หลังจาก Netflix เปิดดีลสะเทือนวงการภาพยนตร์ด้วยการเตรียมฉายแอนิเมชัน 21 เรื่อง (จากทั้งหมด 22 เรื่อง) ของสตูดิโอจิบลิ ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020
THE STANDARD POP มีโอกาสสัมภาษณ์ โทชิโอะ ซูซูกิ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ ผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์ดังกล่าว ร่วมกับสำนักข่าวจาก 6 ประเทศในทวีปเอเชียผ่านทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ถึงทิศทางต่อไปของวงการแอนิเมชัน, ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในยุครุ่งเรืองของแพลตฟอร์มสตรีมมิง, ผลงานโปรดใน Netflix และเคล็ดลับการบริหารความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ มาตลอดระยะเวลา 42 ปี
คุณมีประสบการณ์ร่วมกับ Netflix ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อไร และอะไรทำให้คนที่เติบโตมาในวงการภาพยนตร์แอนิเมชันอย่างคุณสนใจแพลตฟอร์มสตรีมมิงแบบนี้
ผมสมัครสมาชิก Netflix ครั้งแรกเพื่อดูซีรีส์ House of Cards แต่จำไม่ได้แล้วว่าตั้งแต่ปีไหน สิ่งที่น่าสนใจอย่างแรกคือการมีหลายแพ็กเกจให้เลือก ซึ่งทำให้ผมตัดสินใจยากเหมือนกัน แต่สุดท้ายผมเลือกแพ็กเกจแบบสแตนดาร์ด (ราคาประมาณ 350) บาท เพราะแพ็กเกจพรีเมียม (ราคาประมาณ 420 บาท) แพงเกินไปสำหรับผม (หัวเราะ)
หลังจากนั้นผมก็ใช้ Netflix ดูภาพยนตร์และซีรีส์เรื่องอื่นๆ มาเรื่อยๆ จนได้มาดูเรื่อง Roma ของผู้กำกับ อัลฟอนโซ กัวรอน ที่กลายเป็นภาพยนตร์ที่ผมรักมากๆ อีกเรื่องหนึ่ง
และยิ่งเห็นความน่าสนใจของแพลตฟอร์มสตรีมมิงแบบ Netflix อย่างที่รู้กันดีว่านี่คือช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับการสร้างภาพยนตร์ขึ้นมาสักเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นการที่มีคนสนับสนุนให้ผู้กำกับและบริษัทภาพยนตร์สามารถสร้างผลงานตามทิศทางที่พวกเขาต้องการได้มากขึ้นก็นับว่าเป็นเรื่องดีที่จะช่วยพัฒนาวงการภาพยนตร์ต่อไปได้
ตัวแทนบริษัท GKIDS (ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ของสตูดิโอจิบลิในสหรัฐอเมริกา) เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดคือการได้รับชมแอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิในโรงภาพยนตร์” ในฐานะที่คุณเป็นทั้งผู้ก่อตั้ง โปรดิวเซอร์ และผู้จัดการทั่วไปของสตูดิโอจิบลิ มีความคิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
การรับชมในโรงภาพยนตร์ให้ประสบการณ์อย่างหนึ่งจริง แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าการนำผลงานของสตูดิโอจิบลิไปฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เพราะไม่ว่าจะเป็นช่องทางไหน ผู้ชมก็ยังสัมผัสถึงเนื้อหาของภาพยนตร์ได้อยู่ดี
อย่าลืมว่าเมื่อก่อนที่ยังไม่มีแพลตฟอร์มสตรีมมิง เราก็มีการฉายภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ มีการเช่าวิดีโอกลับไปดูที่บ้าน พัฒนาเป็น VCD, DVD หรือบลูเรย์ เพื่อนำผลงานของเราไปสู่ผู้ชมให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นการฉายแอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิบน Netflix ก็ไม่ต่างกัน แถมเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและสมาร์ททีวีในปัจจุบันก็พัฒนาจนรองรับระบบการฉายแบบ Ultra HD หรือ 4K ที่คมชัดยิ่งขึ้นไปอีก
เพราะฉะนั้นผมยังมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีมากกว่าจะเป็นการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงวงการภาพยนตร์ เป็นการเปิดประตูให้ผู้สร้างมีโอกาสผลิตผลงานและนำไปสู่สายตาผู้ชมมากขึ้น ในขณะที่ผู้ชมก็มีทางเลือกในการรับชมผลงานที่หลากหลายมากขึ้นเช่นกัน
ขอแชร์ความรู้สึกส่วนตัวในฐานะที่ผมชื่นชอบภาพยนตร์ของ วูดดี้ อัลเลน มากๆ (วูดดี้ อัลเลน เคยมีโปรเจกต์สร้างภาพยนตร์กับ Amazon) เขาก็เคยพูดไว้เหมือนกันว่าการมีช่องทางเพิ่มขึ้นมากมายนับว่าเป็นเรื่องดีสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์
ทำไมจึงเลือก Netflix ให้เป็นพาร์ตเนอร์ในการฉายภาพยนตร์แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิ
ตอนนี้เรามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิงมากมาย แต่ต้องยอมรับว่า Netflix เป็นผู้ให้บริการที่มีสมาชิกมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และมีแนวทางในการทำงานน่าสนใจที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการสนับสนุนคนทำคอนเทนต์อย่างที่ผมพูดไว้ก่อนหน้านี้
ความสนใจในตอนนี้ของผมคือกำลังอยู่ในช่วงสำรวจว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิงจะสร้างความแตกต่างและพัฒนาวงการภาพยนตร์ได้มากขนาดไหน และคิดว่า Netflix จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงและสร้างสิ่งที่น่าสนใจให้เกิดขึ้นได้สำหรับผม
ที่สำคัญคือตอนนี้เราต้องยอมรับว่า Netflix หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่างๆ คือหนึ่งในผู้นำของการทำธุรกิจภาพยนตร์รวมทั้งซีรีส์ทั้งหมด เป็นการทำธุรกิจในโลกยุคปัจจุบันที่เราปฏิเสธไม่ได้ ผมมองเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นนะที่สตูดิโอจิบลิกำลังจะกระโดดเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ แบบนี้
ในฐานะผู้ชม คุณอยากเห็นอะไรเพิ่มขึ้นบน Netflix อีกบ้าง
ผมอยากให้มีภาพยนตร์คลาสสิกเก่าๆ ในยุค 60 มากขึ้น เพราะสำหรับผมที่เกิดในปี 1948 ผลงานในยุค 60 คือยุคทองของภาพยนตร์ที่ทำให้ผมเติบโตขึ้นมา
ในฐานะโปรดิวเซอร์ คุณอยากให้ Netflix ที่มาเป็นพาร์ตเนอร์ช่วยทำการตลาดให้กับภาพยนตร์แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิอย่างไรบ้าง
แม้ดูเหมือนว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิงจะเชื่อมการชมภาพยนตร์ของคนทั้งโลกไว้ด้วยกัน แต่ผมยังเชื่อว่าต้องมีวิธีการทำการตลาดที่แตกต่างกันออกไปตามวัฒนธรรมและลักษณะนิสัยของผู้ชมแต่ละประเทศ
เหมือนตอนที่ภาพยนตร์เรื่อง Spirited Away เข้าฉายที่ประเทศญี่ปุ่น ตัวละครภูตไร้หน้า (No-Face) ทำให้เด็กๆ ชาวญี่ปุ่นหลายคนกลัวจนร้องไห้ทุกครั้งที่ปรากฏตัวออกมาบนจอ หรือแม้กระทั่งเวลามีคนแต่งคอสเพลย์ในที่ต่างๆ
แต่ตอนผมไปที่ไต้หวัน กลายเป็นว่าผู้ชมที่นั่นจะตื่นเต้น หัวเราะ และปรบมือให้เวลาเขาเห็นภูตไร้หน้าปรากฏตัวออกมา ซึ่งหลายๆ ประเทศก็จะมีความรู้สึกที่แตกต่างกันไปหมด ผมพยายามถามทีมงานในแต่ละประเทศถึงปฏิกิริยาของผู้ชมที่แตกต่างกัน แต่ก็ไม่เคยมีใครให้คำตอบได้ชัดๆ จนทุกวันนี้ผมเองก็ยังไม่แน่ใจ แต่ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าแต่ละประเทศต้องมีแนวทางการตลาดเพื่อเข้าถึงผู้ชมที่ต่างกัน
คุณคิดว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ภาพยนตร์แอนิเมชันประสบความสำเร็จในระดับโลกได้
ผมไม่รู้จะตอบคำถามนี้ได้อย่างไรจริงๆ พวกคุณน่าจะต้องเป็นคนบอกผมนะ (หัวเราะ) เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากจริงๆ แต่ที่ผมพอจะพูดได้ก็คือวงการภาพยนตร์ในยุคนี้กำลังบอกเล่าเรื่องราวในรูปแบบและแนวทางที่แตกต่างจากยุคก่อนมาก
