×

เบื้องหลังภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงบนเวทีออสการ์

20.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins read
  • ออสการ์ ครั้งที่ 90 ในปี 2018 ภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสร้างจากเรื่องจริงมีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่ Darkest Hour, Dunkirk และ The Post นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์จากเรื่องจริงที่ได้เข้าชิงรางวัลสาขาอื่นๆ ด้วย
  • จากสถิติรายได้โดยรวมของ U.S. Box Office ช่วงปี 1990-2016 ภาพยนตร์ทั่วไปที่สร้างจากเรื่องจริงจะทำเงินได้ประมาณ 29 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ภาพยนตร์จากเรื่องแต่งทำเงินได้ถึง 74 ล้านเหรียญสหรัฐ

ออสการ์ในแต่ละปีย่อมโผล่ชื่อภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลใหญ่ๆ ที่ ‘Based on a True Story’ หรือสร้างจากเรื่องจริงมาอยู่เสมอ กระทั่ง Forbes เองยังเคยมีบทความ True Stories Dominate Oscar Nominees ที่พูดถึงภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงและได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งในปี 2014 ที่บทความปล่อยออกมานั้นมีภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงถึง 7 เรื่อง จากรายชื่อหนังที่เข้าชิงทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่ American Hustle, Captain Phillips, Dallas Buyers Club, Nebraska, Philomena, The Wolf of Wall Street รวมถึง 12 Years a Slave ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในปีนั้นไปครอง

 

เช่นเดียวกับงานประกาศรางวัลออสการ์ในปี 2015 และ 2016 ที่มีภาพยนตร์จากเรื่องจริงถึง 4 เรื่องเท่ากันที่ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จนมาถึงงานออสการ์ ครั้งที่ 90 ในปี 2018 ภาพยนตร์ที่ได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสร้างจากเรื่องจริงมีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่ Darkest Hour, Dunkirk และ The Post นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์จากเรื่องจริงที่ได้เข้าชิงรางวัลสาขาอื่นๆ ด้วย

 

แคธารีน แกรห์ม และเบน แบรดลี รับบทโดย เมอรีล สตรีป และทอม แฮงส์ ใน The Post (2017)

 

จากชีวิตจริงสู่เวทีออสการ์

มีการรวบรวมข้อมูลผลรางวัลออสการ์จาก hubspot.net ที่ระบุว่า ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงและได้อยู่บนเวทีออสการ์ตั้งแต่ปี 1935-2015 มีภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง 24% ที่ชนะรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ในขณะที่นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงมี 30% นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม 19% และผู้กำกับยอดเยี่ยม 22% ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ไม่ได้สูงเกินคาด

 

ในแง่ของการตลาด เปอร์เซ็นต์ของภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงก็ทำเงินได้น้อยกว่าภาพยนตร์ที่เป็นเรื่องแต่งอยู่มาก วิเคราะห์ได้จากสถิติรายได้โดยรวมของ U.S. Box Office ช่วงปี 1990-2016 ภาพยนตร์ทั่วไปที่สร้างจากเรื่องจริงจะทำเงินได้ประมาณ 29 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ภาพยนตร์จากเรื่องแต่งทำเงินได้ถึง 74 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ รับบทโดย เดวิด โอเยโลโว ใน Selma (2015)

 

จริงแค่ไหนเรียกว่าจริง

แต่การจะเรียกภาพยนตร์เรื่องหนึ่งว่าเป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงนั้นก็อาจจะกำกวมอยู่พอสมควร เพราะในจำนวนภาพยนตร์ที่อ้างว่าสร้างจากเรื่องจริงทั้งหมดก็มีเรื่องจริงปนอยู่ในหนังไม่เท่ากัน informationisbeautiful.net ได้ทำการศึกษาภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงจำนวน 17 เรื่องที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ เพื่อคำนวณหาเปอร์เซ็นต์ของเรื่องจริง-เรื่องแต่งในแต่ละเรื่อง ได้แก่ Lion (2016), Hidden Figures (2016), Hacksaw Ridge (2016), The Big Short (2016), Spotlight (2015), Bridge of Spies (2015), Selma (2015), American Sniper (2015), The Imitation Game (2015), Dallas Buyers Club (2014), The Wolf of Wall Street (2014), 12 Years a Slave (2014), Philomena (2013), Captain Phillips (2013), Rush (2013), The Social Network (2010) และ The King’s Speech (2010) ผลสำรวจพบว่าภาพยนตร์ที่มีเรื่องจริงมากที่สุดคือ Selma (100%) ตามมาด้วย The Big Short (91.4%) และ Bridges of Spies (89.9%) โดยภาพยนตร์ที่อ้างว่าสร้างจากเรื่องจริง แต่มีการแต่งเติมเรื่องราวเข้าไปมากที่สุดคือ The Imitation Game ซึ่งมีเรื่องจริงอยู่เพียง 41.4%

 

คริสตอส ไมเคิลส์ ตัวแทนจาก Lee & Thompson LLP บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายในอังกฤษ เคยให้สัมภาษณ์กับ The Independent อธิบายถึงคำศัพท์ที่ใช้กำกับภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงเอาไว้ว่า

 

การใช้คำว่า ‘Inspired by a true story’ หรือได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริง หมายถึงภาพยนตร์นั้นๆ อาจจะแค่เอาไอเดียคร่าวๆ มาจากเรื่องจริง โดยเนื้อหาในภาพยนตร์ไม่ต้องตรงกับข้อเท็จจริงเลยก็ได้ และตัวละครก็ไม่จำเป็นต้องมีอยู่จริง ในขณะที่คำว่า ‘Based on a true story’ จะต้องเล่าถึงเนื้อหาที่มีตัวบุคคลจากเรื่องจริง และจำเป็นต้องอาศัยความถูกต้องชัดเจนของเนื้อหาในภาพยนตร์มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวก็ยังแตกต่างไปในแต่ละประเทศด้วย

 

 

วินสตัน เชอร์ชิลล์ รับบทโดย แกรี โอลด์แมน ใน Darkest Hour (2017)

 

หนังที่สร้างจากเรื่องจริงบนเวทีออสการ์ ปี 2018

ในปีนี้เราก็ยังได้เห็นเทรนด์ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงบนเวทีออสการ์อยู่บ้าง ทั้งในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและสาขาอื่นๆ ทั้งนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม โดยภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงที่น่าจับตามองและได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ปี 2018 มีดังนี้

 

Loving Vincent

เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม Loving Vincent สร้างจากชีวประวัติของศิลปินชื่อดังระดับโลก วินเซนต์ แวน โก๊ะ กำกับโดย โดโรตา โคเบียลา และฮิวจ์ เวลช์แมน จากการรวบรวมทุนทำภาพยนตร์ผ่านเว็บไซต์ Kickstarter ที่ทำให้เราได้ชมภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ใช้ลายเส้นวาดทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อโลกค้นพบทฤษฎีการฆ่าตัวตายที่น่าเศร้าของแวน โก๊ะ Loving Vincent จึงเล่าเรื่องราวชีวิตการเป็นศิลปินและความเดียวดายของเขาเมื่อตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ แม้สุดท้าย ‘ความจริง’ ของการจากไปของศิลปินระดับตำนานคนนี้ยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัด แต่ Loving Vincent ก็เตือนให้คนดูสนใจเรื่องราวขณะเขามีชีวิต ไม่ใช่สาเหตุการตายเท่านั้น

 

Photo: www.historyvshollywood.com

 

Dunkirk

ภาพยนตร์ฝีมือการกำกับของคริสโตเฟอร์ โนแลน เข้าชิงถึง 8 รางวัลออสการ์ รวมทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Dunkirk เล่าเรื่องราวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1940 และยุทธการดันเคิร์ก’ หรือการอพยพทหารอังกฤษและฝรั่งเศสออกจากชายหาดในเมืองดันเคิร์ก ซึ่งในภาพยนตร์นำเสนอบทบาทของชาวบ้านที่ส่งเรือเล็กไปช่วยเหลือทหารที่ติดอยู่บนชายหาดกว่า 400,000 นาย โดยสามารถช่วยได้สำเร็จถึง 338,000 ราย การหยิบยกเรื่องดันเคิร์กมาเล่าเป็นเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ แต่โนแลนเลือกที่จะสร้างคาแรกเตอร์ในหนังขึ้นมาใหม่ประกอบกับเรื่องราวจริง แต่ก็มีตัวละครหลักอย่างนักบิน Royal Air Force ‘Farrier’ ที่นำแสดงโดย ทอม ฮาร์ดี ที่แม้จะเป็นตัวละครที่แต่งขึ้น แต่ก็มีความใกล้เคียงกับบุคคลในประวัติศาสตร์จริงอย่าง อลัน คริสโตเฟอร์ เดียร์ นักบินชาวนิวซีแลนด์ ที่เครื่องบินตกบนชายหาดเช่นเดียวกับตัวละครของทอม ฮาร์ดี  

 

Darkest Hour

เข้าชิงออสการ์ถึง 6 รางวัล รวมทั้งรางวัลที่น่าจับตามองอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (แกรี โอลด์แมน) กำกับภาพยนตร์โดย โจ ไรต์ Darkest Hour เล่าเรื่องราวของวินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวของดันเคิร์กเช่นเดียวกัน มีการระบุว่าเนื้อหาใน Darkest Hour ไม่นำเสนอความจริงทางประวัติศาสตร์ได้ถูกต้องเท่าที่ควร และบ้างก็อ้างว่า Darkest Hour ถูกเสริมรายละเอียดบางอย่างให้สนุกเกินจริง อย่างซีนที่วินสตันขึ้นรถไฟใต้ดินและได้รับกำลังใจจากประชาชนให้สู้ต่อไปก็เป็นเรื่องราวที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง แต่ก็เป็นซีนที่ทำให้ Darkest Hour เวอร์ชันภาพยนตร์ทรงพลังยิ่งขึ้น

 

 

I, Tonya

จากนักสเกตน้ำแข็งรางวัลโอลิมปิก ทอนยา ฮาร์ดิง ต้องเจอกับคดีลอบทำร้ายคู่แข่งจนทำให้กลายเป็นข่าวดังและทำลายชีวิตการทำงานของเธอ หนังพาเราย้อนเรื่องราวของคดีดังกล่าวและความเป็นมาของทอนยาผ่านฝีมือการกำกับของเครก กิลเลสปีย์ โดยในปีนี้ I, Tonya เข้าชิงรางวัลนักแสดงนำหญิง นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม รวมถึงรางวัลตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

 

ในชีวิตจริง คดีของทอนยา ฮาร์ดิง และเพื่อนคู่แข่งแนนซี เคอร์ริแกน ก็ยังไม่สามารถยืนยันเรื่องจริงที่เกิดขึ้นได้ แม้จะมีหลายกระแสที่กล่าวว่าทอนยาสมรู้ร่วมคิดในการลอบทำร้ายแนนซีจริง และภาพยนตร์ I, Tonya ถือเป็นการบอกเล่าประวัติชีวิตของทอนยาในแบบที่เธอต้องการ

 

The Post

เรื่องราวของ Pentagon Papers และการเปิดโปงความลับรัฐบาล ที่นำแสดงโดย ทอม แฮงส์ และเมอรีล สตรีป กำกับภาพยนตร์โดย สตีเวน สปีลเบิร์ก

 

The Post เข้าชิงออสการ์ 2 รางวัลคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ในช่วงปี 1971 แคธารีน แกรห์ม (รับบทโดย เมอรีล สตรีป) ทำงานในสำนักพิมพ์ The Washington Post และตัดสินใจร่วมมือกับบรรณาธิการ เบน แบรดลี (รับบทโดย ทอม แฮงส์) ในการประสานงานกับ The New York Times เพื่อเปิดโปงความลับของรัฐบาลที่อยู่มานานกว่า 3 ทศวรรษ ภายใต้การปิดบังของประธานาธิบดีถึง 4 คน ซึ่งทำให้พวกเขาต้องเสี่ยงทั้งชีวิตและหน้าที่การงานของตัวเองในฐานะสื่อกับการเปิดเผยความจริงให้กับประชาชนชาวอเมริกันได้รับรู้

 

All The Money in the World

คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม จากภาพยนตร์ชีวประวัติดราม่า All the Money in the World กำกับภาพยนตร์โดย ริดลีย์ สก็อตต์ ที่เล่าเรื่องราวของ ‘Getty Kidnapping’ ในปี 1973 คดีการลักพาตัวหลานชาย วัย 16 ปี จอห์น พอล เก็ตตี ที่ 3 และปู่ของเขา จอห์น พอล เก็ตตี ผู้เป็นมหาเศรษฐีพันล้านที่ไม่ยอมจ่ายค่าประกันตัว นำแสดงโดยนักแสดงมือรางวัลทั้ง มิเชล วิลเลียมส์, คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ และมาร์ก วอห์ลเบิร์ก เขียนบทโดย เดวิด สการ์ปา ที่ใช้เรื่องราวจากหนังสือ Painfully Rich: The Outrageous Fortune and Misfortunes of the Heirs of J. Paul Getty เขียนโดย จอห์น เพรสตัน ที่แม้แต่บทภาพยนตร์และฉากในภาพยนตร์ที่ออกมาก็มีการอ้างว่าดราม่าน้อยกว่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ

 

นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงและได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาอื่นๆ ในปีนี้อีกทั้ง The Big Sick, The Greatest Showman และ Victoria and Abdul

 

สำหรับงานอคาเดมี อวอร์ดส์ หรืองานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 90 ประจำปี 2018 ได้พิธีกรอารมณ์ดี จิมมี คิมเมล มาเป็นโฮสต์ของงาน โดยงานจะจัดขึ้นในวันที่ 4 มีนาคมนี้ ตามเวลาท้องถิ่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X