ถ้านับจนถึงปัจจุบัน ก็เป็นระยะเวลาเกือบปีครึ่งที่เราได้เห็นข่าวคราวการบรรลุข้อตกลงในการรวมกิจการกันระหว่างทีเอ็มบีและธนชาต โดยเป็นดีลครั้งประวัติศาสตร์ ที่เมื่อรวมกันแล้ว ttb จะเป็นธนาคารที่มีขนาดธุรกิจเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยมีสินทรัพย์รวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท
ซึ่งได้สร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญให้กับการแข่งขันในตลาดธนาคารอยู่พอสมควร เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีจุดแข็งด้วยโปรดักต์ที่สตรองเป็นทุนเดิม การรวมกิจการครั้งนี้จึงเพิ่มศักยภาพ แต้มต่อการแข่งขันให้กับพวกเขาได้อย่างมหาศาล
ภายใต้ชื่อใหม่ ‘ttb’ หรือ ทีเอ็มบีธนชาต เราจะได้เห็นอะไรเกิดขึ้นบ้าง แล้วอะไรคือ 10 ประเด็นที่เราต้องรู้ THE STANDARD สรุปออกมาเป็นข้อๆ เอาไว้ให้คุณแล้ว
1. ‘ttb’ (ทีทีบี) ชื่อที่สะท้อนถึงความถ่อมตนและเข้าถึงง่าย (Humble & Approachable) – คอนเซปต์ในการตั้งชื่อธนาคารใหม่ว่า ทีเอ็มบีธนชาต อาจจะไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะก็ใช้วิธีการนำชื่อของสองธนาคารมาประกบเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้ใช้บริการ คนทั่วไปเข้าใจและจดจำได้ง่ายที่สุด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนชื่อย่อใหม่ ซึ่งนับว่าเป็นการรีแบรนด์ครั้งใหญ่เลยทีเดียว คือการใช้ชื่อย่อที่เป็นภาษาอังกฤษตัวพิมพ์เล็กทั้งหมดต่างจากที่เราคุ้นเคย ซึ่งก็มีเหตุผลที่น่าสนใจว่า เพราะ ttb ต้องการจะสื่อถึง ‘ความอ่อนน้อมและเข้าถึงได้ง่าย’ เพราะต่อให้รวมกันแล้วเป็น ‘ธนาคารมีสเกลใหญ่ขึ้น’ แต่เป้าประสงค์ของ ttb คือการอยู่เคียงข้างลูกค้าและง่ายต่อการเข้าถึง ขณะที่ตัวอักษรทั้ง 3 ตัวเชื่อมต่อกันเพื่อมุ่งไปข้างหน้า เหมือนกับการที่ทีเอ็มบีและธนชาตเชื่อมต่อสององค์กร รวมพนักงานเป็นหนึ่งเดียว และพร้อมเชื่อมต่อประสบการณ์ทางการเงินที่ดีที่สุดไปยังลูกค้าผ่านโซลูชันทางการเงิน
2. รวมกันด้วยแนวคิดแบบ ‘One Team’ ‘One Dream’ และ ‘One Goal’ – ความตั้งใจของ ttb ในการควบรวมกิจการคือการทำงานร่วมกันในทุกๆ แผนก ทุกทีมแบบเป็นหนึ่งเดียว กลมเกลียว และแข็งแกร่ง หลังบรรจุพนักงานทั้งสองธนาคารให้เป็นของ ttb แบบ 100% ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือการช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีให้กับคนไทยทั้งประเทศ (Better Financial Well-Being) ผ่านโซลูชันการเงินต่างๆ ที่ทางธนาคารมี
3. 4 กลยุทธ์เสาหลัก – 4 กลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้ลูกค้า ttb มีสุขภาพการเงินที่แข็งแรงและชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ประกอบด้วย
1. ฉลาดออม ฉลาดใช้
2. รอบรู้เรื่องกู้ยืม
3. ลงทุนเพื่ออนาคต
4. มีความคุ้มครองที่อุ่นใจ
4. แกนสำคัญผลักดันธุรกิจ – ในปี 2564 ‘ttb’ ได้แบ่งประเด็นสำคัญในการผลักดันการดำเนินธุรกิจออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่
- การขยายฐานลูกค้าที่มีอยู่ราว 10 ล้านรายให้ใช้ ttb เป็นธนาคารหลักผ่าน Financial Well-Being Solution
- สร้างศักยภาพด้าน Digital-First Operating Model ให้ดิจิทัลเป็นช่องทางหลักในการเชื่อมต่อบริการในทุกช่องทาง เพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค
- สร้างศักยภาพบุคลากร โดยการอัปสกิลและรีสกิลพนักงานให้มีทักษะและความพร้อมด้านดิจิทัลอย่างรอบด้าน เพื่อสนับสนุนทิศทางของธนาคารที่จะเป็น ‘Humanized Digital’ หรือรูปแบบการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่เป็นมิตรและรู้ใจ
5. ในส่วนผลิตภัณฑ์และบริการของลูกค้าบุคคล ttb จะนำเสนอเป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่ม แต่ละช่วงชีวิต เช่น
- กลุ่มลูกค้าที่เพิ่งเริ่มทำงาน สร้างตัว จะเน้นโซลูชันด้านฉลาดออม ฉลาดใช้ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง พร้อมรับสิทธิประโยชน์รอบด้านผ่านบัญชี all free และออมอย่างมีวินัยเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินผ่านบัญชี no fixed
- กลุ่มลูกค้าที่เริ่มสร้างครอบครัว ธนาคารจะเสนอโซลูชันเกี่ยวกับสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่ต้องการมีบ้าน มีรถที่ใหญ่ขึ้นสำหรับครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้คนกลุ่มนี้มีระเบียบวินัยในการผ่อนชำระเพื่อปลอดหนี้ได้เร็วที่สุด
- กลุ่มลูกค้าที่ประสบความสำเร็จจากหน้าที่การงาน ต้องการมีชีวิตที่มั่นคงและเกษียณอย่างไร้กังวล ธนาคารเน้นการให้ความรู้ด้านการลงทุน จัดทัพตามความเสี่ยง ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย และ ttb smart port
- สุดท้ายคือกลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่ง เตรียมเข้าสู่วัยเกษียณ ธนาคารพร้อมส่งมอบโซลูชันด้านประกันชีวิตและการลงทุนที่มอบความอุ่นใจในการรักษาความมั่งคั่ง พร้อมดูแลสุขภาพและวางแผนส่งต่อมรดกให้กับทายาทได้อย่างสบายใจ
6. ‘สินเชื่อรถยนต์’ จุดขายของธนชาตในชื่อใหม่ ‘ttb DRIVE’ – แม้จะรวมกิจการเข้าด้วยกันแล้ว แต่ภาพเด่นของธนชาตซึ่งเป็นที่ยอมรับมาจนถึงทุกวันนี้คือการที่พวกเขามีจุดแข็งด้านสินเชื่อรถยนต์ โดยเมื่อเป็น ttb แล้ว พวกเขาก็ยังให้ความสำคัญในผลิตภัณฑ์นี้ผ่าน ‘ttb DRIVE’ หรือสินเชื่อรถยนต์ทีทีบี
โดยเน้นการพัฒนารูปแบบบริการทั้งระบบ Ecosystem ทั้งในส่วนของ ‘ลูกค้า’ ทาง ttb DRIVE พร้อมช่วยเคลียร์ทุกอุปสรรคทางการเงิน รวมหนี้ ลดภาระ เพิ่มสภาพคล่องด้วย ‘รถแลกเงินเคลียร์หนี้’ และมอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าที่รักษาวินัยทางการเงินเป็นอย่างดีผ่านโครงการ ‘จ่ายดีมีคืน’ ด้าน ‘คู่ค้า’ ก็พร้อมขับเคลื่อนให้ธุรกิจคู่ค้าไม่สะดุด เปิดตัว ‘DRIVE Connect Platform’ มิติใหม่ของการทำตลาดออนไลน์ผ่านทาง Facebook ให้กับกลุ่มดีลเลอร์รถมือสอง พร้อมเน้นการพัฒนาศักยภาพของทีมงาน ttb DRIVE ผ่าน DRIVE Academy เพื่อสร้างบริการที่ดีให้กับลูกค้าและคู่ค้าทุกราย
7. วางเป้าหมายการเป็นพันธมิตรที่ลูกค้าธุรกิจ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่จนถึง SMEs ไว้วางใจให้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนธุรกิจของลูกค้าให้ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย 3 กลยุทธ์ ประกอบด้วย
- มอบแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมเพียงพอ
- มอบดิจิทัลโซลูชันและบริการที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ
- มอบชีวิตทางการเงินที่ดีให้แก่พนักงานและคู่ค้า
8. เร่งสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้ One Team ที่รวมเป็นหนึ่งแล้วสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมาย One Goal และสามารถสร้างชีวิตทางการเงินให้กับลูกค้าได้
9. เป็น ttb 100% ในเดือนกรกฎาคม – อย่างที่ทราบกันว่าดีลรวมกิจการในครั้งนี้กินระยะเวลานานกว่า 18 เดือน โดยที่ทาง ttb ได้ตั้งเป้าไว้ว่าในเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ กระบวนการรวมกิจการให้เป็นหนึ่งธนาคารจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งในระหว่างนี้จะยังเห็น 3 แบรนด์ในตลาดคือ ทีเอ็มบี ธนชาต และทีทีบี (ttb) ซึ่งจะทยอยเปลี่ยนเป็น ttb ทั้งหมดภายในเดือนกรกฎาคม 2564
10. การรวมกันครั้งนี้ ลูกค้าทีเอ็มบีหรือธนชาต ต้องทำอย่างไร – จนกว่าจะรวมเป็น One Bank 100% ในเดือนกรกฎาคม 2564 ลูกค้าทีเอ็มบีและธนชาต สามารถใช้ช่องทางบริการเดิมได้ และยังสามารถใช้ช่องทางของ ttb ได้อีกด้วย และภายหลังการรวมกิจการเสร็จสิ้น จะมีการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์และรูปแบบการให้บริการบางอย่าง ซึ่งรวมไปถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งลูกค้าไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด ลูกค้าธนชาตจะได้รับจดหมายแจ้งรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์หรือบริการ พร้อมสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น โดยในจดหมายจะมีการระบุ QR Code ให้สแกนเข้าไปดูข้อมูลเฉพาะของแต่ละบุคคล โดยจะทยอยส่งออกไปตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนลูกค้าทีเอ็มบีเดิม สามารถใช้ผลิตภัณฑ์และบริการได้ตามเดิมภายใต้แบรนด์ ttb
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า