ซึ่งสิ่งที่สตูดิโอจิบลิยึดถือมาตลอดคือการเล่าเรื่องโดยสอดแทรกหลักการหรือปรัชญาเชิงศีลธรรมของมนุษย์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตประจำวันของพวกเรา ผู้คนใช้ชีวิตกันอย่างไร รู้สึก มีปัญหา และต้องเผชิญกับความเจ็บปวดอะไรบ้าง โดยไม่เข้าไปตัดสินว่าสุดท้ายแล้วทุกคนจะต้องใช้ชีวิตอย่างไร แต่ภาพยนตร์ใหม่หลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นแอนิเมชันหรือคนแสดงมักจะขาดเนื้อหาในมุมนี้ไป
หลังจากทำงานในวงการมามากกว่า 40 ปี คุณคิดว่าภาพยนตร์แอนิเมชันมีความหมายกับคุณอย่างไรบ้าง
ถ้าตอบแบบนี้จะต้องไม่ดีกับบทความคุณแน่เลย แต่ด้วยความสัตย์จริง ผมชอบภาพยนตร์ที่เป็นคนแสดงมากกว่าแอนิเมชันอีกนะ (หัวเราะ) แต่เพราะผมได้พบกับ ฮายาโอะ มิยาซากิ ที่เป็นคนอยากสร้างภาพยนตร์ให้เป็นแอนิเมชัน ซึ่งผมกับเขามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงต้องมาทำแอนิเมชัน (หัวเราะ) ซึ่งเอาเข้าจริงก็นับว่าเป็นเรื่องยากสำหรับผมในฐานะโปรดิวเซอร์เหมือนกัน
โทชิโอะ ซูซูกิ และฮายาโอะ มิยาซากิ
Photo: Ken Ishii / Getty Images
พอจะบอกได้ไหมว่าอะไรคือเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้คุณและ ฮายาโอะ มิยาซากิ เป็นเพื่อนที่ทำงานร่วมกันมาได้มากกว่า 40 ปี
(คิดนาน) เคล็ดลับคืออย่าสนิทกันมาก (หัวเราะ) ถ้าคุณทำงานด้วยกันแล้วสนิทกันมากๆ นั่นไม่ใช่เรื่องดีหรอกนะ เชื่อไหมว่าขนาดทำงานมาด้วยกัน 42 ปีแล้ว ผมกับเขายังใช้ภาษาสุภาพเวลาคุยกันอยู่เลย
เวลาทำงานกับใคร เขาจะอยู่ในสถานะของการเป็นเพื่อนร่วมงาน เราจะให้เกียรติซึ่งกันและกันในเรื่องนี้ แต่เราจะไม่กลัวหรือเกรงใจกันเกินไป คุณจะไม่ได้ผลงานที่ดีที่สุด เมื่อไรก็ตามที่คุณเกรงใจเพื่อนร่วมงานมากเกินไป นี่คือสิ่งที่พวกเรายึดถือกันมาตลอด
ที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีแนวคิดว่าอย่าเข้าใกล้กันมากเกินไป แต่ก็อย่าห่างไกลกันเกินไป ให้รักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานเอาไว้ตรงกลาง นี่คือทางที่ดีที่สุดในการรักษาความสัมพันธ์ระยะยาว ไม่ใช่แค่การทำงานอย่างเดียวนะ ชีวิตคู่ก็เหมือนกัน (หัวเราะ)
ถ้าให้เลือกได้แค่หนึ่งตัวละคร คุณชอบตัวละครใดมากที่สุดในผลงานทุกเรื่องของสตูดิโอจิบลิ
เป็นคำถามที่ยากมาก ผมเลือกไม่ได้จริงๆ แต่ ฮายาโอะ มิยาซากิ เคยบอกเอาไว้ว่ามีตัวละครหนึ่งที่ออกแบบโดยมีผมเป็นแรงบันดาลใจ ซึ่งก็คือ ยูบาบา แม่มดใจร้ายจากเรื่อง Spirited Away
ซึ่งเขาบอกเหตุผลมาว่ายูบาบาเป็นผู้จัดการโรงอาบน้ำ คอยควบคุมบริหารงานทั้งหมดเวลาวิญญาณทั้งหมดมาใช้บริการที่นี่ หน้าที่คล้ายๆ กับที่ผมเป็นโปรดิวเซอร์ ช่วยดูแลจัดการการสร้างภาพยนตร์ของสตูดิโอจิบลิ ก็เลยเอาผมเป็นแรงบันดาลใจและสร้างตัวละครนี้ขึ้นมา เห็นไหมว่าอย่าสนิทกันจะดีที่สุด (หัวเราะ)
ภาพแม่มดยูบาบาจากเรื่อง Spirited Away ที่ ฮายาโอะ มิยาซากิ ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจาก โทชิโอะ ซูซูกิ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
- สตูดิโอจิบลิก่อตั้งขึ้นมาในปี 1985 โดย ฮายาโอะ มิยาซากิ, โทชิโอะ ซูซูกิ และอิซาโอะ ทาคาฮาตะ โดยมีผลงานเรื่องแรกคือ Castle in the Sky เข้าฉายในปี 1986
- สตูดิโอจิบลิมีผลงานออกมาทั้งหมด 22 เรื่อง โดยเรื่องที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ Spirited Away (2001) ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม และทำรายได้ทั่วโลกไปมากถึง 347 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ครองอันดับหนึ่งภาพยนตร์แอนิเมชันที่ทำรายได้สูงสุดของญี่ปุ่นเป็นเวลา 15 ปี จนกระทั่งเพิ่งถูก Your Name ของ มาโกโตะ ชินไค แซงไปในปี 2016
- อ่านรายละเอียดการฉายภาพยนตร์แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิบน Netflix เพิ่มเติมได้ที่ https://thestandard.co/netflix-studio-ghibli-1-feb/