×

ทำไม Trade War รอบนี้ไทยตกเป็นเป้าทั้งขึ้นทั้งล่อง สินค้าไหนเสี่ยงโดนเช็กบิลจาก Trump 2.0

21.11.2024
  • LOADING...
Trade War ไทย

หอการค้าไทยเตือนไทยเตรียมรับมือผลกระทบจาก Trump 2.0 ทั้งทางตรงและทางอ้อม ชี้สะเทือนส่งออกไทย 1.6 แสนล้านบาท ฉุด GDP 0.8% ย้ำจับตาขึ้นภาษีสินค้าจีน 60% ไทยเตรียมตกเป็นเป้าสินค้าจีนทะลักระลอกใหม่ ด้าน ‘ทักษิณ’ เรียกร้องรัฐบาลออกมาตรการช่วยธุรกิจไทยลงทุนในสหรัฐอเมริกา หากไทยเกินดุลการค้ามากเกินไปอาจตกเป็นเป้าให้สหรัฐฯ พร้อมระบุว่า ไทยร่วมขบวน BRICS ช่วยหนุนตลาดเกิดใหม่ รักษาสมดุลการทูต

 

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ พร้อมนโยบาย ‘America First’ ที่ชาวอเมริกันต้องมาก่อนนั้น ทรัมป์จะเน้นการลงทุนภายในสหรัฐฯ มากกว่าการลงทุนในต่างประเทศ

 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ที่สำคัญคือนโยบายการค้าของทรัมป์ในการเตรียมปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% การขึ้นภาษีสินค้าทั่วโลก 10% และการขึ้นภาษีคู่ค้าแต่ละประเทศจนกว่าจะถึงจุดสมดุลการค้ากับประเทศนั้นๆ จะส่งผลต่อไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

โดยที่ผ่านมาไทยมีดุลการค้ากับสหรัฐฯ เกินดุลอันดับที่ 9 และจากข้อมูลย้อนหลังพบว่าไทยมีการเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ ด้านการส่งออกสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2014 แม้จะลดลงบ้างในปี 2018 แต่จากนั้นก็สูงขึ้นมาต่อเนื่อง ซึ่งสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงสุดและมีความเสี่ยงที่สุดหากทรัมป์ปรับขึ้นภาษี ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 10,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ มูลค่า 9,502 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยางและผลิตภัณฑ์ยาง มูลค่า 4,529 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ดังกราฟิก)

 

Screenshot

 

หากในปี 2025 ทรัมป์ดำเนินตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ ผลกระทบทางตรงที่จะเกิดกับไทย ได้แก่

 

  • ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงบางส่วนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากนโยบายการค้าแบบปกป้องจากการเก็บภาษีนำเข้า
  • การส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากปรับขึ้นภาษีนำเข้าอีก 10% มูลค่าการค้าของไทยจะลดลง 3,106 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 
  • การเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% สำหรับทุกประเทศอาจลดแรงจูงใจในการลงทุนในต่างประเทศเพื่อส่งกลับไปยังสหรัฐฯ
  • นโยบายการค้าแบบปกป้องจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย

 

ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม ได้แก่

 

  • การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60% อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีน
  • เมื่อจีนไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้ ชิ้นส่วนของไทยที่ส่งออกไปยังจีน เช่น ชิปเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในสินค้าต่างๆ จะลดลง มูลค่าการค้ากับจีนจะหายไป 49,105 ล้านบาท
  • เมื่อจีนได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษี 60% มูลค่าการส่งออกจะหายไปถึง 350,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งที่น่ากังวลคือสินค้ากลุ่มที่จีนส่งออกไม่ได้จะทะลักเข้ามาในไทยแทน

 

“ตรงนี้ต้องจับตาผลกระทบจากการทะลักของสินค้าจีนเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยระลอกใหม่จากนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 60% เพราะจีนจำเป็นต้องหาตลาดส่งออกใหม่ โดยไทยอาจเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ซึ่งนโยบาย Decoupling จะทำให้จีนต้องกระจายความเสี่ยงโดยขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนรวมถึงไทย”

 

สินค้าจีนที่มีโอกาสทะลักเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยระลอกใหม่

 

ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้จีนต้องเร่งระบายสินค้า ดังนั้นสินค้าจีนที่มีโอกาสทะลักเข้ามาตีตลาดสินค้าไทย ได้แก่ เครื่องจักรกล, เฟอร์นิเจอร์และสินค้าเบ็ดเตล็ด, อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, โลหะและผลิตภัณฑ์จากโลหะ และสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

 

อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นโอกาสตลาดส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ เป็นการทดแทนตลาดสินค้าจีน ทั้งเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์, ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, ของเล่น, เกม, อุปกรณ์กีฬา, สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, รองเท้า, เครื่องเรือนและของตกแต่งบ้าน และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์

 

โดยสรุปหากดูจากผลกระทบแล้วจะเห็นว่าผลกระทบทางตรงจากการส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯ จะลดลง 108,714 ล้านบาท และผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกวัตถุดิบของไทยในห่วงโซ่อุปทานจีนและสหรัฐฯ จะลดลง 49,105 ล้านบาท

 

“แต่หากดูภาพรวมนโยบายการขึ้นภาษีของทรัมป์จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยรวมกันแล้วอาจทำให้ไทยสูญเสียมูลค่าส่งออก 160,472 ล้านบาท การส่งออกหายไป 1.52% ฉุดให้ภาพรวม GDP ไทยลดลง 0.87% คาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2024 จะอยู่ที่ 3.21%

 

“ทั้งนี้ หาก GDP โลกปี 2025 ขยายตัว 2.7-3.2% ไทยจะส่งออกอยู่ที่ 2.8% มูลค่า 302,477 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดสำคัญยังคงเป็นยุโรป อินเดีย และสหรัฐฯ สินค้าเด่น ได้แก่ เครื่องจักรกล ผลไม้สดและแช่แข็ง และยางและผลิตภัณฑ์ยาง แต่หากทรัมป์ขึ้นภาษี 10% ขึ้นภาษีจีน 60% ส่งออกไทยจะเหลือ 2.24% และหากขึ้นภาษีกับประเทศที่เกินดุล 15% ขึ้นภาษีจีน 60% ส่งออกไทยจะเหลือเพียง 0.72% ไทยต้องเตรียมรับมือและวางยุทธศาสตร์รอบด้านให้ดี” ธนวรรธน์กล่าว

 

BOI ชี้ โอกาสของไทยในการดึงการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงจากสหรัฐฯ และจีน

 

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน BOI มองว่าแม้ทรัมป์ต้องการให้เกิดการลงทุนในประเทศภายใต้ America First และ Make America Great Again แต่อย่าลืมว่าสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาซัพพลายเชนจากอาเซียนและประเทศพันธมิตร

 

“วันนี้จึงเป็นโอกาสของไทยในการดึงการลงทุนทั้งจากสหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง, แบตเตอรี่ในระดับเซลล์, ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), Data Center และ Cloud Service”

 

ทั้งนี้ ต้องติดตามมาตรการของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเป็นรายอุตสาหกรรม ซึ่งไทยต้องพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์ให้เร็ว

 

 

 

‘ทักษิณ’ เรียกร้องรัฐบาลออกมาตรการจูงใจช่วยธุรกิจไทยลงทุนในสหรัฐฯ ชี้ ไทยเกินดุลการค้ามากเกินไปอาจตกเป็นเป้า

 

รายงานข่าวระบุว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ซึ่งถือเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่กลับมาไทยในเดือนสิงหาคม 2023 โดยกล่าวว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลวอชิงตันกับปักกิ่งที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น จะเป็นแรงหนุนให้กับเศรษฐกิจไทยที่วางตัวเป็นกลางมาตลอด

 

ทักษิณระบุอีกว่า กังวลว่าหากไทยเกินดุลการค้ามากเกินไปอาจตกเป็นเป้าให้สหรัฐฯ ตอบโต้ได้ เพราะทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะขึ้นภาษีเพื่อรักษาดุลการค้าสหรัฐฯ

 

“ผลกระทบจากการที่ทรัมป์กลับคืนสู่อำนาจจะขยายมาถึงไทยด้วย จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นให้บริษัทไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อลดแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้”

 

ทักษิณกล่าวถึงการที่ไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ BRICS อีกว่า จะมีส่วนรักษาสมดุลของการทูตไทย โดยหวังว่าไทยจะได้รับการลงทุนผ่านการทูตสมดุลแบบที่เคยทำมาก่อนนี้

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง โดยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหลังโรคโควิดระบาดนั้นยังคงตามหลังเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม ดังนั้นต้องรักษาบรรยากาศทางการเมืองให้มีเสถียรภาพและกระตุ้นการเติบโต เพื่อให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ปัจจุบัน

 

ทักษิณย้ำว่า เป็นเรื่องยากที่ไทยจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายใต้บรรยากาศการเมืองไร้เสถียรภาพเช่นนี้ เพราะความเชื่อมั่นในการลงทุนของบริษัทลดลง

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising