×

‘ทีเอ็มบีธนชาต’ ชู 4 กลยุทธ์รุกธุรกิจรายย่อย ตั้งเป้าสินเชื่อโต 6-7% กวาดลูกค้าใหม่เพิ่ม 1.5 ล้านราย เล็งเปิดสาขาไร้เงินสดไตรมาส 3

15.03.2023
  • LOADING...
ทีเอ็มบีธนชาต

ทีเอ็มบีธนชาต ชู 4 กลยุทธ์รุกธุรกิจรายย่อยและยกระดับบริการดิจิทัล ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 6-7% เน้นเจาะกลุ่ม Wealth พนักงานเงินเดือน คนมีรถ และคนมีบ้าน หวังกวาดลูกค้าใหม่เพิ่มอีก 1.5 ล้านราย เล็งเปิดสาขาไร้เงินสดไตรมาส 3

 

ฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต หรือทีเอ็มบีธนชาต เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารมีแผนจะเติบโตสินเชื่อรายย่อยที่ราว 6-7% จากยอดคงค้างประมาณ 4.2 แสนล้านบาทในปี 2565 พร้อมขยายฐานลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านรายจากฐานลูกค้าที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ 10 ล้านราย โดยคาดว่ารายได้ของธุรกิจรายย่อยในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน หรือคิดเป็น 2.7 หมื่นล้านบาท

 

โดยในปีนี้ธนาคารจะมุ่งเน้นการเติบโตไปที่ลูกค้า 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่ม Wealth พนักงานเงินเดือน คนมีรถ และคนมีบ้าน ผ่าน 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 

 

กลยุทธ์ที่ 1: ขยายฐานลูกค้าบุคคล

 

ธนาคารมีแผนจะส่งมอบชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ด้วยโซลูชันที่ตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติ โดยในกลุ่ม Wealth ได้มีการยึดโยงลูกค้าผ่านบัตรเครดิต ttb reserve เพื่อสร้างความแตกต่าง และตอบโจทย์ความต้องการได้ดีขึ้น ให้กับลูกค้า Wealth กว่า 40,000 ราย ที่ถือครองมูลค่าทรัพย์สินรวมกับธนาคารกว่า 650,000 ล้านบาท

  

ขณะเดียวกันมีแผนที่จะขยายฐานลูกค้าผ่านพันธมิตรใหม่ใน 3 Ecosystem Play ในตลาด ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญและมีฐานลูกค้าเดิมอยู่แล้ว ได้แก่ 

 

  • กลุ่มพนักงานเงินเดือน จะนำเสนอสินเชื่อสวัสดิการเพื่อช่วยลดภาระหนี้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่า มีส่วนลดพิเศษสำหรับแผนประกันชีวิตและสุขภาพ และมีแคมเปญเคลียร์หนี้พิเศษอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ 1 ล้านรายใน 6,500 บริษัท
  • กลุ่มคนมีรถ จะให้บริการสินเชื่อรถยนต์ ทีทีบีไดรฟ์ ที่ครบวงจร ทั้งรถใหม่ รถมือสอง รถแลกเงิน รวมไปถึงประกันคุ้มครองรถ และโปรโมชันพิเศษต่างๆ พร้อมเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มรถโดนใจ โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ 1.1 ล้านราย
  • กลุ่มคนมีบ้าน จะนำเสนอแผน Refinance และสินเชื่อบ้านแลกเงิน การอนุมัติสินเชื่อที่ง่ายและรวดเร็ว รวมถึงโปรโมชันพิเศษต่างๆ จากพันธมิตรของธนาคาร โดยปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ 1.6 แสนราย

 

กลยุทธ์ที่ 2: พัฒนาผลิตภัณฑ์จากความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น

 

ธนาคารจะมุ่งออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้ลูกค้า ฉลาดออมฉลาดใช้ รอบรู้เรื่องกู้ยืม ลงทุนเพื่ออนาคต มีความคุ้มครองที่อุ่นใจ โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายตอบโจทย์ลูกค้าตลอดทุกช่วงเวลาของชีวิต ทั้งบัญชีเงินฝากเพื่อออม บัญชีเพื่อใช้ บัญชีเงินฝากให้อัตราดอกเบี้ยสูง บัตรเครดิตที่เหมาะสมในแต่ละ Lifestyle 

 

นอกจากนี้ ยังคงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เน้นความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เช่น การรวบหนี้เพื่อลดภาระหนี้ให้กับลูกค้า (Debt Consolidation) ด้วยสินเชื่อบ้านแลกเงิน รถแลกเงิน พร้อมมีแผนการลงทุนเพื่ออนาคต จากกองทุนรวมหลากหลายรูปแบบที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของลูกค้า รวมทั้งผลิตภัณฑ์ประกันที่ช่วยวางแผนความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ สร้างความอุ่นใจให้กับทุกคนในครอบครัว 

 

กลยุทธ์ที่ 3: ยกระดับช่องทางการขายและการให้บริการ 

 

ธนาคารมีเป้าหมายใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งมอบประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า เพื่อให้เป็น Top 3 Digital Banking Platform ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการยกระดับการบริการและสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่าให้ลูกค้าด้วยดิจิทัล บนฐานลูกค้าที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 5 ล้านคน บนแอป ttb touch  โฉมใหม่ ทำให้ธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงโปรโมชันต่างๆ ให้กับลูกค้าแบบ 1 ต่อ 1 หรือ Segment-of-One และด้วยพฤติกรรมในปัจจุบันของลูกค้าเปลี่ยนไป เห็นได้จากในปีที่ผ่านมา การทำธุรกรรมที่สาขาลดลง 7% แต่การทำธุรกรรมผ่านแอป ttb touch เพิ่มขึ้น 26% 

 

ดังนั้น ในปีนี้จะเพิ่มการให้บริการผ่านแอป ttb touch มากขึ้น ได้แก่ การบริหารจัดการภาษี การขายรถ และการบอกสิทธิประโยชน์ลูกค้า พร้อมยกระดับความปลอดภัยให้กับแอป เตือนการตรวจพบแอปที่ไม่ปลอดภัยให้กับลูกค้า โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้แอป ttb touch เป็น 6.5 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน 

 

ส่วนการให้บริการของสาขานั้น ในปีนี้มีแผนจะปิดสาขาประมาณ 20 แห่ง ทำให้จำนวนสาขาจะลดลงจาก 560 แห่งเหลือ 540 แห่ง ขณะเดียวกันจะมีการเปิดสาขารูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้คนในยุคดิจิทัล Cashless and Paperless Society รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของสาขาและตู้เอทีเอ็ม โดยจะเริ่มนำร่องในเขตกรุงเทพฯ ก่อนในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้

 

กลยุทธ์ที่ 4: ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการใช้ข้อมูล 

 

ปัจจุบัน ธนาคารได้ใช้ข้อมูลมาวางแผนเรื่องต่างๆ มากมาย เพื่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีขึ้นแก่ลูกค้า ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และโซลูชันที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด เช่น การใช้ข้อมูลพฤติกรรมการใช้บริการในแต่ละผลิตภัณฑ์มาวิเคราะห์โอกาสทางการขาย เพื่อนำเสนอได้ตรงตามความต้องการในช่วงเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันได้ใช้ข้อมูลเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การใช้ข้อมูลในเรื่องการจัดการบริหารความเสี่ยง เพื่อพิจารณาการปล่อยสินเชื่อและติดตามหนี้อย่างมีคุณภาพ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising