ในยุคที่ผู้คนต่างมีไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกัน หัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจการให้บริการคือ ต้องไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบทุกโจทย์ความต้องการแบบเหนือความคาดหมาย
กลายเป็นที่มาของการทุ่มงบกว่า 150 ล้านบาท เปิดตัว ‘Tops Food Hall’ (ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์) สุขุมวิท 39 ซึ่งเป็นรูปแบบสแตนด์อโลน 2 ชั้นแห่งแรกในประเทศไทย บนพื้นที่ 4,800 ตารางเมตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ป้ายเหลืองล็อกราคา’ กลยุทธ์ที่ขาดไปไม่ได้เสียแล้วของ Tops Supermarket เบื้องหลังการดึงให้ลูกค้าจ่ายมากขึ้น
- กางแผน ‘ท็อปส์’ ปี 2565 สยายปีกออกนอกเครือเซ็นทรัล ไปเปิดใน ‘คอมมูนิตี้มอลล์’ หรือ ‘ปั๊มน้ำมัน’ มากขึ้น
“เรายึดทำเลย่านเศรษฐกิจใจกลางตัวเมืองกรุงเทพฯ ชั้นใน ซอยสุขุมวิท 39 ซึ่งเป็นศูนย์รวมที่พักอาศัยระดับหรูของกลุ่มนักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติ และเป็นโซนที่อยู่อาศัยยอดนิยมของกลุ่ม Expat โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่น” สเตฟาน คูม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าว
อย่างไรก็ตาม EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินภาพรวมมูลค่าธุรกิจค้าปลีกในปี 2565 จะกลับมาขยายตัวอยู่ที่ราวที่ 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็น 3.45 ล้านล้านบาท จากการผ่อนคลายการควบคุมโรค การเพิ่มขึ้นของรายได้ภาคเกษตร และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะปัญหาต้นทุนสินค้าและต้นทุนพลังงานสูง ที่จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคผ่านการขึ้นราคาสินค้า
โดยธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น ตามความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ทยอยฟื้นตัว โดยมีปัจจัยด้านบวกจากการกลับมาใช้ชีวิตประจำวันตามปกติมากขึ้นจากการผ่อนคลายการควบคุมโรคและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
ประกอบกับการมี Pent Up Demand ของกลุ่มที่มีกำลังซื้อ รวมถึงการฟื้นตัวของรายได้ภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยที่ต้องระมัดระวังอย่างภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนและการว่างงาน ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภค
EIC มองว่าการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในแต่กลุ่มจะเป็นในลักษณะ Uneven โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องแม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าจำเป็นอย่าง Grocery รวมถึงกลุ่มที่ตอบโจทย์เทรนด์ New Normal อย่างสินค้าที่ตอบโจทย์สุขภาพ
ขณะที่กลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะในหมวดสินค้าไม่จำเป็น อย่างเช่นสินค้าแฟชั่น สินค้าความงาม รวมถึงกลุ่มห้างสรรพสินค้า (Department Store) ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากกำลังซื้อที่ยังเปราะบางและปัญหาเงินเฟ้อ ที่อาจส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างจำกัด
สำหรับ Grocery มีแนวโน้มฟื้นตัวและเติบโตโดดเด่นกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค ประกอบกับผู้ประกอบการยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP