×

มันคือแป้ง? เจาะลึกเรื่องจริงราชายาเสพติดผ่านสารคดี Traffickers: Inside the Golden Triangle

23.07.2021
  • LOADING...
Traffickers: Inside the Golden Triangle

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ตั้งแต่อีพีแรกไปจนจบ ไล่ตามเวลาต่างกรรมต่างวาระ เน้นไปที่หัวหน้าขบวนการยาเสพติดคนสำคัญ ตั้งแต่ ขุนส่า EP.1 The Opium King, หน่อคำ EP.2 The Mekong River Pirate และ ไซซะนะ EP.3 The Playboy Drug Lord ที่หลายคนน่าจะยังจำกันได้ดีเพราะเหตุการณ์จับกุมตัวเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้
  • ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจข่าวสารบ้านเมือง สงสัยในข่าวยาเสพติดที่ทางการไทยจับกุมได้มากมายว่าใครเป็นเจ้าของ มองเห็นความล่มสลายของผู้คนและอันตรายจากยาเสพติด ทั้งยังเชื่อว่า ‘มันไม่ใช่แป้ง’ เราขอแนะนำอีกครั้งว่าต้องดู

Traffickers: Inside the Golden Triangle คือสารคดีที่แนะนำให้คนไทยทุกคนได้ดู เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นงานสร้างโดย HBO แต่สะท้อนเรื่องจริงที่เกิดขึ้นบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ แหล่งผลิตและส่งออกยาเสพติดระดับโลกที่ยังคงดำเนินการอย่างซ่อนเร้นจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเราเชื่อว่าจะเป็นการ ‘เปิดโลก’ ครั้งใหม่ที่จะทำให้เข้าใจที่มาที่ไป และอนาคตที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะมีราชายาเสพติดคนไทยเป็นอีพีต่อไปของสารคดีเรื่องนี้หรือไม่

 

สารคดี Traffickers: Inside the Golden Triangle มีทั้งหมด 3 อีพี รวมทั้งหมดราว 135 นาทีเท่านั้น ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่ตัดสลับทั้งภาพเหตุการณ์จริง บทสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่อง ทั้งที่เข้าข้างผู้กระทำผิดและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการเซ็ตการถ่ายทำประกอบเรื่องราวให้เข้าใจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

 

การตัดสลับเรื่องราวเป็นไปอย่างกระชับฉับไว เร้าใจด้วยซาวด์ประกอบ และมุมกล้องที่น่าติดตาม สะท้อนความงามของแม่น้ำโขงและความเลวร้ายของยาเสพติดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง 

 

อีพีแรกไปจนจบ ไล่ตามเวลาต่างกรรมต่างวาระ เน้นไปที่หัวหน้าขบวนการยาเสพติดคนสำคัญ ตั้งแต่ ขุนส่า EP.1 The Opium King, หน่อคำ EP.2 The Mekong River Pirate และไซซะนะ EP.3 The Playboy Drug Lord ที่หลายคนน่าจะยังจำกันได้ดีเพราะเหตุการณ์จับกุมตัวเพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีมานี้

 

จุดเริ่มต้น ขุนส่า ราชาฝิ่น

การนำเข้าเฮโรอีนไปยังนิวยอร์กเริ่มต้นในยุค 60 ที่มีการตรวจพบเฮโรอีนซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าเดินทาง และตรวจพบเฮโรอีนจำนวนมหาศาลที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากชายแดนพม่าไปถึงสหรัฐอเมริกา

 

ในทศวรรษ 1970 สำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ (DEA) ตั้งค่าหัวขุนส่า ผู้ค้ายารายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยเงินรางวัลกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำตัวเขาไปดำเนินคดี ไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม นั่นก็เพราะเฮโรอีนจากเครือข่ายขุนส่ากำลังส่งผลทำลายผู้คน รวมถึงเยาวชนของชาติ

 

แต่ในทางกลับกัน ‘ขุนส่า ราชาฝิ่น’ กลับได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปฏิวัติ เป็นนักรบ เป็นนักธุรกิจ เพราะโดยเชื้อสาย เขานับได้ว่าเป็นผู้นำของชนกลุ่มน้อยในรัฐฉาน ซึ่งช่วงเวลานั้นกำลังมีปัญหากับรัฐบาลพม่า ขุนส่ามีกองกำลังของตัวเองมากกว่า 25,000 คน ซ่อนตัวอยู่ในป่าบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ มีค่ายทหาร โรงงานทำอาวุธ และผลิตเฮโรอีนเพื่อหาเงินมาใช้ในการปฏิวัติ

