วานนี้ (15 กุมภาพันธ์) อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบปรับปรุงมาตรการการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ขยายระยะเวลาปลอดเงินต้นและดอกเบี้ยในโครงการสินเชื่อ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงินสินเชื่อ 4 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุน (ธนาคารออมสิน 2 หมื่นล้านบาท และ ธ.ก.ส. 2 หมื่นล้านบาท) จาก 6 เดือน เป็นรายกรณีไม่เกิน 12 เดือน ขยายระยะเวลากู้จากเดิมที่ให้กู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน เป็น 3 ปี
อนุชายังเผยว่า การขยายหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดและอาจส่งผลต่อประวัติสินเชื่อในระบบเครดิตบูโร รวมทั้งยังอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณชดเชยเดิมตามที่คณะรัฐมนตรีได้มติไว้แล้ว จึงไม่ก่อให้เกิดภาระด้านงบประมาณ
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs ‘มีที่ มีเงิน’ สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) ที่มีที่ดินว่างเปล่า และ/หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน ใช้ที่ดินว่างเปล่า และ/หรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกสิทธิ์ที่มีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน และไม่ต้องผ่านการตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร โดยธนาคารออมสินจะสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท ให้วงเงินสินเชื่อต่อรายย่อยไม่เกินร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดินของทางราชการ สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับบุคคลธรรมดา และสูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาทสำหรับนิติบุคคลระยะเวลากู้ 3 ปี ปีแรกอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.10 ต่อปี
โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (15 กุมภาพันธ์) ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด พร้อมยังอนุมัติ 600 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้กับธนาคารออมสินในการดำเนินโครงการด้วย
“วัตถุประสงค์ของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ช่วยเสริมสภาพคล่องกิจการท่องเที่ยว รวมทั้งเพื่อไถ่ถอนจากการขายฝากเอกชนที่ทำสัญญาขายฝาก ทำให้ผู้ประกอบยังสามารถรักษาธุรกิจและการจ้างงานไว้ได้” อนุชากล่าว
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล