×

มองผลลัพธ์ ทรัมป์เยือนตะวันออกกลาง กับบทบาทการต่างประเทศที่เปลี่ยนไป

16.05.2025
  • LOADING...
โดนัลด์ ทรัมป์ เยือนตะวันออกกลาง 2025 พบผู้นำประเทศในซาอุฯ กาตาร์ และยูเออี

ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ถือเป็นผู้นำสหรัฐฯ ที่มุ่งมั่นกับแนวทาง ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (America First) และมีหลายนโยบายที่ค่อนข้างสุดโต่ง จนคล้ายกับเป็นการ ‘โดดเดี่ยวตัวเอง’ จากสังคมโลก ทั้งนโยบายกำแพงภาษี การถอยห่างจากองค์กรระหว่างประเทศ หรือการต่อต้านผู้อพยพหรือพลเมืองจากประเทศที่เขามองว่าเป็นปัญหา เช่น บางประเทศมุสลิม ที่เขาเคยมีคำสั่งห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ในระหว่างดำรงตำแหน่งสมัยแรก

 

ในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 แม้ว่าหลายนโยบายของเขาจะยังคงสุดโต่ง และดูเหมือนจะไม่เปลี่ยนไปจากในสมัยแรกมากนัก แต่การไปเยือนต่างประเทศทริปแรก ใน 3 ประเทศตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เริ่มส่งสัญญาณให้เห็นว่า เขาอาจจะกำลัง ‘แหกกฎ’ นโยบายด้านการต่างประเทศบางอย่างที่เคยวางไว้ในสมัยแรก และเริ่มเข้าหาความเป็น ‘โลกาภิวัตน์’ มากขึ้น

 

ระหว่างการเยือนประเทศตะวันออกกลางครั้งนี้ ทรัมป์ นำเสนอบทบาทสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรแบบดั้งเดิม และยังแทรกแซงตัวเองในหลายความขัดแย้งระดับโลกได้อย่างน่าทึ่ง

 

และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่ายุคใหม่ของทรัมป์ 2.0 นั้นอาจจะไม่ได้ถอยห่างหรือแยกตัวจากประชาคมโลกอย่างที่คิด

 

มุมมองที่เปลี่ยนไปจากสมัยแรก

 

มีหลายช่วงเวลาในทริปตะวันออกกลางนี้ ที่บ่งชี้ถึงมุมมองที่ขัดแย้งกันของทรัมป์ ในสมัยที่ 2 กับสมัยแรกของเขา

 

โดยในปี 2017 ประธานาธิบดีทรัมป์ ในสมัยแรก ได้ออกคำสั่งห้ามพลเมือง 7 ประเทศมุสลิม เดินทางเข้าสหรัฐฯ ซึ่งก่อให้เกิดข้อโต้แย้งและกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ในทริปตะวันออกกลางนี้ เขาได้ไปเยือนสถานที่สำคัญของศาสนาอิสลาม อย่าง มัสยิดชีคซายิด (Sheikh Zayed Grand Mosque) ในกรุงอาบูดาบี 

 

ขณะที่ทรัมป์ในสมัยแรก ยังเคยกล่าวโจมตีรัฐบาลกาตาร์ว่า ให้การสนับสนุนเงินทุนในการก่อการร้าย แต่ในการเยือนกาตาร์ครั้งนี้ เขาได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่จากเจ้าผู้ครองรัฐกาตาร์ และบรรลุดีลสำคัญด้านเศรษฐกิจและการลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการขายเครื่องบินของบริษัท Boeing จำนวนถึง 210 ลำ ให้แก่สายการบิน Qatar Airways และทรัมป์ ยังอาจได้รับของขวัญชิ้นใหญ่เป็นเครื่องบินสุดหรูขนาดที่ถูกเปรียบว่าเป็น ‘พระราชวังลอยฟ้า’

 

ด้าน ผศ. ดร.ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ อุปนายกสมาคมอเมริกันศึกษาในประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ท่าทีที่เปลี่ยนไปของทรัมป์ ต้องพิจารณาจากสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งบริบทในปี 2025 นั้นแตกต่างจากปี 2017 มาก เช่น ขณะนั้นยังไม่มีสงครามใหญ่อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดังนั้นการเปลี่ยนท่าทีของทรัมป์ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป และการดำเนินนโยบายต่างประเทศต้องปรับเปลี่ยนตามบริบทโลก ซึ่ง ณ ปัจจุบัน คือยุคของการพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจการค้า

 

ขณะที่การดีลกับประเทศตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในประเด็นความมั่นคงหรือการทหารนั้นถือเป็นเรื่องยากและต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่ง ผศ. ดร.ประพีร์ ชี้ว่า สิ่งที่ทรัมป์ทำอยู่ในทริปนี้ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุนเป็นหลัก ถือเป็นเรื่องที่ Win-Win คือทั้งฝ่ายสหรัฐฯ​และประเทศตะวันออกกลางต่างได้ประโยชน์ 

 

“สิ่งที่ทรัมป์ทำ อยู่ในกรอบ America First และมองได้ว่าในยุคนี้ การดีลกับต่างประเทศ เช่นประเทศในตะวันออกกลาง ในเรื่องของความร่วมมือทางการทหารและความมั่นคงนั้น ถือเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้าดีลเรื่องของเศรษฐกิจเนี่ย จะมีลักษณะของความ Win-Win ซึ่งการที่จะดีลเรื่องของความมั่นคงและการทหารได้ จะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันก่อน ดังนั้นตรงนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี” ผศ. ดร.ประพีร์ กล่าว

 

ชูบทบาทพันธมิตร คลายความขัดแย้งโลก

 

ระหว่างการเดินทางตลอด 4 วันของทรัมป์ ทั้งในซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีหลายความเคลื่อนไหวที่สำคัญและยังสะท้อนบทบาทนำของสหรัฐฯ ในระดับโลก

 

ทรัมป์ตัดสินใจที่จะยุติการคว่ำบาตรซีเรีย และกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ได้พบกับผู้นำซีเรียในรอบ 25 ปี โดยถือเป็นการตัดสินใจที่ค่อนข้างเสี่ยงและอาจไม่สอดคล้องนัก กับแนวคิด MAGA (Make America Great Again) และมุมมองของพันธมิตรทางการเมืองสายอนุรักษ์นิยม

 

ตลอดทริปนี้ ทรัมป์ยังแสดงบทบาทนำของสหรัฐฯ ในหลายประเด็นขัดแย้งระดับโลก เช่น การกล่าวเป็นนัยว่า เขามีบทบาทบรรเทาความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอินเดียและปากีสถาน หรือบอกว่า การเจรจาเรื่องนิวเคลียร์ของอิหร่านอาจดำเนินไปใน ‘แนวทางที่รุนแรง’ หากเตหะรานไม่ตอบสนองต่อการเจรจาที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ อย่างเหมาะสม หรือกล่าวว่าประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย จะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับยูเครน ก็ต่อเมื่อเขามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น 

 

“ลำดับความสำคัญของผมคือการยุติความขัดแย้ง ไม่ใช่การเริ่มความขัดแย้ง แต่ผมไม่ลังเลที่จะใช้พลังอำนาจของสหรัฐฯ หากจำเป็น เพื่อปกป้องสหรัฐฯ หรือพันธมิตรของเรา” ทรัมป์กล่าวกับทหารที่ฐานทัพอากาศอัลอูเดด (Al Udeid Air Base) ในกาตาร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (15 พฤษภาคม) 

 

ทางด้าน จิม ไฮมส์ (Jim Himes) สมาชิกคณะกรรมาธิการข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ POLITICO ว่า ก่อนการเยือนของทรัมป์ เขายังมีความกังวลในหลายประเด็นที่เกี่ยวกับนโยบายตะวันออกกลาง ทั้งภัยคุกคามของอิหร่าน โอกาสสำหรับผู้นำใหม่ของซีเรีย และความขัดแย้งในฉนวนกาซา

 

แต่หลังเสร็จสิ้นการเยือน เขามองว่าทรัมป์สามารถ ‘เล่นบทบาทของตัวเองในตะวันออกกลางได้ค่อนข้างดีทีเดียว’ โดยบาลานซ์บทบาทของตัวเองได้อย่างเท่าเทียม ทั้งในฐานะผู้เจรจาต่อรองและผู้รักษาสันติภาพ

 

ไม่โดดเดี่ยวตัวเอง ผลประโยชน์มาก่อน

 

หลากหลายนโยบายของทรัมป์ ถูกมองว่าเป็นแนวทาง Isolationism หรือลัทธิโดดเดี่ยว ที่พยายามแยกตัวจากสังคมโลก แต่การเยือนตะวันออกกลางของทรัมป์ครั้งนี้ ดูเหมือนจะสะท้อนท่าทีของเขา ที่พยายามประสานผลประโยชน์เข้ากับสังคมโลกและความเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้น 

 

ผศ. ดร.ประพีร์ มองว่า ท่าทีของทรัมป์ ที่ยึดถือแนวทาง America First นั้น ไม่ได้หมายถึงการอยู่โดดเดี่ยว แต่หมายถึงการ ‘ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของคนอเมริกัน’

 

การที่ทรัมป์ เลือกเดินทางไปตะวันออกกลางเป็นทริปแรกหลังรับตำแหน่งสมัยที่ 2 เป็นเพราะเขาเห็นว่า มีผลประโยชน์มากมาย ทั้งทางเศรษฐกิจ การทูต และยุทธศาสตร์ ซึ่งทรัมป์ไม่ได้ปฏิเสธโลก เพียงแต่เลือกมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศที่ให้ประโยชน์แก่สหรัฐฯ

 

“ทำไมต้องเดินทางเยือนตะวันออกกลางเป็นทริปแรก ก็เพราะว่าทรัมป์เห็นถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากภูมิภาคนี้ เช่น เรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีทางการทูต อาจจะดึงประเทศเหล่านี้มาคุยกับอิหร่านได้ง่ายขึ้น หรือพาตัวเองกลับเข้ามาอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลาง นี่คือผลประโยชน์ที่สหรัฐฯ จะได้”

 

นโยบายหมุนรอบตัวเอง

 

แม้ว่านโยบายต่างประเทศและท่าทีบางอย่างของทรัมป์ จะเปลี่ยนไปจากในวาระแรก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนสำหรับเขา คือการกำหนดนโยบายของตัวเองและเชื่อว่านโยบายนั้น ‘หมุนรอบตัวเขา’

 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นจากการที่เขาเน้นย้ำถึงบทบาทของตนเองมาโดยตลอด ทั้งในการเจรจาสันติภาพระหว่างยูเครนและรัสเซีย การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และการยับยั้งการสู้รบระหว่างอินเดียและปากีสถาน 

 

ขณะที่การเดินทางของทรัมป์ครั้งนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังผู้นำโลกว่า ข้อตกลงทางธุรกิจและการลงทุนต่างๆ ในสหรัฐฯ รวมถึงพิธีการต่างๆ ที่แสดงถึงการต้อนรับ และให้เกียรติเขา ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือและผลประโยชน์ระหว่างกันนั้น สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีได้

 

หลายนโยบายต่างประเทศยังคง ‘ยาก’

 

ทั้งนี้ แม้ว่า ทรัมป์อาจจะมีท่าทียอมรับแนวคิดแบบโลกาภิวัตน์มากขึ้น แต่เป้าหมายด้านนโยบายต่างประเทศของเขาหลายอย่าง ยังคงเป็นสิ่งที่ยากจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง

 

หนึ่งในนโยบายที่ทรัมป์เคยนำเสนอก่อนหน้านี้ คือการให้สหรัฐฯ เข้าครอบครองฉนวนกาซาและเปลี่ยนให้กลายเป็นริเวียร่าแห่งตะวันออกกลาง

 

ระหว่างการประชุมโต๊ะกลมกับภาคธุรกิจ ที่กรุงโดฮา ทรัมป์ กล่าวกับบรรดาผู้นำธุรกิจว่า “ผมมีแนวคิดสำหรับกาซาที่ผมคิดว่าดีมาก นั่นคือ ให้กาซาเป็นเขตเสรีภาพ ปล่อยให้สหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วม และให้กาซาเป็นเพียงเขตเสรีภาพเท่านั้น”

 

แม้ว่าวิสัยทัศน์ดังกล่าวดูไม่น่าจะเป็นไปได้ และสถานการณ์ในกาซายังคงน่ากังวลจากการที่อิสราเอลขยายปฏิบัติการทางทหาร จนทำให้มีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ต้องจับตามอง คืออิทธิพลและแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิสราเอล 

 

โดยในทริปเยือนตะวันออกกลางนี้ ปรากฏสัญญาณที่อาจเป็นรอยร้าวของความสัมพันธ์ฉันมิตรที่ยาวนานระหว่างผู้นำของทั้งสองประเทศ หลังทรัมป์ ตัดสินใจไม่ไปเยือนอิสราเอล ทั้งที่เป็นพันธมิตรสำคัญสูงสุดในภูมิภาค

 

ส่วนเรื่องการบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน จนถึงตอนนี้ยังคงไม่มีความแน่ชัดว่าจะเกิดขึ้นได้จริง แม้ว่าทรัมป์จะแสดงให้เห็นว่ามีความคืบหน้า หลังจากการเจรจา 4 รอบระหว่าง สตีฟ วิตคอฟฟ์ ผู้แทนพิเศษด้านตะวันออกกลางของสหรัฐฯ และผู้แทนของอิหร่าน 

 

ระหว่างเยือนกาตาร์ ทรัมป์กล่าวต่อผู้สื่อข่าวอย่างมั่นใจว่า ทั้งสองฝ่าย ‘ใกล้จะบรรลุข้อตกลงแล้ว’ และชี้ว่าอิหร่านค่อนข้างเห็นพ้องต่อเงื่อนไขข้อตกลง

 

แต่ท่าทีของทรัมป์ที่กล่าวย้ำหลายต่อหลายครั้งในช่วงสัปดาห์นี้ ว่าอิหร่านไม่สามารถมีอาวุธนิวเคลียร์ได้ และเตือนว่าหากอิหร่านทำเช่นนั้นจะเกิดผลร้ายแรงตามมา ส่งผลให้ประธานาธิบดี มาซูด เปเซชเคียน (Masoud Pezeshkian) ของอิหร่าน ไม่พอใจ และตอบโต้ว่า “ทรัมป์นั้นไร้เดียงสา ที่คิดว่าสามารถเข้ามาในภูมิภาคของเรา คุกคามเรา และหวังว่าเราจะยอมถอยตามข้อเรียกร้องของเขา”

 

ในทำนองเดียวกัน ความพยายามเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน

 

โดยทรัมป์ยังคงกดดันให้ผู้นำรัสเซียและยูเครนเดินทางไปเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพที่ตุรกีวานนี้ และกล่าวว่า เขาเต็มใจที่จะไปร่วมโต๊ะเจรจาด้วย แต่เมื่อเห็นชัดว่าปูตินจะไม่ไปด้วยตัวเอง น้ำเสียงของทรัมป์ก็เปลี่ยนไป และตัดสินใจไม่เดินทางไปตุรกี

 

ภาพ: REUTERS / Brian Snyder

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising