ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศรับรองให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลแล้ว พร้อมกับระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็น ‘ขั้นตอนที่ล่าช้ามาก’ ในการผลักดันกระบวนการสันติภาพให้เกิดขึ้นภายในภูมิภาค ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีต่ออิสราเอลและปาเลสไตน์ไปอย่างสิ้นเชิง หลังผู้นำสหรัฐฯ ในอดีตต่างประวิงเวลาและสงวนท่าทีต่อประเด็นดังกล่าว
“ผมได้ตัดสินใจแล้วว่า นี่คือช่วงเวลาที่จะรับรองให้กรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอลอย่างเป็นทางการ” พร้อมกันนี้ยังสั่งการให้เริ่มการเตรียมย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเลมอีกด้วย
นักวิเคราะห์หลายสำนักมองว่า การตัดสินใจของนายทรัมป์ในวันนี้ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ในครั้งนี้นายทรัมป์เลือกใช้คำว่า ‘กรุงเยรูซาเลม’ ซึ่งควบรวมพื้นที่บริเวณกรุงเยรูซาเลมตะวันออกที่ชาวปาเลสไตน์อ้างกรรมสิทธิ์ และตั้งใจจะใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเมืองหลวงเช่นกันในอนาคต
นอกจากนี้หากยึดตามหลักข้อตกลงสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ปี 1993 ระบุว่า การหารือเกี่ยวกับอนาคตของกรุงเยรูซาเลมจะอยู่ในกระบวนการเจรจาสันติภาพครั้งต่อไป ความไม่แน่ชัดเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือดินเเดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ จึงทำให้ทุกประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีกับอิสราเอลตัดสินใจตั้งสถานทูตที่กรุงเทลอาวีฟแทน
“วันนี้ ผมได้ทำตามสัญญาแล้ว” คือคำยืนยันของผู้นำสหรัฐฯ ที่เคยพูดไว้ในช่วงหาเสียงสนับสนุนเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เพื่อซื้อใจกลุ่มฐานเสียงที่มีหัวเอียงขวา โดยเฉพาะกลุ่มคนเชื้อสายยิวในสหรัฐฯ ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
หลังจากการประกาศรับรองเสร็จสิ้น บรรดาผู้นำประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรต่างแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ด้านนายเอ็มมานูเอล มาครง ได้ทวีตข้อความระบุว่า “ปารีสไม่ยอมรับการตัดสินใจดังกล่าวของสหรัฐฯ พร้อมที่จะสนับสนุนกระบวนการสันติภาพทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ และยังคงยืนยันว่า กรุงเยรูซาเลมยังคงเป็นเมืองหลวงของทั้ง 2 ประเทศ”
ในขณะที่สมเด็จพระราชาธิบดีซัลมานแห่งซาอุดีอาระเบีย หนึ่งในชาติพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ทรงเผยว่าการตัดสินใจดังกล่าว “จะกลายเป็นการยั่วยุชาวมุสลิมทั่วโลก” ด้านนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรเองก็ออกมาแสดงจุดยืนว่า “ตนไม่สนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าวของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และมองว่าสิ่งที่เขาได้ทำลงไปไม่ได้ช่วยสนับสนุนกระบวนการสันติภาพในอนาคตของภูมิภาคนี้แต่อย่างใด”
โดยในขณะนี้ 8 จาก 15 ประเทศสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำลังเรียกร้องให้มีการจัดประชุมอย่างเร่งด่วน เพื่อพิจารณาถึงการตัดสินใจของสหรัฐฯ ภายในสัปดาห์นี้
อ้างอิง: