×

บอกให้โลกรู้ว่าคุณคือ ‘มืออาชีพ’ ด้วย ‘คุณวุฒิวิชาชีพ’ เครื่องมือประเมินความสามารถตามมาตรฐานอาชีพที่จะพาคุณไปทำงานที่ไหนในโลกก็ได้

โดย THE STANDARD TEAM
04.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • Thailand Professional Qualification Institute (Public Organization) หรือ TPQI สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนากำลังคนด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ โดยกรอบคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ NQF และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน AQRF แบ่งเป็น 8 ระดับชั้น
  • อีกหน่อยองค์กรไหนจะค้นหามืออาชีพมาทำงาน หรือผู้ประกอบอาชีพที่ต้องการให้ตัวเองถูกค้นพบ ทุกความต้องการจะถูกรวมไว้ที่ ‘แอปฯ ปักหมุดมืออาชีพ’ แอปฯ ที่รวบรวมมืออาชีพจากทุกสายอาชีพที่ผ่านการประเมินไว้ที่เดียว
  • ปัจจุบัน สคช. จัดทำมาตรฐานอาชีพไปแล้วกว่า 700 อาชีพ มีผู้เข้ารับการประเมินและรับรองกว่าแสนคน และผ่านการประเมินมากถึง 70%   

‘Put the right man on the right job’ คำกล่าวนี้จะเกิดขึ้นจริงในสังคมการทำงานไม่ได้เลย หากไม่มีหลักเกณฑ์ในการวัดระดับความสามารถของทักษะวิชาชีพ ประเด็นสำคัญก็คือ เมื่อผู้ประกอบการเองก็ไม่มีทางรู้ว่าคนในองค์กรมีทักษะตรงกับงานที่มอบหมายให้หรือไม่จนกว่าจะได้ลงมือทำงานจริง ก็อาจเสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลาในกระบวนการคัดเลือกและทดลองงาน คนทำงานเองหากมีทักษะเกินกว่าตำแหน่งงานที่ทำอยู่ แต่ยังต้องทำงานในตำแหน่งเดิม เพราะขาดเครื่องมือที่จะใช้วัดระดับความสามารถให้เป็นที่ยอมรับ แย่ไปกว่านั้นคืออาจต้องหลีกทางให้กับเด็กจบใหม่ประสบการณ์น้อยแต่มีคุณวุฒิทางการศึกษาที่สูงกว่าคว้าตำแหน่งนั้นไป

ความจริงก็คือคุณวุฒิทางการศึกษายังจำเป็น แต่ไม่ทรงพลังมากพอเมื่อสาขาวิชาที่เรียนมาอาจไร้ค่าทันทีในยุคที่บางอาชีพกำลังจะหายไป และตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่นนั้นแล้วเครื่องมือที่จะช่วยการันตีว่าทักษะและความสามารถของคุณยังมีคุณค่า และพิสูจน์ได้ว่าคุณคือมืออาชีพตัวจริงในสายอาชีพ นั่นก็คือ คุณวุฒิวิชาชีพ 

 

ประเมินมาตรฐานวิชาชีพเบื้องต้นได้ที่ www.tpqi.go.th

 

 

แอปฯ ปักหมุดมืออาชีพ ค้นหามืออาชีพแค่คลิก 

เครื่องมือในการค้นหามืออาชีพในอนาคตจะอยู่ในมือของทุกคน และจะมาในรูปแบบของแอปฯ ที่รวบรวมมืออาชีพจากทุกสายอาชีพที่ผ่านการประเมิน ได้ตรา ‘มอช. มืออาชีพ’ จาก สคช. จะถูกรวมไว้ในแอปฯ เดียว

 

องค์กรจะหาคนก็มาคัดเลือกจากแอปฯ นี้ ผู้ประกอบอาชีพที่อยากยกระดับตัวเองก็ต้องเร่งพัฒนาฝีมือ หมั่นประเมินศักยภาพตัวเองอยู่เสมอ และเมื่อได้ตรา ‘มอช. มืออาชีพ’ ก็จะได้เป็นหนึ่งในมืออาชีพของแอปฯ นี้

 

แต่การจะเป็นคุณวุฒิวิชาชีพตามมาตรฐานของ สคช. และมีรายชื่ออยู่ในแอปฯ ปักหมุดมืออาชีพก็ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ละอาชีพ เพราะมีมาตรฐานที่ประเมินศักยภาพของบุคคลในแต่ละสาขาวิชาชีพอยู่แล้ว ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกใช้กัน

ที่แคนาดามีการกำหนดมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ กลุ่มอาชีพนักทรัพยากรมนุษย์ของประเทศแคนาดา ดำเนินการโดย สภาความร่วมมือด้านทรัพยากรมนุษย์แห่งแคนาดา (Canadian Council of Human Resources Associations: CCHRA) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1994 โดยความร่วมมือจากองค์การด้านทรัพยากรมนุษย์ทั่วทั้งแคนาดา การดำเนินการเพื่อประเมินและรับรองมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพด้านทรัพยากรมนุษย์ ดำเนินการผ่านหน่วยงาน The Certified Human Resources Professional (CHRP) ซึ่งการรับรองมาตรฐานนี้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ สะท้อนความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพของผู้ปฏิบัติงาน จากการติดตามพบว่า ร้อยละ 45 ที่ผ่านการรับรองจากนักทรัพยากรมนุษย์ระดับทั่วไป (HR generalists) ที่ CHRP สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR Managers) ได้ภายใน 5 ปี

หรือประเทศจีนเองล่าสุดก็เพิ่งออกมาตรฐานวิชาชีพชุดใหม่สำหรับ ‘ผู้ดูแลผู้สูงอายุ’ ผลักดันให้ประชาชนประกอบอาชีพที่กำลังขาดแคลนเพิ่มขึ้น ปรับเปลี่ยนทักษะที่จำเป็นให้สอดคล้องกับความต้องการในการดูแลผู้สูงอายุ

หน่วยงานภาครัฐของไทยอย่าง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ TPQI ซึ่งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี ก็เดินหน้าเรื่องนี้จริงจัง เพื่อต้องการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ สนับสนุนกลุ่มอาชีพหรือกลุ่มวิชาชีพในการจัดทำมาตรฐานอาชีพไปสู่การพัฒนากำลังคน

เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น ระบบคุณวุฒิวิชาชีพเป็นเครื่องมือใช้วัดความเก่งของคนอีกรูปแบบ แต่เป็นการวัดความเก่งในการทำงานตามอาชีพ โดยมีมาตรฐานเป็นตัวกำหนดตามระดับชั้น ใครที่ได้ชั้นสูงแปลว่ามีทักษะและความสามารถการทำงานในอาชีพนั้นเก่งกว่า

  

 

มาตรฐานอาชีพวัดอย่างไรและวัดจากอะไร 

การจะได้คุณวุฒิทางการศึกษามาก็ต้องเรียนตามหลักสูตรและวัดผลตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด การเข้ารับการประเมินและรับรองมาตรฐานอาชีพเพื่อให้ได้คุณวุฒิวิชาชีพก็คล้ายกัน แต่จะถูกกำหนดเกณฑ์ในการประเมินมาตรฐานอาชีพโดยผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอาชีพนั้นๆ ภายใต้กรอบคุณวุฒิวิชาชีพที่สอดคล้องกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ NQF และกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน AQRF โดยสถาบันฯ ได้ร่วมกับผู้ประกอบการในสาขาอาชีพต่างๆ ในการพิจารณา และกำหนดระดับของคุณวุฒิวิชาชีพไว้ 8 ระดับชั้น ซึ่งเป็นกรอบที่ทุกประเทศยอมรับ

จะประเมิน 3 ส่วนคือ องค์ความรู้ด้วยข้อเขียน ประเมินทัศนคติด้วยการสัมภาษณ์ และประเมินทักษะที่ต้องปฏิบัติจริงกับเครื่องไม้เครื่องมือจริงๆ เช่น เชฟก็ต้องประเมินการทำอาหาร แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละอาชีพว่าจะประเมินทักษะครบทั้ง 3 ด้านหรือไม่ เพราะบางอาชีพอาจไม่ต้องสอบปฏิบัติ เช่น ฝ่ายบุคคล จะใช้การสอบข้อเขียนและการสัมภาษณ์เป็นหลัก

สคช. จัดทำมาตรฐานอาชีพไปแล้วกว่า 700 อาชีพ มีผู้เข้ารับการประเมินและรับรองกว่าแสนคน ทั้งผู้ประกอบอาชีพและองค์กรที่ส่งพนักงานมาร่วมประเมิน ตัวอย่างองค์กรใหญ่ๆ ก็เช่น Chalachol Hair Studio ร้านเสริมสวยระดับไฮเอนด์ เป็นต้น จนถึงตอนนี้มีผู้ผ่านการประเมินและรับรองความเป็นมืออาชีพแล้วกว่า 89,000 คน ส่วนคนที่ไม่ผ่านการประเมินจะรู้ทันทีว่าตัวเองยังขาดทักษะอะไรในสายอาชีพนั้นๆ เปรียบได้กับการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องก็รักษาได้ตรงจุด จึงมุ่งพัฒนาตัวเองได้อย่างตรงจุด 

 

                                  

อาชีพส่วนหนึ่งที่ สคช. จัดทำมาตรฐานอาชีพไปแล้ว  

 

 

ค้นหา ‘ความเป็นมืออาชีพ’ ในตัวเอง ค้นให้พบ ‘มืออาชีพ’ ในองค์กร
ปัจจุบัน สคช. มีหน่วยงานรับประเมินกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 200 แห่ง ส่วนคณะกรรมการในการให้ใบรับรองมาจากคนที่ประกอบอาชีพนั้นๆ เจ้าหน้าที่ที่ทำการประเมินก็เป็นคนในอาชีพที่ต้องผ่านการอบรมและประเมินเช่นกัน โดยใช้มาตรฐานสากลคือ ISO 17024 ที่ใช้กันทั่วโลกเกี่ยวกับหน่วยงานที่จะประเมินทักษะความสามารถของคน

หากผ่านการประเมินก็จะได้หนังสือรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ ถือเป็นใบเบิกทางให้กับอีกหลายอาชีพที่ไม่มีวุฒิการศึกษารองรับ เช่น คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้าสตรีทฟู้ด ช่างทำผม คนดูแลผู้สูงอายุ ช่างซ่อมรถยนต์ ฯลฯ ซึ่งหนังสือรับรองดังกล่าวจะมีอายุ 3 ปีหลังจากประเมินและรับรอง เมื่อครบกำหนดก็ต้องมาประเมินใหม่ หรือจะทำการประเมินเพื่อยกระดับชั้นตัวเองก็ได้ และนอกจากหนังสือรับรอง ยังมีการติดสัญลักษณ์มืออาชีพให้ด้วย

 

 

ใครได้ประโยชน์จากเครื่องมือประเมินมาตรฐานวิชาชีพ

หากมาตรฐานวิชาชีพกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานอาชีพใหม่ในสังคมไทย ทุกคนและทุกฝ่ายล้วนได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ หน่วยเล็กสุดอย่างผู้ประกอบอาชีพ เมื่อมีระบบที่รับรองความสามารถตามมาตรฐานอาชีพของตนเอง ก็นำคุณวุฒิวิชาชีพนี้เป็นบันไดสู่ความก้าวหน้าในอาชีพ เพราะตอนนี้ทาง สคช. กำลังดำเนินการเรื่องการเทียบโอนคุณวุฒิวิชาชีพกับคุณวุฒิการศึกษา เช่น เด็กที่จบอาชีวะ ทำงานซ่อมเครื่องยนต์มาหลายปี เมื่อเข้าสู่การประเมิน ตามมาตรฐานอาชีพพบว่า เทียบเคียงทักษะความรู้ความสามารถเท่ากับปริญญาตรี อาจเรียนเสริมแค่บางวิชาก็ทำเรื่องเทียบและได้วุฒิปริญญาตรีได้เลย และยังมีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนตามระดับคุณวุฒิ

โอกาสทางอาชีพยังหมายถึงการไปทำงานต่างประเทศโดยใช้คุณวุฒิวิชาชีพเป็นใบรับรอง เนื่องจาก สคช. จัดทำมาตรฐานอาชีพที่สามารถเทียบเคียงได้กับมาตรฐานของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนและในระดับสากล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในกรณีที่ต้องการไปทำงานต่างประเทศ

กรณีตัวอย่าง เช่น ช่างทำผมที่ผ่านประเมินและรับรองตามมาตรฐานอาชีพ และได้ไปทำงานเป็นช่างทำผมที่ฟินแลนด์ หรือเจ้าของร้าน Food Truck ได้รับใบอนุญาตประกอบร้านอาหารที่นิวยอร์ก จากการมีคุณวุฒิวิชาชีพ ทาง สคช. ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างผู้ว่าจ้างกับนายจ้างเท่านั้น แต่คุณวุฒิวิชาชีพต่างหากที่การันตีว่าเขาคือมืออาชีพตัวจริงจนทำให้สถานทูตมั่นใจ

สคช. ยังร่วมมือกับธนาคารออมสิน และ SME Bank ผลักดันให้ผู้ประกอบการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ ส่งผลการมีรายได้ให้กับตนเองและระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพที่ทำธุรกิจร้านอาหารสตรีทฟู้ด ร้านทำผม คุณวุฒิวิชาชีพจะเป็นใบรับรองความเป็นมืออาชีพ และเป็นอีกสิ่งที่แบงก์นำมาพิจารณาเพื่อให้เงินกู้

ในมุมของผู้ประกอบการที่มองหาบุคลากร ก็ได้ประโยชน์จากระบบนี้ได้เต็มๆ การคัดเลือกพนักงานเข้าทำงานโดยพิจารณาจากคนที่มีคุณวุฒิวิชาชีพ นอกจากจะได้บุคลากรที่มีทักษะความสามารถตรงตามความต้องการ ยังลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการสรรหาคนและบริหารบุคคล อาจจะไม่จำเป็นต้องมีการทดลองงาน ไม่ต้องลุ้นว่าจะผ่านโปรฯ ไหม และต้องเสียเวลาหาคนใหม่หรือเปล่า เพราะถือเป็นการกรองคนมาให้ระดับหนึ่งแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น หากองค์กรไหนที่ให้พนักงานในองค์กรทุกคนประเมินมาตรฐานอาชีพ ยังช่วยวิเคราะห์ภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานได้ เช่น พนักงานขาดทักษะด้านนี้ ก็แค่ส่งไปอบรมเฉพาะด้านเพิ่มเติม หรือการโปรโมตพนักงาน ก็พิจารณาจากความสามารถจริงๆ

 

ตอนนี้ยังเปิดให้ผู้ประกอบอาชีพแค่เข้าไปสมัครสมาชิกในเว็บไซต์ www.tpqi.go.th เสิร์ชหาอาชีพที่ต้องการประเมิน แต่ละอาชีพมีทักษะที่ใช้วัดระดับต่างกัน บางอาชีพอาจกำหนดประสบการณ์การทำงานไว้ด้วย หรือดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ-องค์การมหาชน-343573219057236/

 

อย่าลืมว่ายุคนี้แข่งกันแค่ผลงานอย่างเดียวไม่ได้ แนะนำคนทำงานกันแบบปากต่อปากบางครั้งก็ใช่ว่าจะตรงกับที่เราต้องการเสียทีเดียว สิ่งที่จะทำให้ผู้ประกอบการค้นพบมืออาชีพ และผู้ประกอบอาชีพยกระดับตัวเองให้เป็นมืออาชีพตัวจริงที่โดดเด่นกว่าใครในสายอาชีพ ก็ต้องพึ่งเครื่องมือประเมินมาตรฐานวิชาชีพที่ได้มาตรฐานอย่างที่กล่าวมา

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X