×

ทรัมป์เผยยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติ มอง จีน-รัสเซีย ภัยคุกคามทางอำนาจและเศรษฐกิจ

20.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ภายใต้ธงอเมริกามาก่อนมีเสาหลัก 4 ประการ ได้แก่ การปกป้องมาตุภูมิ การปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกา การรักษาสันติภาพด้วยความเข้มแข็ง และการเสริมสร้างอิทธิพลของอเมริกา
  • ประเด็นสำคัญที่จัดอยู่ในการเฝ้าระวังของรัฐบาลอเมริกายังคงหนีไม่พ้นความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี โดยแผนฉบับนี้ได้จัดให้เกาหลีเหนือขึ้นแท่นอันดับ 1 ในฐานะรัฐอันธพาล ซึ่งอิหร่านก็อยู่ในรายชื่อเช่นกัน
  • ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของทรัมป์ยังมุ่งเน้นการรับมือการก่อการร้ายผ่านการคงปฏิบัติการทางทหารต่อต้านภัยคุกคามดังกล่าวเอาไว้ รวมถึงปฏิบัติการยับยั้งการเปลี่ยนให้บุคคลภายในประเทศกลายเป็นกลุ่มสุดโต่งด้วย
  • เอกสารชิ้นนี้ได้อ้างอิงถึง ‘ความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม’ เพียงเพื่อกล่าวถึงการมุ่งเน้นต่อ ‘มหาอำนาจทางพลังงาน’ ที่รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรเชื้อเพลิงในประเทศอย่างพลังงานฟอสซิลด้วย

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ มองจีนและรัสเซียในฐานะภัยคุกคามหลักต่ออำนาจและเศรษฐกิจประเทศ

 

ภายในการปราศรัยที่อาคารโรนัลด์ เรแกน ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวโจมตีการดำเนินงานของรัฐบาลยุคก่อนๆ ว่า มีความล้มเหลวในการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ และสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงสหรัฐฯ

 

เอกสารยุทธศาสตร์ความยาว 68 หน้า ระบุชัดเจนว่า ‘อเมริกามาก่อน’ ไม่ใช่เพียงนโยบายหาเสียง แต่ถือเป็นแนวทางสำคัญในการออกแบบนโยบายระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ในการสร้างดุลการค้าต่อประเทศอื่นๆ ในรัฐบาลยุคปัจจุบัน

 

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้กล่าวถึงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ พร้อมยกย่องความสำเร็จในการบริหารประเทศจากการถอนตัวออกจากความตกลงปารีสและข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์พยายามหลีกเลี่ยงการลงลึกถึงประเด็นต่างๆ ในเอกสาร ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวโยงต่ออิทธิพลของรัสเซียในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วย

 

 

เสาความมั่นคงใหม่

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ภายใต้ธงอเมริกามาก่อนมีเสาหลัก 4 ประการ ได้แก่ การปกป้องมาตุภูมิ การปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกา การรักษาสันติภาพด้วยความเข้มแข็ง และการเสริมสร้างอิทธิพลของอเมริกา

 

ประธานาธิบดีทรัมป์มองจีนและรัสเซียในฐานะคู่แข่งทางอำนาจที่พยายามท้าทายอิทธิพล คุณค่า และความรุ่งเรืองของประเทศ

 

“เราจะพยายามสานสัมพันธ์อันยิ่งใหญ่ต่อพวกเขาและประเทศอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ปกป้องผลประโยชน์ของชาติด้วย” ทรัมป์กล่าว

 

ขณะเดียวกัน ทรัมป์ได้เล่าถึงการคุยโทรศัพท์สายตรงกับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยผู้นำรัสเซียได้ขอบคุณความช่วยเหลือจากหน่วยสืบราชการลับสหรัฐฯ ที่แจ้งเตือนภัยก่อการร้ายในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่อาจพรากชีวิตคนหลายพันได้หากไม่มีปฏิบัติการยับยั้ง

 

เอกสารระบุว่า นอกเหนือจากความท้าทายที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญจากการชิงตำแหน่งมหาอำนาจของโลกจาก 2 ประเทศที่กล่าวถึง รัฐบาลทรัมป์ยังมองถึงภัยคุกคามจากรัฐอย่างเกาหลีเหนือและอิหร่านที่ครอบครองอาวุธทำลายล้าง และภัยจากกลุ่มก่อการร้ายด้วย

 

 

รัฐอันธพาลและก่อการร้าย

ประเด็นสำคัญที่จัดอยู่ในการเฝ้าระวังของรัฐบาลอเมริกายังคงหนีไม่พ้นความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี โดยแผนฉบับนี้ได้จัดให้เกาหลีเหนือขึ้นแท่นอันดับ 1 ในฐานะรัฐอันธพาล ซึ่งอิหร่านก็อยู่ในรายชื่อเช่นกัน

 

สหรัฐอเมริกาได้ประณามการทดสอบขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องของโสมแดง และวิจารณ์ปากีสถานที่ไม่สามารถจัดการกลุ่มผู้ก่อการร้ายได้

 

ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของทรัมป์ยังมุ่งเน้นการรับมือการก่อการร้ายผ่านการคงปฏิบัติการทางทหารต่อต้านภัยคุกคามดังกล่าวเอาไว้ รวมถึงปฏิบัติการยับยั้งการเปลี่ยนให้บุคคลภายในประเทศกลายเป็นกลุ่มสุดโต่งด้วย

 

นอกเหนือจากมุมมองต่อภัยจากประเทศอื่นๆ และขบวนการก่อการร้ายแล้ว แผนรับมือนี้ได้ให้ความสำคัญต่อภัยคุกคามโลกไซเบอร์และประเด็นผู้ลี้ภัย ซึ่งทรัมป์ได้กล่าวถึงแผนสร้างกำแพงบริเวณชายแดนเม็กซิโกดังที่เคยลั่นวาจาไว้สมัยหาเสียง

 

ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันรายนี้ให้คำมั่นว่า แผนกำแพงป้องกันผู้อพยพผิดกฎหมาย อัตราว่างงานที่ต่ำลง และการตัดภาษี จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้

 

โลกร้อนไม่ใช่ประเด็น

จากยุทธศาสตร์ที่มีการเผยแพร่ขึ้นมานี้ ฝ่ายนักวิเคราะห์ชี้ว่า นโยบายเหล่านี้ไม่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแต่อย่างใด

 

เอกสารชิ้นนี้ได้อ้างอิงถึง ‘ความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม’ เพียงเพื่อกล่าวถึงการมุ่งเน้นต่อ ‘มหาอำนาจทางพลังงาน’ ที่รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรเชื้อเพลิงในประเทศอย่างพลังงานฟอสซิลด้วย

 

การเปลี่ยนแปลงท่าทีอย่างสุดขั้วจากรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา ถูกมองในฐานะความเสี่ยงที่จะกระทบต่อสหรัฐฯ และการสร้างความตกลงในเวทีระหว่างประเทศต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X