×

ราชสถาน ดินแดนสีทองของพระราชาที่เปลี่ยนมุมมองความเป็น ‘อินเดีย’ และเสน่ห์ที่เล่ายังไงก็ไม่หมด

23.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • ท่องราชาสถาน ดินแดนแห่งพระราชา กับการเดินทางที่เปลี่ยนมุมมองความคิดเกี่ยวกับ ‘อินเดีย’ เสียใหม่
  • ไจซาลเมอร์มีชื่อเล่นว่า ‘เมืองสีทอง’ อันเนื่องมาจากตั้งอยู่ท่ามกลางทะเลทรายในรัฐราชาสถาน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ตั้งแต่บ้านเรือน วัด วัง หรือป้อมปราการ จึงใช้ดินทรายเป็นหลัก ทำให้ทั้งเมืองมีสีเหลืองทองอร่าม
  • จุดเด่นของอุทัยปุระคือ พระราชวังขนาดใหญ่ริมทะเลสาบพิโชลา ที่ตอกย้ำความเป็นเมืองตากอากาศของราชวงศ์ ทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่โรแมนติกที่สุดอีกเมืองหนึ่งของทวีปเอเชีย

เรารู้จักอินเดียแบบไหนกันบ้าง

 

ถ้าพูดถึงประเทศอินเดียหรือคนอินเดีย สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวคืออะไร แต่ละคนก็คงคิดกันไปต่างๆ นานาตามแต่ประสบการณ์ ความรู้ หรือสิ่งที่ได้ยินมา

 

ครั้งหนึ่งตัวผมเองก็เคยมีภาพอินเดียในหัวแบบหนึ่ง จนได้ลองเดินทางไปสัมผัสด้วยตัวเองครั้งแรกที่นิวเดลี (New Delhi) ตามมาด้วยแคชเมียร์ (Kashmir), ลาดักห์ (Ladakh) และอักรา (Agra) ที่ทำให้รู้ได้อย่างถ่องแท้เลยว่า ความเป็นอินเดียในแต่ละที่นั้นช่างแตกต่างกัน คนทางภาคเหนือที่ราบสูงก็มีเชื้อชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิต หรือศาสนาที่แตกต่างจากชาวอินเดียในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่อย่างสิ้นเชิง

 

ดังนั้น ‘เสน่ห์ของอินเดีย’ จึงไม่สามารถสัมผัสได้เพียงทริปเดียวแล้วจบสิ้น จากอินเดียที่เป็นโจทย์ตั้งต้นของเราในความคิดเรา ผ่านพ้นทริปแรกมา ความเป็นอินเดียได้ถูกบวกลบใหม่จนกลายเป็นอินเดียสูตรที่ 2 ในหัว ทีนี้เราอยากได้อินเดียสูตรที่ 3 แบบไหน การสรรหาเส้นทางท่องเที่ยวครั้งใหม่จึงเกิดขึ้น

 

 

ครั้งนี้เราอยากสัมผัสวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และศิลปะแบบอินเดียที่งดงามละเมียดละไมดูบ้าง หมุดจึงปักลงที่รัฐราชสถาน (Rajasthan) ซึ่งอยู่ตะวันตกสุดของประเทศอินเดีย ติดชายแดนปากีสถาน และชื่อของรัฐก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นดินแดนแห่งพระราชา แน่นอนว่าต้องมีวัง มีป้อม มีความสวยงามหรูหราตามแบบราชวงศ์ให้เราสัมผัสอย่างแน่นอน

 

ด้วยระยะเวลาที่มีเหลือเฟือในการเดินทางครั้งนี้ เราเลยใส่ทั้ง 4 เมืองหลักที่เราอยากไปได้ครบ โดยเริ่มต้นที่ ชัยปุระ หรือจัยปูร์ (Jaipur), ไจซาลเมอร์ (Jaisalmer), จ๊อดห์ปูร์ (Jodhpur) และ อุทัยปุระ หรืออุเดเปอร์ (Udaipur) ซึ่งเมืองที่เป็นที่คุ้นเคยในหมู่นักท่องเที่ยวชาวไทยก็คือจัยปูร์ และถัดมาคือจ๊อดห์ปูร์ เนื่องจากการเดินทางสะดวก มีสนามบินที่มีเที่ยวบินไปกลับจากนิวเดลีให้เลือกมากมาย

 

ในขณะที่ไจซาลเมอร์ไม่มีแม้กระทั่งสนามบิน และต้องนั่งรถส่วนตัวไปจากจัยปูร์ร่วม 10 ชั่วโมง ส่วนอุเดเปอร์ที่อยู่ลงมาใต้สุดของรัฐ ถ้าขับตรงมาจากจัยปูร์โดยไม่ผ่านจ๊อดห์ปูร์ก็ใช้เวลาร่วม 7 ชั่วโมงได้ และถ้านั่งรถร่วมครึ่งวัน เพื่อไปเที่ยวเพียงครึ่งวันแล้วไปต่อ อาจจะไม่ได้ซึมซับอะไรในเมืองนั้นๆ ดังนั้นจึงควรเผื่อเวลาเอาไว้ให้มากในการเดินทางท่องเที่ยวในรัฐนี้ แต่ถึงจะเดินทางยากเสียหน่อย แต่กลับกลายเป็น 2 เมือง (ที่มักหลุดโผ) ผมและผู้ร่วมทริปต่างลงความเห็นกันว่าประทับใจที่สุดแล้ว

 

 

ไจซาลเมอร์ แดนสุวรรณภูมิ

ไจซาลเมอร์มีชื่อเล่นว่า ‘เมืองสีทอง’ อันเนื่องมาจากตั้งอยู่ท่ามกลางทะเลทรายในรัฐราชาสถาน สิ่งก่อสร้างต่างๆ ตั้งแต่บ้านเรือน วัด วัง หรือป้อมปราการ จึงใช้ดินทรายเป็นหลัก ทำให้ทั้งเมืองมีสีเหลืองทอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเช้าหรือช่วงใกล้เวลาพระอาทิตย์ตก ตึกรามบ้านช่องที่ตั้งรับมุมได้พอดีกับแสง จะยิ่งเปล่งประกายความเป็นเมืองสีทองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และด้วยภูมิประเทศที่เมืองนี้ถูกล้อมรอบด้วยทะเลทรายธาร์​ (Thar Desert) แน่นอนว่าต้องมีที่พักแบบแคมป์กลางทะเลทราย และเราก็ไม่พลาดที่จะไปลองอิงแอบกลางทะเลทรายดูสักคืน โดยมีกิจกรรมให้ทำเพลินๆ อย่างขี่อูฐไปกลางทะเลทราย เดินเล่นล้มลุกกันบนเนินทรายเพลินๆ พร้อมกับชมพระอาทิตย์ตก จากนั้นก็นั่งรถกลับแคมป์ ชมการแสดงพื้นเมืองรอบกองไฟ แล้วจึงรับประทานมื้อค่ำร่วมกัน ซึ่งสภาพห้องพัก ห้องอาบน้ำถึงจะไม่ได้หรูหราครบครัน แต่ก็สะอาดได้มาตรฐานเลยทีเดียว

 

 

ขากลับจากทะเลทรายอันเวิ้งว้างก่อนเข้าเขตเมือง เราตั้งใจไปแวะชมบาดา บักห์ (Bada Bagh) หรือ Barabagh ที่แปลว่าสวนขนาดใหญ่ ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแก่ราชวงศ์ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา โดยอาคารทั้งหมดสร้างขึ้นจากดินและหินจากทะเลทราย แกะสลักลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอินเดียในยุคนั้น ไม่ว่าจะยืนมุมไหนในตัวอาคาร ก็สามารถชื่นชมงานแกะสลักรวมถึงถ่ายภาพได้สวยงามและน่าหลงใหลเป็นอย่างยิ่ง

 

เมื่อขึ้นไปยืนบนดาดฟ้าของบ้านเก่าใจกลางเมืองในช่วงเย็นที่พระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำเตรียมจะลับขอบฟ้าไป เมืองไจซาลเมอร์ 360 องศากลายเป็นภาพแสงสีทองอร่ามที่งดงามราวกับภาพวาด

 

 

เราเดินทางกันต่อไม่ถึง 10 กิโลเมตร เข้าสู่ใจกลางเมืองไจซาลเมอร์ ซึ่งสังเกตได้ง่ายมาก เพราะศูนย์กลางของเมืองคือป้อมปราการขนาดใหญ่มหึมาบนเนินเขาใจกลางเมือง และจุดเด่นที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกอยากมาเยือนสถานที่แห่งนี้ก็เพราะได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Living Fort’ เพียงไม่กี่แห่งบนโลก หรืออาจจะเป็นแห่งเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ เนื่องจากปกติป้อมปราการนั้นจะถูกสร้างขึ้นเพื่อรักษาพื้นที่ ความมั่นคง ความปลอดภัย หรือเป็นที่อยู่อาศัยของราชวงศ์ แต่ป้อมแห่งนี้กลับมีบ้านเรือน ร้านค้า วัด ที่พัก และสถานที่ต่างๆ ที่ไม่ต่างอะไรกับเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่ฝังตัวอยู่บนป้อม

 

 

จากประตูทางเข้าของป้อม เดินตามทางหลักไปเรื่อยๆ เราพบกับตรอกซอกซอยแยกออกไปมากมายหลายเส้นทาง สามารถเดินเล่นหรือเดินหลงไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำเป็นต้องดูแผนที่ เพราะไม่ว่าจะหันมองไปทางใด ก็จะพบอาคารบ้านเรือนสีทองอยู่รอบตัวเรา หรือเดินไปสุดขอบกำแพง ก็สามารถนั่งชมวิวเมืองไจซาลเมอร์รอบๆ ป้อมจากมุมสูงได้ แค่เฉพาะพื้นที่ป้อมของไจซาลเมอร์ก็สามารถใช้เวลาได้ครึ่งวันไปจนถึงหนึ่งวันเต็มๆ

 

 

และที่เมืองไจซาลเมอร์ เราก็ได้มีโอกาสพักค้างแรมในฮาเวลี (Haveli) ซึ่งก็คือบ้านเก่าตามสไตล์อินเดีย สาเหตุที่เลือกพักแบบฮาเวลีในเมืองนี้ก็เพราะสะดวกสบาย สามารถเดินเที่ยวชมอาคารเก่าๆ รอบๆ ป้อมปราการได้ง่าย และความงามของป้อมปราการจากดาดฟ้าของที่พักในช่วงยามเย็นไปจนถึงกลางคืนนั้นสวยจับใจ ด้วยแสงสีทองอร่ามจากแสงไฟ โดยเฉพาะเมื่อขึ้นไปยืนบนดาดฟ้าของบ้านเก่าใจกลางเมืองในช่วงเย็นที่พระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำเตรียมจะลับขอบฟ้าไป เมืองไจซาลเมอร์ 360 องศากลายเป็นภาพแสงสีทองอร่าม ที่งดงามราวกับภาพวาด สวยติดตาจนไม่มีใครอยากกลับห้อง

 

อูฐตัวใดสวยที่สุด?

 

เรายังโชคดีที่มาเยือนเมืองไจซาลเมอร์ในช่วงที่มีการแข่งขันอูฐประจำปีพอดี ทำให้มีโอกาสได้เข้าชมการประกวดตกแต่งอูฐในงานนี้ (ใช่แล้ว มีการแข่งแบบนี้อยู่บนโลกด้วย!) ที่ทั้งแปลกใหม่ น่าตื่นตา ทั้งยังสนุกสนานรื่นเริงตามแบบฉบับชาวอินเดีย นับว่าเป็นอีกประสบการณ์ที่น่าจะหาโอกาสมาสัมผัสได้ยากยิ่ง ก่อนจะถึงเวลาที่ต้องบอกลาเมืองสีทองแห่งนี้ไป

 

 

อุทัยปุระแห่งความทรงจำวัยเด็ก

เมื่อพูดถึงเมืองอุเดเปอร์ หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า ‘อุทัยปุระ’ ในครั้งแรกเรานึกไม่ออกว่าคือเมืองอะไร มีอะไรน่าสนใจ แต่เมื่อพิมพ์ชื่อลงกูเกิลเท่านั้น ภาพที่ถูกค้นขึ้นมาได้เรียกความทรงจำในวัยเด็กกลับมาทันที 007 Octopussy คือคำแรกที่ผุดเข้ามาในหัวทันที ใช่แล้ว ที่นี่เลย เห็นมาตั้งแต่เด็กจากหนังสายลับสุดคลาสสิก เจมส์บอนด์ ตอน Octopussy นั่นไง!

 

 

หลังจากค้นคว้าเสาะหาข้อมูลเมืองอุทัยปุระอย่างครบถ้วนแล้ว พบว่า จุดเด่นของเมืองนี้คือพระราชวังขนาดใหญ่ริมทะเลสาบพิโชลา (Lake Pichola) ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ขุดโดยแรงงานคน ทำให้ทัศนียภาพทั่วไปจึงคล้ายกับเมืองตากอากาศของราชวงศ์ แตกต่างกับเมืองอื่นๆ ในรัฐนี้อย่างสิ้นเชิง รวมถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่โรแมนติกที่สุดอีกเมืองหนึ่งของทวีปเอเชีย การมาเยือนเมืองนี้เพียงเดินเล่น นั่งเล่นร้านเล็กๆ บริเวณทะเลสาบ ชมสินค้าและภาพวาดแถวร้านค้ารอบพระราชวัง เข้าเที่ยวชมวังต่างๆ และนั่งทอดหุ่ยกินดินเนอร์บนดาดฟ้ายามเย็นก็ถือว่าสวยงามครบถ้วนในรายละเอียดของการมาเยือนเมืองอุทัยปุระแล้ว

 

 

แต่ด้วยแรงบันดาลใจหลักๆ ในการเดินทางมาเยือนคือสายลับ 007 (ต้องขอบคุณ เอียน เฟลมมิง แท้ๆ) เราจึงตัดสินใจเข้าพักที่ Taj Lake Palace ที่ดัดแปลงจากพระราชวังกลางทะเลสาบ ซึ่งรอบข้างไร้แผ่นดินให้เป็นโรงแรมหรู ซึ่งเป็นสถานที่หลักของเมืองอุทัยปุระที่ปรากฏในหนัง ถือเป็นอีกครั้งที่ผมยอมแลกน้ำพักน้ำแรงเพื่อประสบการณ์การเข้าพักพระราชวังหินอ่อนที่แสนหรูหราครั้งหนึ่งในชีวิต และก็ไม่ผิดหวังสักนิด

 

 

ความหรูหราและความเป็นส่วนตัวเริ่มตั้งแต่เดินทางไปยังโรงแรม แขกทุกคนต้องไปลงเรือที่ท่าเรือของโรงแรมที่มีไว้รับรองแขกของโรงแรมโดยเฉพาะ ซึ่งจะไปเวลาไหนก็ได้ ทางโรงแรมมีเรือบริการตลอดทั้งวัน ทางโรงแรมจะมีการโปรยกลีบกุหลาบลงมาจากดาดฟ้าเพื่อเป็นการต้อนรับเราอย่างเป็นทางการ

 

การได้ล่องเรือชมพระอาทิตย์ตกกลางทะเลสาบเหมือนกับได้ซื้อความหรูหราแบบสุดขั้วที่คุ้มค่าครั้งหนึ่งในชีวิต

 

พื้นที่เกือบทั้งหมดของโรงแรมนั้นยังเป็นโครงสร้างและการตกแต่งเดิมจากพระราชวังในอดีต เราจึงพบเห็นหินอ่อนที่ถูกแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ ได้ทั่วโรงแรม นอกจากนั้นยังมีการเดินพาชมส่วนต่างๆ ของโรงแรม พร้อมบอกเล่าถึงประวัติความเป็นมาทั้งเชิงสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ไปจนถึงวัฒนธรรมต่างๆ ของราชวงศ์ในยุคนั้น ต่อด้วยพาล่องเรือไปเดินเล่นชมเกาะจักรมณเฑียร (Jagmandir) ที่อยู่ใกล้ๆ พระราชวัง อันเป็นเกาะส่วนตัวของมหาราชาและมหาราณีในอดีต

 

 

การได้ล่องเรือชมพระอาทิตย์ตกกลางทะเลสาบเหมือนกับได้ซื้อความหรูหราแบบสุดขั้วที่คุ้มค่าครั้งหนึ่งในชีวิต ทั้งยังเป็นการซื้อประสบการณ์และมุมมองที่มีต่ออินเดียอีกแบบหนึ่งที่ยากจะลืม

 

การเยือนอินเดียในครั้งนี้ โดยเฉพาะ 3 เมืองที่กล่าว ได้เปลี่ยนมุมมองของความเป็นอินเดียที่ผมคุ้นเคยไปอีกแล้ว ผมได้เสพความลึกซึ้งทางสถาปัตยกรรมที่ไม่คาดคิด ได้เข้าใจถึงการออกแบบมาอย่างมีเหตุและผล อันเป็นความชาญฉลาดทางวิศวกรรมที่สามารถสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตที่ผ่านไปหลายร้อยปีก็ยังคงอยู่รอดได้เป็นอย่างดี

 

 

ชาวอินเดียช่างรวยร่ำไปด้วยความวิจิตรบรรจงเกินบรรยายของศิลปะแขนงต่างๆ ที่พบเห็นได้ตามสถานที่ที่ไปเยือน ทั้งยังชวนให้ย้อนกลับไปมองถึงความน่าทึ่งในความสามารถของบรรพบุรุษอินเดียในอดีต ที่ถ่ายทอดจนมาถึงปัจจุบันที่คุณภาพงานบริการทั้งในที่พัก ร้านค้า และสถานที่ท่องเที่ยวที่มาไกลอย่างมาก จากภาพในจินตนาการที่เคยมีต่ออินเดียในอดีต ทั้งผ่านสื่อ คำบอกเล่า ฯลฯ

 

อินเดียสำหรับผมเปลี่ยนไปมาก นับตั้งแต่ยังไม่เคยมาเหยียบดินแดนชมพูทวีป ไปจนเมื่อตอนได้มาเยือนครั้งแรก และแต่ละครั้งผมก็มักได้มุมมองสูตรใหม่ๆ ของอินเดียติดมือมาด้วยเสมอ

 

แต่แล้วจนมาถึงรอบนี้ ทุกอย่างที่พูดไปก่อนหน้าแทบจะถูกล้างออกไปเสียเกือบหมด

 

 

ใครว่าอินเดียสวยหรือไม่สวย อย่าเชื่อจนกว่าจะได้ลองใส่ส่าหรีเดินชมพระราชวังด้วยตัวเอง

 

ใครว่าอาหารอินเดียแย่ ก็อย่าเชื่อจนกว่าจะได้ไปลองสั่งและชิมแกงแขกแบบต่างๆ จากเมนูด้วยตัวเอง

 

แม้แต่ใครบอกว่าแขกอินเดียน่ากลัวขี้โกง ก็อย่าไปเชื่อจนกว่าจะได้ไปลองต่อราคาจนชนะพ่อค้าแขกที่ยังทึ่งได้เอง

 

เพราะอินเดียเป็นอีกจุดหมายปลายทางที่ไม่สามารถหาสูตรตายตัวมาบอกเล่าต่อให้เข้าใจและครบทุกอรรถรสได้เท่ากับลองไปสัมผัสด้วยตัวเอง ดังนั้นเรื่องสำคัญคือ พึงรำลึกเสมอว่า ‘เปิดจิต ปรับใจ แล้วค่อยตัดสินใจไปอินเดีย’

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising