×

ตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบาง ตำนานวัฒนธรรมการกินที่ตีพิมพ์หลังจากผู้เขียนเสียชีวิตไปแล้ว 13 ปี

25.07.2018
  • LOADING...

“ฅนลาวกินอย่างไรเจ้าก็กินอย่างนั้น เจ้าลาวในพระราชวังก็เสวยเช่นเดียวกับฅนลาวทั่วไป หนังสือเล่มนี้จึงเป็นบันทึกแทนชาวลาวทุกระดับชั้น…”

 

ตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบาง ของ เพียสิง จะเลินสิน ถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษใน พ.ศ. 2524 โดย อแลน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศลาวในช่วงนั้น ซึ่งเป็นนักเขียนสารคดีเกี่ยวกับตำรับอาหารที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง มาเป็นบรรณาธิการและจัดพิมพ์หนังสือให้

 

เพียสิง จะเลินสิน โดยตำแหน่งแล้วเป็นหัวหน้าห้องเครื่องในพระราชวังหลวงพระบาง ทั้งยังเป็นเจ้ากรมพิธีการประจำราชสำนักอีกด้วย ในหนังสือได้บรรยายความเป็นอัจฉริยะของเพียสิงไว้ว่า “…เป็นผู้มีความสามารถรอบตัวจนน่าอัศจรรย์ประดุจศิลปิน ลีโอนาร์โด ดา วินชี แห่งประเทศลาว…” ที่นอกจากเป็นพ่อครัวแล้ว เพียสิงยัง “…เป็นทั้งแพทย์หลวง สถาปนิก ผู้ฝึกละครในราชสำนัก ช่างปั้น ช่างเขียนรูป และกวี ยิ่งกว่านั้น ท่านยังเป็นพระพี่เลี้ยงของเจ้าสุวรรณภูมา และเจ้าสุวรรณวงศ์ ได้ตามเสด็จทั้งสองพระองค์ไปเมืองฮานอยเพื่อทรงศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่นั่น…” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเก่งกาจเชี่ยวชาญในหลายศาสตร์ของเพียสิง และยังเห็นความไว้วางใจของราชสำนักต่อท่านอีกด้วย

 

 

ต้นฉบับของตำรับอาหารเล่มนี้ถูกบันทึกด้วยลายมืออยู่ในสมุดบันทึกแบบฝรั่งเศส 2 เล่ม ซึ่งเพียสิงเขียนขึ้นในปี 2510 หลังจากรู้ตัวว่าล้มป่วยและคงจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน จึงได้เขียนตำรับอาหารแบบหลวงพระบางนี้ไว้ ด้วยหวังจะให้เป็นบันทึกที่แสดงวัฒนธรรมการกินของชนชาติลาว และยังหมายมั่นให้จัดพิมพ์และนำรายได้จากการขายหนังสือไปสร้างบุษบกใหม่เพื่อประดิษฐานองค์พระบาง พระพุทธรูปที่ชาวลาวเคารพสูงสุด ซึ่งได้มาจากประเทศศรีลังกาเมื่อหลายศตวรรษก่อน

 

แต่เพียสิงก็ไม่ได้เห็นความฝันของตนเป็นความจริงในช่วงอายุขัยของตน เพราะหลังจากนั้นไม่นานท่านก็เสียชีวิต เพียสิงทำได้เพียงฝากสมุดบันทึกนี้ไว้กับภรรยา ก่อนที่นางจะนำสมุดนี้ไปถวายแด่มกุฎราชกุมารแห่งลาว “…ด้วยเห็นว่าทรงอยู่ในฐานะที่ทำให้ความปรารถนาของเพียสิงสัมฤทธิ์ผลได้…”

 

 

ภรรยาของเพียสิงคิดไม่ผิดเลย เมื่อ อแลน เดวิดสัน ได้โอกาสเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมารในขณะที่ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำประเทศลาว เขากำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับปลาของลาวอยู่พอดี และกำลังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำรับอาหารของลาวที่ปรุงด้วยปลา เมื่ออแลนทูลถาม มกุฎราชกุมารจึงทรงนำสมุดของเพียสิงมาประทานให้ยืม

 

ในช่วงเวลาระหว่างที่หนังสือตีพิมพ์นั้น ประเทศลาวกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง เมื่อกองกำลังคอมมิวนิสต์ประเทศลาวก่อตั้งขึ้นแล้ว ทั้งการแทรกแซงทางการเมืองจากเวียดนามก็ทวีความรุนแรงขึ้น แต่กระนั้นพื้นฐานของสังคมอย่างวัฒนธรรมการกินกลับเป็นสิ่งที่ไร้กาลเวลา ดังที่มีบรรยายไว้ในคำนำของหนังสือฉบับภาษาไทยของสำนักพิมพ์ผีเสื้อลาวว่า “ฅนลาวกินอย่างไรเจ้าก็กินอย่างนั้น เจ้าลาวในพระราชวังก็เสวยเช่นเดียวกับฅนลาวทั่วไป หนังสือเล่มนี้จึงเป็นบันทึกแทนชาวลาวทุกระดับชั้น…”

 

หน้าที่บรรณาธิการของ อแลน เดวิดสัน นั้นก็ยอดเยี่ยมจนน่าประทับใจ นอกจากจะตกแต่งสำเนาต้นฉบับของตำรับอาหารให้พออ่านได้แล้ว อแลนยังต่อเติมต้นฉบับของเพียสิงด้วยการนำเรื่องอันแสดงถึงวัฒนธรรมการกินของลาว คำศัพท์ลาวที่ใช้กับการกิน การทำครัว เครื่องครัว และวัตถุดิบอาหารลาว ที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่ตำรับอาหารที่เอาไว้ใช้สอนปรุงเท่านั้น แต่กลายเป็นหนังสือที่บันทึกส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณแบบประเทศลาวเอาไว้

 

 

ครั้นหนังสือเล่มนี้พิมพ์สำเร็จเป็นภาษาอังกฤษในชื่อว่า Traditional Recipes of Laos ในปี 2524 หรือ 13 ปีต่อมาหลังการเสียชีวิตของเพียสิง และมันก็กลายเป็นหนังสือตำรับอาหารลาวที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยอแลนได้มอบรายได้จากการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ไปช่วยผู้ลี้ภัยชาวลาวผ่านทางบริติช เคานซิลด้วย “…สถานการณ์ปัจจุบันในลาวอาจไม่เหมาะที่จะบริจาครายได้จากการพิมพ์เพื่อบูรณะบุษบกองค์พระบางดังที่เพียสิงปรารถนา” เพราะขณะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศลาวยังไม่สงบดีนัก บุตรชายคนโตของเพียสิงก็ยินดีเมื่อได้ยินว่าอแลนเปลี่ยนเจตนารมณ์ของเพียสิงไปเป็นแบบนี้

 

หนังสือตำรับอาหารเล่มหนึ่งได้นำพาเจตนารมณ์ของผู้เขียนเดินทางไปตามกาลเวลา ภาษา และสถานที่เช่นนี้ จากปี 2510 จนได้ตีพิมพ์ในปี 2524 จากภาษาลาวสู่ภาษาอังกฤษ จากประเทศลาวสู่สหราชอาณาจักร และจากความปรารถนาที่จะบูรณะองค์พระบางเปลี่ยนเป็นการช่วยเหลือคนลาวผู้ที่ต้องเดือดร้อนจากสงคราม

 

 

กระทั่งในปี 2529 ตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบาง พร้อมเจตนารมณ์ของเพียสิง จะเลินสิน ก็เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยผ่านสำนักพิมพ์กะรัต (ปัจจุบันคือสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ที่ได้พูดคุยกับอแลน เดวิดสัน เพื่อแปลและตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นภาษาไทย ซึ่งขั้นตอนการบรรณาธิกรที่พิถีพิถันก็ทำให้ต้องใช้เวลาถึง 24 ปี กว่าหนังสือเล่มนี้จะได้ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในปี 2553 ที่มีการเพิ่มเติมส่วนของหวานตำรับลาว และศัพท์แสงเปรียบเทียบระหว่างภาษาไทย-ลาวลงไปให้เนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้นสำหรับผู้อ่านชาวไทย

 

 

แม้ในปีที่หนังสือฉบับภาษาไทยตีพิมพ์ เพียสิงจะเสียชีวิตแล้ว เช่นเดียวกับอแลน แต่ผลงานที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของทั้งคู่ยังคงอยู่ ลายมือของเพียสิงยังอยู่ หนังสือตำรับอาหารที่บรรณาธิกรอย่างสุดฝีมือของอแลนก็ยังอยู่ และมันตกทอดมาสู่เมืองไทยในฐานะ “…บันทึกอันอมตะไม่เปลี่ยนแปลง แม้การปกครอง การเมือง จะกลายไปเป็นอื่นจากเดิม…”

 

ความงดงามของหนังสือยังคงอยู่ และยังคงตกทอดผ่านกาลเวลา รอเพียงผู้เห็นคุณค่าจะหยิบจับไปศึกษาต่อยอด

FYI
  • ขณะที่เขียนบทความนี้ ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเกิดเหตุน้ำท่วมหนักในแขวงอัตตะปือและแขวงจำปาสัก ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ จึงได้ประกาศรับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่านทางบัญชี Royal Thai Embassy – Donation เลขบัญชี 945-1-03-115-4 (สกุลบาท)
  • สามารถซื้อหนังสือ ตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบาง ของ เพียสิง จะเลินสิน ของสำนักพิมพ์แมงกะเบื้อ (ผีเสื้อลาว) แปลโดยจินดา จำเริญ ได้ที่นี่ และที่นี่
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X