×

Toxic Productivity ภัยร้ายคุกคามออฟฟิศ! เช็กด่วน 4 สัญญาณเตือน บริษัทคุณกำลังส่งเสริม ‘การบ้างาน’ สุดอันตรายหรือไม่?

08.02.2025
  • LOADING...
4 สัญญาณเตือน Toxic Productivity ในที่ทำงาน แสดงภาพคนทำงานล่วงเวลา การตอบอีเมลวันหยุด และการกินข้าวที่โต๊ะทำงาน

ใครๆ ก็อยากให้ที่ทำงานเป็นแดนสวรรค์ สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่และมีความสุข แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงบางออฟฟิศกลับกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ Toxic Productivity หรือวัฒนธรรมงานเป็นพิษ ที่คอยกัดกินสุขภาพกายและใจของพนักงานอย่างเงียบเชียบ

 

Jennifer Moss นักพูดชื่อดัง และผู้เขียนหนังสือ Why Are We Here?: Creating a Work Culture Everyone Wants อธิบายว่า Toxic Productivity คือการทำงานและต้องการที่จะ Productive อยู่เสมอ แม้ว่าสิ่งนั้นจะทำลายสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเอง

 

น่าเศร้าที่บางครั้งนายจ้างและหัวหน้างานเองก็มีส่วนในการส่งเสริมให้พนักงานติดอยู่ในวังวนของการทำงานหนักเกินไปจนละเลยความต้องการส่วนตัว ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อขวัญกำลังใจและเป้าหมายของบริษัทเลย

 

Moss กล่าวกับ CNBC Make It ว่า “สิ่งหนึ่งที่เราเริ่มเห็นคือ หลังจากที่คนทำงานหนักเกินไป พวกเขาจะเริ่มสูญเสีย Productivity ที่แท้จริง ทำให้ผลงานที่ได้น้อยลง” ต่อไปนี้คือ 4 สัญญาณเตือนว่าที่ทำงานของคุณอาจกำลังส่งเสริมพฤติกรรมที่นำไปสู่ Toxic Productivity และวิธีแก้ไข

 

4 สัญญาณเตือนว่าที่ทำงานของคุณกำลังส่งเสริม Toxic Productivity

  1. ‘ชื่นชม’ คนทำงานดึกดื่น: ในที่ทำงานที่เป็นพิษ การทำงานล่วงเวลาจะถูกมองว่าเป็นเรื่องน่ายกย่อง คนที่อยู่ดึกที่สุดคือฮีโร่ ทั้งๆ ที่จริงแล้วการทำงานล่วงเวลาเป็นประจำอาจเป็นสัญญาณของการจัดการเวลาที่ไม่ดีหรือภาระงานที่มากเกินไป
  2. ผู้นำตอบอีเมลในวันเสาร์-อาทิตย์: หากผู้นำในองค์กรของคุณส่งอีเมลหรือตอบแชตในวันหยุดสุดสัปดาห์หรือตอนกลางคืน นั่นอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า ‘ไม่มีเวลาพักผ่อน’ และคาดหวังให้พนักงานทำตาม ซึ่งเป็นการบ่อนทำลาย Work-Life Balance อย่างร้ายแรง
  3. กินข้าวกลางวันที่โต๊ะทำงานเป็นเรื่องปกติ: การที่พนักงานส่วนใหญ่กินมื้อกลางวันที่โต๊ะทำงานอาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่จริงๆ แล้วมันสะท้อนว่าพวกเขาไม่มีเวลาพักหรือรู้สึกผิดที่จะลุกจากโต๊ะไปพักผ่อนอย่างเต็มที่ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาว
  4. โปรโมทคนบ้างานจนหมดไฟ: การให้รางวัลหรือโปรโมตคนที่ทำงานหนักเกินเบอร์จนกระทั่งหมดไฟ (Burnout) เป็นการส่งเสริม Toxic Productivity อย่างชัดเจน เพราะมันทำให้พนักงานเชื่อว่าการทำงานหนักจนเสียสุขภาพเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

 

วิธีแก้ไข Toxic Productivity เริ่มต้นที่ผู้นำ

 

เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ Moss แนะนำว่า ผู้นำองค์กรควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับทีม โดยเน้นย้ำว่า “ความเป็นอยู่ที่ดีเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นคนทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงในองค์กร” ผู้นำต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการพักผ่อนและดูแลตัวเองด้วยเช่นกัน

 

วิธีหนึ่งที่ผู้นำจะแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีคือการพักร้อนอย่างเปิดเผย (Loud Vacationing) Moss อธิบายว่า Loud Vacationing คือการที่ผู้นำส่งเสริมให้พนักงานใช้วันลาพักร้อนอย่างเต็มที่และตัดขาดจากเรื่องงานอย่างแท้จริง

 

จากแนวคิดของ Paycom ผู้นำสามารถพูดถึงเรื่องการพักผ่อนได้ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวังและเหมาะสมกับสถานการณ์ เช่น การชวนทีมออกไปเดินพัก 15 นาทีผ่าน Slack แทนที่จะคุยโอ้อวดเรื่องแผนไปเที่ยวรีสอร์ตหรูในช่วงที่บริษัทกำลังมีปัญหา เพราะสิ่งสำคัญคือการส่งเสริมการพักผ่อนในแบบที่แสดงถึงความเข้าใจและใส่ใจต่อพนักงาน

 

นอกจากนี้ การเพิ่มเวลาให้พนักงานได้กินข้าวด้วยกันที่ออฟฟิศและเชื่อมความสัมพันธ์กันก็เป็นประโยชน์เช่นกัน Moss แนะนำว่า “ลองสั่งพิซซ่าวันศุกร์ แล้วให้ทุกคนมาแฮงเอาต์กัน หรือเป็นมัฟฟินวันจันทร์ก็ได้ เราต้องสร้างกิจกรรมประจำและโอกาสที่ไม่คาดฝัน เพื่อให้พนักงานเชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น”

 

และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือผู้นำต้องเก็บข้อมูลและถามพนักงานว่าอะไรที่เวิร์กและอะไรที่ไม่เวิร์ก เพื่อที่จะสามารถสนับสนุนความต้องการของพวกเขาได้ดียิ่งขึ้น

 

Moss แนะนำให้จัดการประชุมสัปดาห์ละครั้ง เพื่อถามพนักงานว่า “อะไรที่ทำให้คุณฮึกเหิม?” “อะไรทำให้คุณเครียดในสัปดาห์นี้?” และ “เราจะช่วยเหลืออะไรกันได้บ้าง เพื่อให้งานง่ายขึ้น?”

 

ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต่างๆ จะหันมาใส่ใจกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานอย่างจริงจัง เพราะท้ายที่สุดแล้วพนักงานที่มีสุขภาพกายและใจที่ดีย่อมสร้างผลงานที่ดีและนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising