×

‘ธรรมศาสตร์-บ้านปู’ ปั้นนวัตกรผ่านการสร้างบอร์ดเกมแก้ไขปัญหาสังคม พร้อมส่อง Survivors from Black Snow บอร์ดเกมปลุกจิตสำนึกลดละการเผาอ้อย [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
04.06.2021
  • LOADING...
Survivors from Black Snow

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) สานต่อเจตนารมณ์สร้างนวัตกรรุ่นเยาว์ด้วยกระบวนการ Design Thinking ผ่านการออกแบบบอร์ดเกมในโครงการ ‘ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่นที่ 2’ 
  • จาก 132 ทีมที่สมัครเข้าร่วม คัดเหลือเพียง 14 ทีมที่ผ่านการพัฒนาเสริมทักษะต่างๆ จนออกมาเป็น 14 บอร์ดเกมแก้ไขปัญหาสังคมจาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การพัฒนาสังคม การดูแลสุขภาพ และวัยรุ่นศาสตร์

“ไม่คิดเลยครับว่าบอร์ดเกมที่เล่นกับเพื่อนจะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาสังคมได้” เสียงสะท้อนจากนวัตกรรุ่นเยาว์ที่เข้าร่วมโครงการ ‘ออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่นที่ 2’ โครงการที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะนวัตกรรุ่นเยาว์ให้มีทักษะการคิดเชิงออกแบบและการคิดอย่างสร้างสรรค์ อันเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเป็นนวัตกร เพื่อให้เป็นผู้ที่ริเริ่ม ประดิษฐ์ คิดค้น และสร้างสรรค์เครื่องมือหรือกระบวนการที่เป็นนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทในการพัฒนาตนเอง องค์กร และผลักดันไปยังการพัฒนาสังคม   

 

Survivors from Black Snow

 

นับตั้งแต่ปี 2560 ที่โครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่นที่ 1 ประกาศเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมนวัตกรและขับเคลื่อนการเรียนรู้ผ่านกระบวนการฝึกฝน พัฒนา และผลิตเกมการเรียนรู้ เพื่อร่วมกันหาวิธีเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้น

 
ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการดำเนินกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของบ้านปูที่ว่า ‘พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา’ โครงการฯ รุ่นที่ 1 สามารถสร้างสรรค์บอร์ดเกมแก้ไขปัญหาสังคมออกมาได้ถึง 20 ประเด็น และบอร์ดเกมเหล่านั้นได้ถูกนำไปต่อยอดใช้งานกับกลุ่มเป้าหมายจริง รวมถึงเป็นสื่อการเรียนการสอนในหลากหลายมิติ 


บ้านปูจึงสานต่อเจตนารมรณ์สร้าง ‘นวัตกร’ ผ่านโครงการออกแบบบอร์ดเกม ออกแบบสังคม อย่างต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 

 

จาก 132 ทีมที่สมัครเข้าร่วมโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่นที่ 2 ผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มข้น จนได้ 14 ทีมสุดท้ายเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อติดอาวุธทักษะทางความคิดและนำไปพัฒนาและสร้างสรรค์บอร์ดเกมแก้ไขปัญหาสังคม

 

ติวเข้มทักษะ Design Thinking พร้อมลงพื้นที่จริงเพื่อพัฒนาเกมต้นแบบ

ก่อนที่จะออกแบบเกมเพื่อนำไปสู่การออกแบบสังคม ทั้ง 14 ทีมได้ผ่านการบ่มเพาะทักษะต่างๆ ที่จำเป็นแก่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่อย่างทักษะความคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่สามารถช่วยแก้ไขประเด็นปัญหาได้ถูกจุด ตรงวัตถุประสงค์ ตลอดจนสามารถพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ เพื่อนำมาตกผลึกและพัฒนาออกมาเป็นบอร์ดเกมแก้ไขปัญหาสังคมตามความสนใจของแต่ละทีม นอกจากนี้ทั้ง 14 ทีม ยังได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบกลไกเกมแบบเจาะลึกและเทคนิคการพัฒนาคู่มือเกม (Rule Book) จากเหล่านักพัฒนาบอร์ดเกม ซึ่งเป็นกูรูที่คร่ำหวอดในวงการบอร์ดเกมมาอย่างยาวนาน เพื่อนำไปพัฒนาเกมต้นแบบ (Game Prototype) ให้ออกมามีความสนุกและน่าสนใจอีกด้วย

 

Survivors from Black Snow

 

จากเกมต้นแบบสู่สนามจริง

จากการอบรมและพัฒนาเกมต้นแบบอย่างขะมักเขม้นมาอย่างยาวนาน สู่การนำเกมออกเผยแพร่ให้สาธารณชนทั่วไปทดลองเล่นเป็นครั้งแรกในงาน ‘GAMES & LEARNING 2020’ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2563 ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ ชั้น 7 สยามสแควร์วัน ถือเป็นด่านท้าทายทั้ง 14 ทีมเป็นอย่างมากที่จะต้องทดลองนำเกมอย่างเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก ซึ่งจากงานในวันนั้นทุกทีมได้เก็บเอาจุดอ่อนของเกมหรือกลไกที่ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้มาปรับปรุงให้เกมสมบูรณ์มากที่สุด ก่อนที่จะไปพบกับด่านสำคัญนั่นคือลงพื้นที่นำบอร์ดเกมไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายจริงในกิจกรรม ‘Onsite-Implementation’ ในฐานะ ‘เครื่องมือการเรียนรู้และแก้ไขปัญหา’ ทำให้กลุ่มเป้าหมายได้ตระหนักถึงปัญหาและวิธีการแก้ไขต่างๆ เหล่านั้นผ่านการเล่นบอร์ดเกม พร้อมกับการประเมินผลจากเหล่าคณะกรรมการ ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดศักยภาพของนวัตกรและคุณภาพของบอร์ดเกมที่พวกเขาสร้างขึ้น 

 

Survivors from Black Snow

 

ส่องบอร์ดเกม Survivors from Black Snow เขม่าควันอ้อย

น้องๆ ทีม The Last Hope (สุพิชญา สุพิชยา, มนัสชนก คำสร้อย, ศรุต อินทร์แก้ว และ พงษ์เพชร สิงห์แก้ว) จากโรงเรียนวัชรวิทยา จังหวัดกำแพงเพชร ผู้ออกแบบบอร์ดเกม Survivors from Black Snow เกมในประเด็นพัฒนาสังคม เรื่องปัญหาเขม่าควันอ้อย ตัวแทนนวัตกรรุ่นเยาว์ผู้เข้าร่วมโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2 เล่าว่า “การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีในชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะได้รับการเสริมทักษะกระบวนการคิดที่เป็นประโยชน์อย่าง Design Thinking เราเคยได้ยินแต่ไม่เคยรู้วิธีนำมาปรับใช้หรือลงมือใช้งานจริง ตอนเริ่มพัฒนาบอร์ดเกม Survivors from Black Snow เราหยิบเอาประเด็นใกล้ตัวเราอย่างปัญหาเขม่าควันจากการเผาอ้อย เพราะในชุมชนรอบข้างมีอาชีพเกษตรกรปลูกอ้อยเป็นหลัก ซึ่งในตอนเริ่มต้นทีมเรายังมีมุมมองกับปัญหาที่อาจจะโฟกัสแค่จุดเดียวอยู่ ทำให้เกมที่สร้างออกมายังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้ทั้งหมด แต่พอเราเปลี่ยนมาใช้ทักษะการคิดแบบ Design Thinking ทำให้เรามองเห็นปัญหาในอีกหลายมิติ รวมถึงมองเห็นแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการพัฒนาบอร์ดเกมให้ต่างออกไปจากเดิมและครอบคลุมปัญหาในหลากหลายมิติมากขึ้น”

 

ทีม The Last Hope นวัตกรรุ่นเยาว์จากโรงเรียนวัชรวิทยา จังหวัดกำแพงเพชร

เจ้าของบอร์ดเกม Survivors from Black Snow

 

Survivors from Black Snow

 

ศรุต สมาชิกของทีม The Last Hope ยังบอกอีกว่า หลังจากนำบอร์ดเกม Survivors from Black Snow ซึ่งเป็นเกมที่หยิบยกเอาปัญหามลภาวะเขม่าควันอ้อยไปให้คนในชุมชนได้เล่น ก็สามารถสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาเขม่าควันอ้อยได้ตามที่คาดหวัง “ฟีดแบ็กที่ได้กลับมาคือเกมสื่อสารปัญหาได้ดี ผู้เล่นรับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาอ้อย บางคนเล่นแล้วก็เริ่มอยากจะหาทางแก้ปัญหา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

 

Survivors from Black Snow

 

เป้าหมายของเกม Survivors from Black Snow คือทำให้ผู้เล่นตระหนักถึงปัญหาของเขม่าควันที่เกิดจากการเผาอ้อยในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ทั้งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพของคนในพื้นที่ และแนวทางการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บผลผลิตให้เหมาะสม โดยจำลองแผนที่จังหวัดและอำเภอที่มีการเผาอ้อย สะท้อนจากข้อมูลจริง ซึ่งผู้เล่นทุกคนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างกันในการหาทางแก้ไขและทำให้พื้นที่ปราศจากปัญหาจากการเผาอ้อย

  

Survivors from Black Snow

 

มนัสชนก หนึ่งในสมาชิกของทีมฯ เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหามลภาวะเขม่าควันอ้อย การสูดดมเขม่าควันเป็นเวลานานนำไปสู่อาการภูมิแพ้ “ตัวเราเองได้รับผลกระทบ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาแก้ไข แต่พอคุยกับทีมและลงไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่า มีคนในชุมชนอีกมากที่เมินเฉยกับปัญหา เพราะเขาไม่รู้ถึงผลกระทบระยะยาวที่เกิดขึ้น” 


ศรุตและพงษ์เพชรยอมรับว่าเคยเป็นคนที่เมินเฉยกับปัญหาเขม่าควันอ้อยเช่นกัน “เห็นทุกปีและรู้ว่ามันจะเป็นแค่ช่วงเดียว เขาไม่ได้เผาอ้อยตลอดทั้งปี จนกระทั่งได้มาเข้าร่วมโครงการ ได้ลงไปศึกษาข้อมูล ถึงได้รู้ว่าเขม่าควันเหล่านี้กำลังจะสร้างปัญหาระยะยาวให้กับคนในจังหวัด”

  

ในขณะที่ธุรกิจที่บ้านของสุพิชญา หนึ่งในสมาชิกของทีมฯ ก็มีกระบวนการที่สร้างมลภาวะเขม่าควันอ้อยเช่นกัน ทำให้เธออยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะรับผิดชอบและแก้ปัญหา “เราเห็นและรับรู้ถึงปัญหา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีวิธีไหนที่จะแก้ปัญหาได้ แต่ทักษะการคิดที่เขาสอนให้เราคิดอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เรามองปัญหาจากหลายมุม คิดว่าบอร์ดเกมน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ใครก็ตามที่มาเล่นได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น”

 

ทุกคนมีศักยภาพที่จะช่วยเหลือสังคม

น้องๆ ทีม The Last Hope ยังฝากถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่อยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมว่า “ถ้าประเด็นปัญหาในชุมชนของตัวเองยังไม่ได้รับการแก้ปัญหา โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้ปัญหาเหล่านั้นได้รับความสนใจและนำไปสู่การแก้ไขในที่สุด

  

“พวกเราได้ประสบการณ์ดีๆ จากโครงการนี้เยอะมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการคิด การทำงานเป็นทีม มุมมองเรื่องการออกแบบ ต้องออกแบบอย่างไรให้น่าสนใจโดยที่สื่อสารได้ครบถ้วน ที่สำคัญการออกแบบเกมทำให้พวกเราเชื่อมั่นว่าทุกคนมีศักยภาพที่จะช่วยเหลือสังคมได้ ซึ่งบอร์ดเกมก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้คนบางกลุ่มรับรู้ถึงปัญหาหรือทำให้ปัญหาเหล่านั้นได้รับความสนใจ แค่สร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง” 


ถึงแม้ว่าตอนนี้ทางโครงการออกแบบเกม ออกแบบสังคม รุ่น 2 จะยังไม่มีการประกาศผลผู้ชนะอย่างเป็นทางการ เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องงดเว้นการจัดพิธีมอบรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ออกไป แต่ 14 บอร์ดเกม ของทั้ง 14 ทีมในโครงการฯ ได้ถูกนำไปใช้จริงกับกลุ่มเป้าหมาย และสามารถทำหน้าที่สื่อสารประเด็นสังคมที่นวัตกรรุ่นเยาว์ต้องการได้อย่างครบถ้วนตามวัตถุประสงค์ในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ถือได้ว่าทุกทีมคือผู้ชนะในเกมของตัวเองแล้ว  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising