บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินกรณีเหตุการณ์ลอบสังหาร ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ช่วยสนับสนุนคะแนนนิยมพุ่งแรง มีโอกาสนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่สูง แต่มีหลายนโยบายเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจโลก
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า เหตุการณ์ลอบยิงโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระหว่างการปราศรัยที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ รอดชีวิตมาได้ ถือเป็นประเด็นที่ส่งผลให้คะแนนความนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์ พุ่งขึ้นแรงค่อนข้างมาก จึงมีโอกาสที่จะส่งผลให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยจากโพลสำรวจพบว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีคะแนนความนิยมขยับขึ้นมาเกิน 60% แซงคู่แข่งหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
จับตานโยบายเศรษฐกิจ 3 เสา
สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องติดตามจะแบ่งออกเป็น 3 เสาหลักสำคัญดังนี้
- นโยบายการปรับลดกฎระเบียบ ข้อจำกัดต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจของเอกชน
- นโยบายการปรับลดภาษีเป็นการถาวร ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
- นโยบายการค้าที่มีแนวคิดในการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้า โดยจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% และภาษีนำเข้าจากสินค้าทั่วโลก 10% ซึ่งในส่วนของการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากทั่วโลก มีมุมมองว่าอาจทำได้ค่อนข้างยาก เพราะจะมีผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก อาจมีผลกระทบให้เกิดการตอบโต้กลับโดยประเทศคู่ค้า ด้วยการปรับขึ้นภาษีของสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ
อีก 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม
อีกทั้งยังมีอีก 3 ประเด็นที่มีความสำคัญรองลงมา หากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีที่ต้องติดตาม ดังนี้
- การแทรกแซงการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คล้ายกับในยุคแรกที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี เคยพยายามกดดันให้ Fed ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย แต่สถานการณ์ปัจจุบันแตกต่างจากในอดีต เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ปัจจุบันเริ่มมีทิศทางเป็นขาลง
หลังจากล่าสุด เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ออกมาส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นแรงจูงใจในการแทรกแซง Fed ของโดนัลด์ ทรัมป์ ในรอบนี้หากเข้ามาเป็นประธานาธิบดีจะลดลงจากรอบแรก อีกทั้งในเชิงของกฎหมายไม่สามารถเปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ง่าย
- นโยบายในการผลักดัน หรือเนรเทศผู้อพยพที่เข้ามาในสหรัฐอเมริกาแบบผิดกฎหมายออกจากประเทศ ถือเป็นนโยบายหาเสียงที่มีความรุนแรง ส่งผลให้มีการคัดกรองคุมเข้มผู้อพยพที่จะเข้ามาในสหรัฐอเมริกาในอนาคตที่เข้มงวดขึ้น อีกทั้งมีนโยบายเนรเทศผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ แบบผิดกฎหมายออกจากประเทศทั้งหมด
โดยมีความกังวลว่าประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลให้แรงงานในสหรัฐฯ ขาดแคลน และมีผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ให้เร่งตัวขึ้นด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ มีมุมมองว่ามีความเป็นไปยากสำหรับนโยบายนี้ แต่มีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะเห็นการคัดกรองผู้อพยพที่จะเข้ามาสหรัฐฯ รายใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้น
- ความสัมพันธ์ของสภาคองเกรส ซึ่งหากในสภาคองเกรสเสียงแตก อาจส่งผลให้การจัดทำงบประมาณของสหรัฐฯ ทำได้ยากขึ้น
จับตารายจ่ายสหรัฐฯ จ่อชนเพดานหนี้สาธารณะ
ใน 2025 มีประเด็นที่ต้องติดตามคือ ในช่วงเดือนเมษายนปีหน้า จะมีประเด็นรายจ่ายของสหรัฐฯ เริ่มขยับขึ้นไปชนเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนด ดังนั้นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่จะต้องมีการเจรจาในการขยายเพดานหนี้กับสภาคองเกรส ซึ่งหากดำเนินการไม่สำเร็จก็มีความเสี่ยงที่จะไม่มีเงินมาจ่ายสำหรับงบประมาณรายจ่ายด้านต่างๆ
ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น โดยหากสามารถครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้ จะส่งผลให้การโหวตนโยบายต่างๆ สามารถทำได้ง่ายขึ้น โดยเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในการดำเนินการต่อไป
สำหรับประเด็นดังกล่าวข้างต้นทั้งหมดถือเป็นประเด็นที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุน ด้วยหลายๆ นโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งนโยบายการตั้งกำแพงภาษีที่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเร่งตัวสูงขึ้นในอนาคต
ดร.ปิยศักดิ์กล่าวต่อว่า หากพิจารณาแนวนโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ ปัจจุบันมีการปรับลดลงไปแล้วในช่วงที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก โดยภาษีนิติบุคคลปัจจุบันขั้นสูงสุดของสหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ที่ระดับ 21% ซึ่งกฎหมายภาษีดังกล่าวกำลังจะครบอายุในปี 2025 หากไม่มีการต่ออายุก็จะส่งผลให้ภาษีนิติบุคคลของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 28%
ขณะที่อัตราภาษีบุคคลธรรมดาของสหรัฐฯ ก็ลดลง โดยมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ระดับ 37% ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องการให้ภาษีบุคคลธรรมดาปรับเพิ่มกลับขึ้นไปที่ระดับ 39.6% รวมถึงปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้นด้วย
ลดภาษีบุคคล-นิติบุคคลในสหรัฐฯ กระทบสหรัฐฯ ไม่มาก
ขณะที่โดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายที่จะคงการลดภาษีทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในสหรัฐฯ ไว้ในระดับที่ต่ำต่อไปในระดับปัจจุบัน โดยมีการยกเว้นภาษีในส่วนดังกล่าวต่อไป จึงมีความกังวลว่าการขาดดุลทางการคลังของสหรัฐฯ จะเพิ่มมากขึ้นประมาณ 1%
อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณของนิตยสาร The Economist คำนวณว่าจากนโยบายด้านการลดภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ จะส่งผลให้สหรัฐฯ สูญเสียรายได้ไปประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ แต่จะถูกชดเชยกลับมาด้วยการขึ้นกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน และสินค้านำเข้าจากทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้กลับเข้ามาประมาณ 4.1 ล้านล้านดอลลาร์ ดังนั้นนโยบายการลดภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจไม่ได้ส่งผลให้การขาดดุลทางการคลังเพิ่มขึ้นมากนัก
ลุ้น Digital Wallet หากใช้ทันปีนี้ช่วยปั๊ม GDP โตแตะ 2.7%
สำหรับโครงการ Digital Wallet ในไทยเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น
ประเด็นแรก: รัฐบาลประกาศเปิดให้ผู้มีสิทธิ์ในโครงการ Digital Wallet เริ่มลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมปีนี้ อีกทั้งมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในกลุ่มประเภทสินค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ รวมถึงแหล่งเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งอาจมีการใช้ลดลงเหลือประมาณ 4.5 แสนล้านบาท
รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่จะได้ประโยชน์ และกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ โดยยังต้องติดตามในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ และพัฒนาการของโครงการต่อไป หากดำเนินการไม่ทันในปีนี้ก็ดำเนินการในปีหน้าแทน
ประเด็นที่สอง: ปัจจุบันภาพรวมของเศรษฐกิจเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น แม้ภาพใหญ่ของ GDP มีแนวโน้มจะขยายตัวขึ้นในระยะถัดไป แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณแนวโน้มความอ่อนแอของดีมานด์ในประเทศ
รวมถึงมีความตึงตัวทางด้านการเงินที่มีเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากภาพ NPL ที่เริ่มขยับขึ้น ดังนั้นนโยบายในแง่ของการผ่อนคลายด้านเศรษฐกิจมีความสำคัญ จึงต้องติดตามประเด็นในการเบิกจ่ายงบประมาณ
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปีนี้จะขยายตัวในระดับ 2.5% โดยยังไม่นับรวมผลของโครงการ Digital Wallet และในปีหน้าคาดว่าของไทยจะขยายตัวได้ระดับ 3% หากสามารถดำเนินการโครงการที่ต้องการได้ทันในปีนี้ GDP ในปีนี้มีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 2.7% และในปีหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.5%