×

ทรัมป์จะทำดีลอะไรกับสีจิ้นผิงและปูติน อาจสร้างระเบียบโลกใหม่ระหว่างสามผู้นำ

24.02.2025
  • LOADING...
trump-xi-putin-deal

เคยมีการวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดของทีมงานการต่างประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดของ เจ.ดี. แวนซ์ รองประธานาธิบดี, มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ หรือของ ไมค์ วอลซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคง ว่าคิดเห็นเรื่องการต่างประเทศอย่างไรมาบ้างในอดีต

 

หากเป็นในรัฐบาลอื่น ทีมงานก็คือนโยบาย (Personnel is policy) เพราะทีมงานจะเป็นคนให้คำปรึกษาประธานาธิบดีและขับเคลื่อนนโยบาย แต่ผมไม่แน่ใจว่าสำหรับทรัมป์แล้ว ทรัมป์จะฟังลูกน้อง หรือลูกน้องต้องฟังทรัมป์ เพราะเกณฑ์สำคัญที่สุดในการเลือกคนของทรัมป์คือ ความจงรักภักดี (Loyalty) ว่าจะเถียงเขาหรือจะ ‘ดีครับนาย’

 

ดูตัวอย่างเช่นที่ปรึกษาความมั่นคง ไมค์ วอลซ์ ที่เคยมีจุดยืนที่แข็งกร้าวมากต่อรัสเซียมาก่อน แต่ล่าสุดก็ปรากฏว่าเขาออกมาสนับสนุนแนวทางของทรัมป์ที่หันไปดีลกับรัสเซียอย่างเต็มที่ เขาเพิ่งย้ำว่ายูเครนสุดท้ายจะต้องตกลงตามที่สหรัฐฯ ขอเรื่องทรัพยากรแร่ในยูเครน และต้องตกลงกับรัสเซียตามที่สหรัฐฯ จะไปเจรจากับปูตินให้

 

เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจมากของ มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ให้สัมภาษณ์ เมกิน เคลลี นักข่าวหญิงชื่อดัง มีสองประเด็นที่ผมต้องรีบเอาปากกามาไฮไลต์

 

ประเด็นแรกคือ มาร์โก รูบิโอ ยอมรับว่า ปัจจุบันสิ้นสุดยุคการนำเดี่ยวของสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว เข้าสู่ยุคหลายมหาอำนาจ (Multipolar World) ซึ่งสหรัฐฯ จะต้องใช้นโยบายปฏิบัตินิยม (Pragmatism) โดยหัวใจสำคัญคือมหาอำนาจอื่นต้องไม่มาท้าทายผลประโยชน์ของสหรัฐฯ (แต่นัยคือสหรัฐฯ จะไม่รับบทเป็นตำรวจโลก นักบุญโลก หรือผู้พิทักษ์คุณธรรมโลกอีกต่อไป)

 

ประเด็นที่สองคือ เขาบอกว่าในการเจรจากับจีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจนั้น ต้องเป็นการดีลกันในระดับผู้นำสูงสุดโดยตรง คือทรัมป์กับปูติน และทรัมป์กับสีจิ้นผิง (นัยกลายๆ คือเขาจะไม่ใช่คนหลักในการดีลกับรัสเซียและจีน)

 

จึงไม่แปลกที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อย่าง มาร์โก รูบิโอ จะดูแลการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศเล็กๆ ต่างๆ ทั่วโลก และเน้นที่ภูมิภาคอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้เป็นหลัก เช่น ดีลกับเม็กซิโก แคนาดา ปานามา แต่การทูตระดับบนกับพี่เบิ้มตัวใหญ่อย่างรัสเซียและจีน ตัวทรัมป์จะดีลเอง อย่างมากรูบิโอก็ช่วยสนับสนุนและนำผลการดีลไปปฏิบัติ

 

ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ต้องวิเคราะห์ให้มากว่ารูบิโอเกลียดจีนแค่ไหน อย่างไร จีนยังคงมีคำสั่งห้ามไม่ให้รูบิโอเข้าประเทศจีน เนื่องจากจุดยืนที่แข็งกร้าวของรูบิโอต่อข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของจีนที่ซินเจียง แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกเราเท่าไรว่าสหรัฐฯ จะมีนโยบายต่อจีนอย่างไรกันแน่ เพราะทั้งหมดสุดท้ายจะอยู่ที่การดีลของทรัมป์เป็นหลัก

 

ทุกอย่างจึงมีความไม่แน่นอนสูงตามลีลาของทรัมป์ มีการยกประโยคทองของการเมืองอเมริกันในอดีตที่ว่า “Only Nixon can go to China” ซึ่งหมายถึงการที่ประธานาธิบดีนิกสันบินไปจับมือกับประธานเหมาและเริ่มต้นความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ นั้นมีแต่คนอย่างนิกสันเท่านั้นที่ทำได้ เพราะทุกคนรู้ว่านิกสันเป็นสายแข็งเกลียดคอมมิวนิสต์ และในขณะเดียวกันก็ชอบดำเนินนโยบายแหวกแนว แต่ถ้าขืนเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนอื่นบินไปจับมือกับประธานเหมาในยุคนั้นมีหวังถูกสาปส่งแน่

 

เช่นเดียวกัน ทรัมป์เองก็เพิ่งทวีตว่า Only Trump can deal with Russia ซึ่งก็เป็นความจริง เพราะผู้นำสหรัฐฯ คนอื่นคงไม่มีใครจะสามารถกลับลำนโยบายสหรัฐฯ ที่สนับสนุนยูเครนและเป็นปฏิปักษ์ต่อปูตินได้แบบ 180 องศา ช็อกโลกแบบนี้ แต่ทรัมป์ช็อกโลกวันละเป็นสิบๆ เรื่อง จนเราเริ่มชาชินและไม่แปลกใจเท่าไรกับการพลิกเกมแบบนี้

 

ดังนั้นก็อย่าแปลกใจเกินไปหากทรัมป์จะมีดีลการค้ากับสีจิ้นผิง หรือจะมีดีลใหญ่กว่านั้นเช่นดีลเรื่องไต้หวันกับสีจิ้นผิง แต่ก็อย่าแปลกใจเช่นกันถ้าทรัมป์จะเอาเรื่องไต้หวันขึ้นมาเป็นไพ่ต่อรองกดดันสีจิ้นผิง หรือจะขึ้นกำแพงภาษีจีนแบบโหดหินหรือถึงขนาดยกเลิก Most Favored Nation Status กับจีนในทางการค้า เพราะแท็กติกการเจรจาของทรัมป์นั้น หากคู่เจรจาพูดไม่รู้เรื่องหรือไม่พูดด้วย ทรัมป์ก็พร้อมยกระดับความตึงเครียดเพื่อกดดันคู่เจรจาให้มานั่งโต๊ะ หรือที่เรียกว่า ‘Escalate to Deescalate’

 

ตอนนี้มีนักวิชาการเปรียบเทียบว่า เราอาจจะเห็น Yalta 2.0 โดยการประชุม Yalta เมื่อ 80 ปีที่แล้วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง เป็นการตกลงสร้างระเบียบโลกใหม่ร่วมกันระหว่าง 3 คือ วินสตัน เชอร์ชิลล์ ของอังกฤษ, แฟรงคลิน ดี.โรสเวลต์ ของสหรัฐฯ และโจเซฟ สตาลิน ของสหภาพโซเวียตในขณะนั้น คนอื่นไม่ได้อยู่บนโต๊ะด้วย

 

หลายคนมองว่าทรัมป์เองก็ต้องการมีดีลใหญ่ยักษ์กับปูตินและสีจิ้นผิง อาจจะเป็นเรื่องข้อตกลงหยุดขยายอาวุธนิวเคลียร์ หรือแม้กระทั่งยุติสงครามยูเครน โดยคนอื่นไม่ต้องมาอยู่บนโต๊ะด้วย เพราะไม่มีความสำคัญไม่ว่าจะเป็นยูเครนหรือยุโรป ตอนนี้มีความคิดสร้างสรรค์แม้กระทั่งว่าจะใช้กำลังทหารจากจีนหรือประเทศที่เป็นกลาง (ไม่ใช่สหรัฐฯ หรือ NATO) ในการการันตีความปลอดภัยให้ยูเครนหลังยุติสงคราม แต่ข้อตกลงแบบนี้คงต้องเกี่ยวข้องกับการแบ่งเค้กผลประโยชน์ต่างๆ ในยูเครนด้วย ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรแร่มหาศาลซึ่งสหรัฐฯ กดดันให้ยูเครนจ่ายเป็นค่าชดเชยการสนับสนุนอาวุธให้ หรือแม้กระทั่งโครงการการก่อสร้างฟื้นฟูประเทศต่างๆ ว่าตกลงจะแบ่งเค้กให้บริษัทจีนเข้าร่วมด้วยได้ไหม

 

การต่างประเทศสหรัฐฯ ตอนนี้จึงไม่ใช่เพียง America First Policy แต่ยังเป็น Trump First Policy ด้วย เพราะนโยบายการต่างประเทศสหรัฐฯ วันนี้ไม่ได้กำหนดจากทีมข้างล่างที่ทำงานกับนักการทูตอีกฝ่ายและเสนอขึ้นข้างบน แต่กลายเป็นข้างบน 3 คนดีลกันเสร็จและกำหนดระเบียบโลกใหม่เรียบร้อย โดยคนอื่นทั้งหมดอาจไม่ได้อยู่บนโต๊ะด้วย แต่ไปอยู่ในเมนูหรือเป็นก้อนเค้กที่ให้สามคนนี้แบ่งประโยชน์กันแทน 

 

ภาพ: Sputnik / Artyom Geodakyan / Pool via Reuters, Nathan Howard / Reuters, Andres Martinez Casares / Pool via Reuters

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising