ในวันที่ TRUE และ DTAC ประกาศควบรวมอย่างเป็นทางการ หนึ่งในทิศทางที่บริษัทใหม่ (ภายใต้ชื่อเดิม) ต้องการคือการบุกไลฟ์สไตล์มากขึ้น และกลายเป็นที่มาของการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ที่ชื่อ TrueX ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น ‘ซูเปอร์แอปด้านการใช้ชีวิต’
TrueX จะเป็นแอปพลิเคชันที่มาพร้อมกับ 6 โซลูชันและแพ็กเกจ ประกอบด้วย X Home – การดูแลบ้าน, X Health – การดูแลสุขภาพ, X Learning – การเรียนรู้, Utility & Energy – ประหยัดพลังงาน, Shopping – การช้อปปิ้ง และ X Entertainment – ความบันเทิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ทรู’ เชื่อว่าหนี้จะเริ่มลดลงหลังควบรวม ‘ดีแทค’ ล่าสุด ‘ทริสเรทติ้ง’ ขยับความน่าเชื่อถือจาก BBB+ เป็น A+
- ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ จะให้บริการภายใต้แบรนด์ ‘ทรู’ และ ‘ดีแทค’ ต่อไปอีก 3 ปีตามกฎ กสทช. ย้ำการแข่งขันยังมีต่อไปแน่นอน
- ลิซ่า BLACKPINK ไม่ได้เป็นพรีเซนเตอร์แค่ TrueID แต่เป็นการดีลระดับเครือ CP ที่เตรียมปรากฏตัวในอีกหลายแบรนด์
เอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ภายหลังการรวมธุรกิจ TRUE และ DTAC ที่ผ่านมา ทรู คอร์ปอเรชั่น ยิ่งมีความชัดเจนในฐานะ Tech Company ที่จะผสานพลังกันนำประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลของ TRUE
โดยการควบรวมนั้นถูกมองว่าจะเข้ามาช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดำเนินงานและงบลงทุน รวมถึงการปิดจุดอ่อนของ DTAC เดิมที่มีข้อจำกัดบริการ 5G และเน็ตบ้านเชิงพาณิชย์
“แบรนด์ใหม่ครั้งนี้ นอกเหนือจากยกระดับภาพ TRUE สู่การเป็น Tech Company เต็มรูปแบบแล้ว สิ่งสำคัญคือการนำเสนอเทคโนโลยีแห่งการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคปัจจุบันที่มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไปมาก เน้นความสะดวกสบาย รวดเร็ว เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านทุกดีไวซ์ ในราคาที่ทุกคนสัมผัสได้ สามารถตอบโจทย์วิถีเฉพาะบุคคล (Personalization) ได้อย่างชัดเจน”
อย่างไรก็ตาม ทรู คอร์ปอเรชั่น ขอไม่ตอบว่า TrueX จะเข้ามาช่วยในเรื่องของรายได้เท่าไร แต่คาดหวังแค่ว่าจะสามารถมียอดดาวน์โหลด 1 ล้านครั้งภายใน 1 ปีหลังการเปิดตัว
พร้อมกันนี้ยังได้ดึง ‘ลิซ่า BLACKPINK’ มาเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ซึ่งนี่ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ 2 ต่อจาก TrueID ที่ได้เปิดตัวไปก่อนหน้านี้
การรวมตัวของผู้เล่นเบอร์ 2 และ 3 ในตลาดถูกระบุว่า เป็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมูลค่าของกิจการ โดยมูลค่าตลาดของทั้งสองบริษัทรวมกัน (Market Capitalization) ประมาณ 2.94 แสนล้านบาท
ท่ามกลางความกังวลทั้งการผูกขาดหรือผลประโยชน์ของลูกค้าอันเกิดจากการแข่งขันที่ลดลงเนื่องจากมีผู้เล่นน้อยราย แต่ TRUE ได้ยืนยันว่า ลูกค้าของทั้ง 2 บริษัทจะได้รับประโยชน์จากการควบรวมทันที
แม้จะบอกว่าการแข่งขันจะมีอยู่เหมือนเดิม แต่บทวิเคราะห์จาก บล.เมย์แบงก์ กลับชี้ว่า การแข่งขันลดลงทันทีหลังควบรวมกิจการเสร็จสิ้น โดยเมื่อวันที่ 2 มีนาคม DTAC ได้ปรับขึ้นราคาแพ็กเกจรายเดือน (สำหรับซิมการ์ดใหม่) เพื่อให้เท่ากับระดับราคาของ TrueMove H และ AIS
ซึ่งในบรรดาแพ็กเกจที่จำกัดการใช้งานอินเทอร์เน็ตโดย DTAC จาก 5 แพ็กเกจ มี 3 แพ็กเกจที่ราคาต่อ GB เพิ่มขึ้น 15-38 บาท ในขณะที่อีก 2 แพ็กเกจไม่มีการเปลี่ยนแปลงราคา
ขณะที่ผลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ดีขึ้นและการแข่งขันด้านราคาที่เบาลง บล.เมย์แบงก์ คาดการณ์ว่ารายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ TRUE (77.4% ของรายได้จากบริการหลักในปี 2566) จะเติบโต 3.4% ในปี 2566 ฟื้นตัวจากที่รายได้ลดลง 2.8% ในปี 2565