โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่า มีแผนเรียกเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% รวมถึงชิปเซมิคอนดักเตอร์และเวชภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นมาตรการล่าสุดของมาตรการกำแพงภาษีเขย่าการค้าโลกอีกระลอก ขณะที่จีนออกมาประณามสหรัฐฯ และ WTO เตือนทั่วโลกเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีรถยนต์จะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในวันที่ 2 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีกำหนดส่งรายงาน ที่ระบุถึงทางเลือกสำหรับภาษีนำเข้าต่างๆ โดยทรัมป์พยายามปฏิรูปการค้าโลก ซึ่งโจมตีสิ่งที่เรียกว่าการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อการส่งออกรถยนต์ของสหรัฐฯ ในตลาดต่างประเทศมานานแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น สหภาพยุโรปจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ 10% ซึ่งสูงกว่าอัตราภาษีรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ที่ 2.5% ถึง 4 เท่า อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ เก็บภาษีรถกระบะ 25% จากประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งเป็นการจัดเก็บที่ทำกำไรให้กับผู้ผลิตรถยนต์ได้มาก
มารอส เซฟโกวิช หัวหน้าฝ่ายการค้าของสหภาพยุโรป (EU) จะเข้าพบกับผู้แทนสหรัฐฯ ได้แก่ โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ จามีสัน กรีร์ ผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยทรัมป์ให้ดำรงตำแหน่งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และ เควิน ฮัสเซตต์ ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันพุธ (19 กุมภาพันธ์) เพื่อหารือเกี่ยวกับภาษีศุลกากร
เมื่อถูกถามว่าสหภาพยุโรปสามารถหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตอบโต้ที่เขาเสนอเมื่อสัปดาห์ก่อนได้หรือไม่ ทรัมป์ย้ำว่า “สหภาพยุโรปส่งสัญญาณแล้วว่าจะลดภาษีนำเข้ารถยนต์สหรัฐฯ ลงเหลืออัตราเท่ากับที่เก็บกับสหรัฐฯ แม้ว่าสมาชิกรัฐสภาสหภาพยุโรปจะปฏิเสธว่าไม่ได้ทำเช่นนั้นก็ตาม”
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ทรัมป์กล่าวว่า ภาษีศุลกากรเฉพาะกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ยาและชิปเซมิคอนดักเตอร์นั้น จะเริ่มต้นที่อัตรา 25% ขึ้นไป และจะทยอยเพิ่มขึ้นในระยะเวลา 1 ปี และทรัมป์คาดหวังว่าบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกบางแห่งจะประกาศการลงทุนใหม่ในสหรัฐฯ ในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 4 สัปดาห์ก่อน ทรัมป์กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมด 10% นอกเหนือจากภาษีที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากจีนไม่สามารถหยุดยั้งการค้าเฟนทานิลได้ นอกจากนี้ยังประกาศและเลื่อนกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโก และสินค้าที่ไม่ใช่พลังงานจากแคนาดาออกไป 1 เดือน โดยกำหนดภาษี 25%
และยังกำหนดให้วันที่ 12 มีนาคมเริ่มเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% ซึ่งจะทำให้แคนาดา เม็กซิโก สหภาพยุโรป และพันธมิตรทางการค้าอื่นๆ ได้รับการยกเว้น
ทรัมป์ยังประกาศด้วยว่าภาษีดังกล่าวจะนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ปลายน้ำนำเข้าหลายร้อยรายการที่ทำจากเหล็กและอะลูมิเนียม ตั้งแต่ท่อร้อยสายไฟฟ้าไปจนถึงใบมีดของรถปราบดิน
ในวันเดียวกัน สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า จีนออกมาประณามภาษีศุลกากรที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใช้หรือคุกคามในการประชุมองค์การการค้าโลก (WTO)
โดยเตือนว่า “ภาษีศุลกากรที่พุ่งสูงอาจคุกคามระบบการค้าโลก และอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปทั่วโลกได้”
นับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนทั้งหมดถึง 10% ส่งผลให้จีนตอบโต้ด้วยการจัดเก็บภาษีตอบโต้ และยื่นข้อพิพาทกับวอชิงตันภายใต้ WTO ซึ่งอาจเป็นการทดสอบจุดยืนของทรัมป์ในระยะเริ่มต้น
ด้าน หลี่เฉิงกัง เอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวในการประชุมแบบปิดขององค์การการค้าโลกว่า “ภาวะภาษีศุลกากรเหล่านี้ยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ สร้างความปั่นป่วนทางการค้าโลก ตลอดจนสร้างความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศ เกิดการบิดเบือนตลาด กระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก”
พร้อมเสริมว่า “สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้น การขึ้นภาษีฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ คุกคาม และทำลายระบบการค้าแบบพหุภาคี”
อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของ WTO ที่เริ่มขึ้นในช่วงค่ำเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 ถือเป็นครั้งแรกที่ความขัดแย้งด้านการค้าทวีความร้อนแรงมากขึ้น และจะได้รับการนำเสนออย่างเป็นทางการในวาระการประชุมของสภากลาง ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดขององค์กรเฝ้าระวังการค้าโลก
ทั้งนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจนทันทีว่า เอกอัครราชทูตการค้าประจำเจนีวาแสดงความคิดเห็นอย่างไร
ขณะที่ เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่ เรียกร้องให้สมาชิก WTO ทั้ง 166 ประเทศ หลีกเลี่ยงการตอบโต้ในกรณีที่เกิดภาษีศุลกากร เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงครามการค้าที่อาจกลายเป็นหายนะในอนาคต
ทั้งนี้ ข้อพิพาทระหว่างสองประเทศที่เป็นผู้นำเศรษฐกิจของโลกที่ WTO ครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนการมาถึงของทรัมป์ 2.0 โดยจีนกล่าวหาว่าวอชิงตันละเมิดกฎเกณฑ์ ในขณะที่สหรัฐฯ โต้กลับจีนว่า “ไม่สมควรได้รับสถานะประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งทำให้จีนได้รับการปฏิบัติเป็นพิเศษภายใต้กฎของ WTO”
ภาพ: Chip Somodevilla / Getty Images, Just_Super / Getty Images
อ้างอิง: