น่าจะทำให้ได้โจทย์อะไรใหม่ๆ ในการออกแบบเพิ่มขึ้น

 

 

อะไรที่ทำให้นักออกแบบที่จบจากคณะสถาปัตย์ ธรรมศาสตร์ แตกต่างจากที่อื่นๆ

รศ.เฉลิมวัฒน์: ในชื่อภาษาอังกฤษเราเรียกตัวเองว่าเป็น Thammasat Design School คือถ้าแปลตรงๆ สถาปัตย์มันคือ Architecture แต่เราขยายจาก Architecture ไปเป็น Design สถาปัตย์มันใช้การออกแบบเป็นสกิลหลักอยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปเน้นเฉพาะตัวสกิลคือดีไซน์เนี่ย มันก็จะขยายขอบเขตของการใช้กระบวนความคิดทางการออกแบบไปอีกเยอะเลย

 

ผศ.อาสาฬห์: คือมันมีการถกเถียงที่บอกว่าสถาปัตยกรรมมันตอบรับกับอุตสาหกรรมเท่านั้น ในยุคหนึ่งคนต้องการที่อยู่อาศัยก็เลยต้องมีตัวสถาปัตยกรรมเป็นอาคาร แต่ถ้าเรากลับไปดูหัวใจของการเรียนการสอนหรือการปฏิบัติ อาชีพการเป็นสถาปนิกจริงๆ คือการออกแบบ ซึ่งถ้าเรามองว่าการออกแบบในปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องของการตัดกระดาษทำอะไรสวยๆ งามๆ แล้ว แต่มันคือการคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาอย่างมีระบบ ถ้าเรามองว่าการดีไซน์อยู่ในบริบทแบบนี้ การออกแบบก็สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกเรื่องที่ไม่ใช่แค่สถาปัตยกรรมอย่างเดียว

 

รศ.เฉลิมวัฒน์: พอเราขยายตัวเองออกไปแบบนั้น เราก็เลยทำหลักสูตรที่ไม่ใช่สถาปัตย์ ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตรการจัดการการออกแบบ ซึ่งผนวกเรื่องของธุรกิจ เทคโนโลยี ร่วมกับคณะพาณิชย์ สร้างเป็นหลักสูตรใหม่ อันนี้ก็ไม่ได้ออกแบบอาคารแล้ว แต่ขยายบทบาทตัวเราเองออกไปจากเดิมที่สถาปัตย์หมายถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมอย่างเดียว มันไปไกลกว่านั้นเยอะ ทั้งออกแบบผลิตภัณฑ์ บริการ ระบบทั้งหลาย ซึ่งเรามองตัวเองตั้งแต่ 5 ปีที่แล้วว่าเราต้องก้าวข้ามไป

 

พอวางตัวเป็น Design School ในอนาคตจะมีหลักสูตรเกี่ยวกับการออกแบบเพิ่มขึ้นไหม เพราะธรรมศาสตร์เองก็ยังไม่มีคณะที่เน้นด้านดีไซน์จริงจังเลย

รศ.เฉลิมวัฒน์: ผมมองว่าต่อไปนี้การสร้างหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยตัวคุณเองเพียงลำพังจะไม่ตอบโจทย์สังคมแล้ว เพราะสังคมอนาคตมันเป็นการเชื่อมโยงหลายๆ ศาสตร์ หลักสูตรใหม่ๆ ที่เราพูดถึงมันต้องจับคู่กันอย่างน้อย 2-3 คณะขึ้นไป และเป็นหลักสูตรที่มีประโยชน์จริงๆ ถ้าอยู่ๆ แต่ละคณะลุกขึ้นมาบอกว่าฉันจะสร้างหลักสูตรใหม่ๆ ก็อาจถูกมองว่าจะทำเพื่ออะไร มันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์สังคมที่แท้จริง เพราะวิชาการทุกอย่างในโลกนี้มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ถ้าเราอยู่นิ่งๆ ลำพังแต่ละคณะ กอดศาสตร์ของตัวเองไว้แน่น มันไม่เกิดประโยชน์

 

ผศ.อาสาฬห์: มันเหมือนเป็น Dilemma นิดๆ เพราะแต่ละคณะมันเริ่มจากพื้นฐานของการมีระบบระเบียบเป็นของตัวเอง แต่ในโลกปัจจุบันและโลกอนาคต สถานการณ์มันไม่ได้เกิดตามระบบระเบียบ เพราะฉะนั้นเวลาจะแก้ปัญหามันก็เชื่อมโยงกันไปหมด ยกตัวอย่าง สังคมผู้สูงอายุที่ไทยจะต้องเจออีก 10-20 ปีข้างหน้า มันไม่ใช่แค่ปัญหาเชิงกายภาพอย่างเดียว แต่เราจะสร้างคอมมูนิตี้ยังไง มันเป็นโจทย์ที่กว้างขึ้น

 

การชวนคณะอื่นๆ มาสร้างหลักสูตรร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น Design, Business and Technology Management และหลักสูตรการผังเมือง-รัฐศาสตร์ มีที่มาที่ไปอย่างไร

ผศ.อาสาฬห์: มันเกิดจากการมองเห็นตรงกันของหลายฝ่าย คณะสถาปัตย์กับพาณิชย์ก็เห็นตรงกันว่าการนำเอาทักษะทางด้านการออกแบบที่สร้างความสามารถในการคิดไอเดียใหม่ๆ มาบวกกับความสามารถในการคิดเชิงการจัดการและธุรกิจ ก็จะต่อยอดให้เกิดนวัตกรรมได้

 

รศ.เฉลิมวัฒน์: คณะสถาปัตย์กับรัฐศาสตร์ก็เช่นกัน คณะสถาปัตย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพ หลักสูตรการผังเมืองของคณะจึงเน้นการวิเคราะห์และการจัดการเชิงกายภาพเป็นหลัก แต่เมื่อนำเอามาผนวกกับศาสตร์ทางด้านการจัดการเชิงนโยบายบนพื้นฐานของสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญของคณะรัฐศาสตร์ ก็จะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการชุมชนเมืองที่ครอบคลุมในทุกมิติทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างอนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

 

นักศึกษาที่จบไปไม่ต้องเป็นสถาปนิกอย่างเดียวใช่ไหม

ไม่จำเป็น เราเชื่อว่าเด็กของเราที่จบไปจะพูดถึงเรื่องการสร้างโจทย์ใหม่ๆ มีความเป็นผู้นำในการสร้างนวัตกรรมที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของคนในอนาคต และดีเอ็นเอของเด็กธรรมศาสตร์จะมีความเป็นกบฏ มองว่าของเดิมที่มีอยู่นี้มีปัญหาอะไร จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร ไม่มองบนกรอบแบบเดิมๆ

 

เป้าหมายของคณะคืออะไร

รศ.เฉลิมวัฒน์: เป้าหมายของเราคือการผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์ยุคสมัยแห่งอนาคต ปกติการสร้างหลักสูตรคือการคาดการณ์อนาคตในอีกสักสิบปีข้างหน้า เพราะกว่าจะผลิตบัณฑิตออกมาได้แต่ละรุ่นก็ต้องมีการร่างหลักสูตร เปิดรับนักศึกษา กว่าเขาจะเรียนจบอีก 5 ปี เราก็วางเป้าหมายว่าจะผลิตนักศึกษาที่ก้าวไปเป็นผู้นำในวิชาการของเขาในสังคม สร้างนวัตกรรมได้

 

 

ปัญหาที่เกิดกับเด็กไทยทุกยุคสมัยคือไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ควรเรียนอะไร จบไปแล้วจะทำอะไร อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร

ผศ.อาสาฬห์: มันเหมือนไก่กับไข่แหละ คือเราเลือกเรียนอันนี้เพราะอยากไปเป็นอันนี้ หรือจริงๆ เรายังไม่รู้หรอกว่าเราจะเป็นอะไร แล้วเราก็เรียนไปเรื่อยๆ เพื่อค่อยๆ สั่งสมความรู้แล้วนำไปใช้ ผมว่าการเรียนยุคนี้ไม่ได้เน้นความเป็นวิชาชีพเหมือนเดิม เพราะในโลกอนาคตมันอาจจะมีตำแหน่งงานหรือ Job Description ที่มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างปัจจุบันเราเห็นตำแหน่งงานที่ไม่เคยมีเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นสถาบันการศึกษาก็ควรจะฝึกให้คนมีความรู้ความสามารถในเชิงของการคิดอย่างเป็นระบบ หรือสามารถเชื่อมโยงโลกในอนาคตได้ ผมว่านี่เป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องทำ

 

รศ.เฉลิมวัฒน์: โดยเฉพาะหลักสูตรใหม่ๆ ที่เราทำขึ้น อย่างการจัดการการออกแบบ เราเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่แรกในเอเชียด้วยซ้ำ ตอนนี้เด็กยังถามว่าจบไปแล้วทำอะไร เพราะมันเป็นศาสตร์ใหม่ในตลาดงานจริงๆ ตำแหน่งที่จะมารองรับตรงๆ อาจจะมีไม่เยอะ ดังนั้นการเรียนตอนนี้คือเรียนรู้ศาสตร์ของมัน

 

ผศ.อาสาฬห์: ถ้าเราไม่ผลิตคนพวกนี้ อนาคตเราก็จะไม่มีคนที่คิดอะไรใหม่ๆ

 

รศ.เฉลิมวัฒน์: ผมเคยบอกนักศึกษาว่า สิ่งที่เราเรียนรู้วันนี้ ในตลาดอาจยังไม่มีตำแหน่งงานรองรับ พวกเราจบไปต้องเขียน Job Description ให้ตำแหน่งของเราเอง ต้องไปโน้มน้าวบริษัทว่านี่คือตำแหน่งที่จำเป็นสำหรับบริษัทคุณ บัณฑิตที่จบไปต้องมีความมั่นใจในวิทยายุทธของตัวเองว่าจะเป็นประโยชน์กับบริษัท ซึ่งตลอด 18 ปีที่ผ่านมามันก็พิสูจน์ได้ว่าบัณฑิตที่เราผลิตออกไปนั้นมีคุณูปการใหม่ๆ ให้กับสังคม กับแวดวงนักออกแบบ เช่น ถ้าไปเป็นสถาปนิกก็จะมีความรู้เฉพาะด้านที่พิเศษกว่าคนอื่น มองกรอบของการออกแบบได้กว้างขึ้น เริ่มเอากลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาผสม ก็จะได้ลักษณะของงานออกแบบที่แตกต่างออกไป

 

ในเมื่อเด็กเข้ามาเรียนแล้วอาจไม่ได้จบไปประกอบอาชีพตรงตามชื่อคณะ คุณจะบอกกับพ่อแม่อย่างไรว่าทำไมต้องเรียนคณะนี้

ผศ.อาสาฬห์: ผมคิดว่าโลกอนาคตจะเปลี่ยนแปลงเร็วกว่านี้ ปัจจุบันเราเห็น Gen X มาถึง Gen Y เราเห็นว่าโลกมันเปลี่ยน ผมว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนเร็วขึ้น เพราะฉะนั้นความรู้ชุดหนึ่งในวันนี้ พรุ่งนี้มันอาจจะไม่ใช่อีกต่อไป สิ่งที่มันเป็นซอฟต์สกิลต่างหากล่ะ เด็กที่สามารถปรับตัวรับความรู้ใหม่ๆ หรือเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เก่าเข้าด้วยกันได้ หาความรู้ได้ ตั้งคำถามตลอดเวลา สกิลเหล่านี้อาจเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ

 

รศ.เฉลิมวัฒน์: เราต้องคาดหวังถึงผู้ปกครองยุคใหม่เหมือนกันนะ เราต้องสื่อสารกับผู้ปกครองที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกับเรา มีมุมมองต่ออนาคตตรงกัน ซึ่งมันยังไม่มีอะไรรองรับหรอก แต่รู้ว่านี่แหละ รุ่งแน่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X