 

สารคดียังเผยให้เห็นฟุตเทจของนักข่าวอเมริกันที่ติดตามคดีของขุนส่ามาเป็นเวลานาน จนในที่สุดเขาก็ได้พบกับขุนส่า และสัมภาษณ์สิ่งที่ผู้คนตั้งคำถาม รวมถึงตอนจบของอีพีที่คลายปมสำคัญให้ได้รู้ว่า จริงๆ แล้วเรื่องยาเสพติดกับการเมืองประเทศเมียนมาอาจจะมีอะไรเคลือบแฝงมากกว่านั้น

 

น่าเสียดายที่สารคดีตัดกระชับไว้เพียง 45 นาทีเศษ จึงอาจจะเก็บรายละเอียดของขุนส่าที่มีมากมายเหลือเกินได้ไม่หมด แต่สารคดีเรื่องนี้อาจะเป็นประตูสู่ข้อมูลอื่นๆ ของเครือข่ายยาเสพติดขุนส่าที่ยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน

 

หน่อคำ โจรสลัดแม่น้ำโขง

ถ้ายังจำกันได้ ข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ในเดือนตุลาคม 2554 ที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมยาเสพติดล็อตใหญ่บนเรือสินค้าจีนที่ล่องมาตามแม่น้ำโขง

 

เรื่องราวอาจจะจบแค่เรือบรรทุกแอมเฟตามีนถูกตรวจพบจับกุมในประเทศไทย แต่เพียงหนึ่งวันให้หลัง ก็เริ่มมีศพถูกฆาตกรรมอย่างเหี้ยมโหดลอยตามน้ำมา และกลายเป็นคดีสะเทือนขวัญระดับชาติ เมื่อ 13 ชีวิตที่ทยอยพบศพตามลำน้ำโขงนั้นคือลูกเรือชาวจีนของเรือบรรทุกยาเสพติด

 

จากการสืบสวนพบว่า คนที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ครั้งนี้คือ หน่อคำ เจ้าของฉายา ‘โจรสลัดแม่น้ำโขง’ หัวหน้าเครือข่ายยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ จนทำให้เกิดคณะทำงานไทย-จีนเพื่อไล่ล่าตัวเขามารับโทษให้ได้ 

 

สารคดีในอีพีนี้เล่าถึงการวางแผน การลงพื้นที่สืบหาข่าวและจุดอ่อนของหน่อคำเพื่อจับกุมตัวเขามาดำเนินคดี ขณะเดียวกันก็บาลานซ์ด้วยข้อมูลจากคนใกล้ชิด คนในพื้นที่ที่มองว่า ‘เจ้าหน่อคำเป็นโรบินฮู้ดของคนในชุมชน’ เพราะถ้าสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมจะพบว่า หน่อคำเป็นลูกหลานชาวไทใหญ่ เคยเป็นหนึ่งในกองกำลังของขุนส่ามาก่อน แนวทางการทำงานของเขาจึงมีทั้งส่วนที่เอื้อให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สุขสบายขึ้น ขณะที่ผู้รับผลของยาบ้าเหล่านั้นคือผู้คนทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยาเสพติดเดินทางไปถึง

 

หลังจากถูกไล่ล่าเป็นเวลานานหลายปีโดยเจ้าหน้าที่จีนในประเทศไทย พม่า และลาว ในที่สุดหน่อคำก็ถูกจับกุมตัว ลงโทษขั้นสูงสุด แต่ถึงกระนั้นขบวนการยาเสพติดสามเหลี่ยมทองคำก็ยังดำเนินต่อไป

 

ไซซะนะ เจ้าพ่อค้ายาเพลย์บอย

ไซซะนะ แก้วพิมพา นักธุรกิจชาวลาวที่รู้จักกันในนาม ‘เพลย์บอยคนดัง’ เป็นผู้ต้องสงสัยคนสำคัญในคดียาเสพติดหลายครั้งในประเทศไทย ภาพงานปาร์ตี้และรถยนต์สุดหรูของเขาปรากฏทั่วไปในโซเชียลมีเดีย นั่นอาจเป็นการฟอกตัวให้ดูหรูหรา คบหาแต่คนดังทั้งในไทยและลาว เช่นเดียวกับธุรกิจมากมายที่ใช้บังหน้าเงินสกปรกที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด

 

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามล่า ‘เจ้าพ่อค้ายาเพลย์บอย’ ที่ลักลอบนำเข้ายาบ้าหลายล้านตันมายังประเทศไทย โดยต้นทางยังคงเป็นแหล่งผลิตบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ ที่เข้าไปในลาว ส่งต่อมายังประเทศไทย และกระจายไปประเทศต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาค 

 

แม้ว่าจะมีหลักฐานชัดเจน แต่การจับกุมตัวเขาก็เป็นไปอย่างยากลำบาก จนในที่สุดเขาก็เดินทางเข้าประเทศไทยช่วงต้นปี 2017 เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนของไทย รวมทั้ง DEA (Drug Enforcement Administration) ที่มีหน่วยงานอยู่ในประเทศไทย ก็ได้จับกุมตัวไซซะนะ กลายเป็นข่าวใหญ่ในเวลานั้น

 

“หลังจับกุมนายไซซะนะ แก้วพิมพา อายุ 41 ปี เจ้าพ่อยาเสพติดรายใหญ่ชาวลาวได้ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตำรวจขยายผล สามารถจับกุมเครือข่ายนายไซซะนะที่กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 100 เครือข่าย และเป็นนักค้ายาเสพติดที่ถูกติดตามตัวมานานถึง 5 ปี

 

“ตำรวจปราบปรามยาเสพติด ระบุว่า ไซซะนะ เป็นบุคคลที่ทางการ สปป.ลาว และทางการไทยต้องการตัวมากที่สุด จึงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเฝ้าติดตามแกะรอยมานานกว่า 5 ปี และพบว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดของกลุ่มเหว่ย เซียะกัง และเครือข่ายเดียวกับ อุสมาน สะแลแมง กลุ่มค้ายาเสพติดรายใหญ่ของภาคใต้ คาดว่าเป็นแม่ข่ายในระดับเดียวกัน ที่มีตัวการสั่งการอยู่เบื้องหลัง” – เนื้อข่าวจาก Voice TV (2 กุมภาพันธ์ 2017)

 

ในช่วงท้ายของสารคดี Traffickers: Inside the Golden Triangle ได้บอกกับคนดูว่าสงครามต่อสู้กับยาเสพติดที่ผ่านมา แม้ว่าจะจับกุมตัวหัวหน้าเครือข่ายคนสำคัญได้ แต่กระบวนการยาเสพติดก็ยังดำเนินต่อไปโดยมีการเปลี่ยนตัวละครขึ้นมารับหน้าที่ไปเรื่อยๆ  

 

การรับชมสารคดีเรื่องนี้จะทำให้คุณเข้าใจจุดเริ่มต้น กระบวนการพัฒนายาเสพติดให้ซื้อง่ายขายคล่อง และวิธีดำเนินธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ซึ่งทำให้เราติดตามข่าวสารคดียาเสพติดต่างๆ ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น มองเห็นเครือข่ายที่ต้องอาศัยอำนาจเกื้อหนุน และอย่างน้อยๆ ก็ทำให้เชื่อได้ว่าสุดท้ายปลายทางของราชายาเสพติดก็คือความตายที่ทุกข์ทรมานอย่างแน่นอน

 

Traffickers: Inside the Golden Triangle ถ่ายทำในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ประเทศไทย พม่า จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย กำกับโดย Robbie Bridgeman, Steve Chao และ John Lam อำนวยการสร้างโดย Dean Johnson นับเป็นสารคดีออริจินัลเรื่องที่สามของ HBO Asia ต่อจากสารคดีที่ได้รับรางวัลอย่าง The World Behind The Teenage Psychic และ The Talwars: Behind Closed Doors 

 

ถ้าคุณเป็นคนที่สนใจข่าวสารบ้านเมือง สงสัยในข่าวยาเสพติดที่ทางการไทยจับกุมได้มากมายว่าใครเป็นเจ้าของ มองเห็นความล่มสลายของผู้คนและอันตรายจากยาเสพติด ทั้งยังเชื่อว่า ‘มันไม่ใช่แป้ง’ เราขอแนะนำอีกครั้งว่าต้องดูจุดเริ่มต้น-จุดจบของราชาขบวนการค้ายาเสพติดสามคนในประเทศไทย เมียนมา และลาว ออกอากาศทาง HBO GO ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้

 

ตัวอย่างสารคดี Traffickers: Inside the Golden Triangle

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X