×

TOP ลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์รายใหญ่ของอินโดนีเซีย ตอกย้ำแผนลงทุนระยะยาว

30.07.2021
  • LOADING...
top

เกิดอะไรขึ้น:

เมื่อวานนี้ (29 กรกฎาคม) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ประกาศเข้าลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ โดยจะใช้เงินลงทุน 1,183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเข้าถือหุ้น 15.38% ใน PT Chandra Asri Petrochemical (CAP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย 

 

โดยการลงทุนครั้งจะเปิดโอกาสให้ TOP ขยายธุรกิจสู่ตลาดอินโดนีเซียที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และคาดว่าจะยังคงมีสถานะเป็นผู้นำเข้าสุทธิสำหรับผลิตภัณ์โอเลฟินส์ปลายน้ำ (ส่วนใหญ่เป็น PE และ PP) ด้วยอุปสงค์ที่เติบโต 4.8% ต่อปีเทียบกับไทยที่เติบโต 2.5% ต่อปี

 

นอกจากนี้การขยายกำลังการผลิตครั้งนี้จะส่งผลให้ CAP มีกำลังการผลิตแบบบูรณาการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จาก 4.2 ล้านตันต่อปี สู่ระดับ 8 ล้านตันต่อปี (โรงงานโอเลฟินส์แครกเกอร์กำลังการผลิต 3.1 ล้านตันต่อปี) ภายในปี 2569 โดยจะต้องใช้เงินลงทุน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินอัดฉีดจากผู้ถือหุ้นของ CAP จำนวน 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย TOP จะเข้าไปลงทุนตรงจุดนี้ร่วมกับผู้ถือหุ้นเดิม 

 

TOP จะเข้าลงทุนใน CAP โดยแบ่งการชำระเงินเป็น 2 งวด คือ งวดแรกชำระเงินจำนวน 913 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อธุรกรรมแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน และ งวดที่ 2 ชำระเงินจำนวน 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อมีการตัดสินลงทุนขั้นสุดท้ายเกิดขึ้นในปี 2565 การลงทุนครั้งนี้จะใช้แหล่งเงินลงทุนจากเงินกู้ระยะสั้น (18 เดือน) จากธนาคาร และ บมจ.ปตท. (PTT) ด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ที่ <2.5% 

 

โดยที่จะมีการรีไฟแนนซ์เงินกู้เหล่านี้ในปี 2565 ด้วยเงินทุนจากแผนปรับโครงสร้างทางการเงิน ซึ่งประกอบด้วยการสร้างรายได้จากสินทรัพย์ที่ส่วนใหญ่จะเกิดจากขายหุ้น <10.8% ใน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ให้กับ PTT (~2.0 หมื่นล้านบาท) การเพิ่มทุน (ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท) และการขยายวงเงินสินเชื่อการค้าจาก PTT ทั้งนี้ TOP จะประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการเพิ่มทุนภายใน 4Q64 ผู้บริหารคาดว่าจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก CAP ตั้งแต่ 4Q64 เป็นต้นไป แม้ว่าจะมีสัดส่วนการถือหุ้นน้อยกว่า 20%

 

กระทบอย่างไร:

วันนี้ (30 กรกฎาคม) ราคาหุ้น TOP ปรับตัวลง 7.98%DoD สู่ระดับ 43.25 บาท เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับ Dilution Effect จากการเพิ่มทุน (ข้อมูล ราคา ณ 12.30 น.)

 

มุมมองระยะสั้น: 

SCBS มองว่า การลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับกลยุทธ์ระยะยาวของ TOP ที่ต้องการทำธุรกิจปิโตรเคมีแบบบูรณาการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากคาดว่าความต้องการน้ำมันเบนซินจะลดลง เพราะรถยนต์ที่ใช้น้ำมันหรือขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) จะค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) 

 

นอกจากนี้ SCBS คาดว่า Dilution Effect จากการเพิ่มทุนจะอยู่ที่ราว 10% อ้างอิงจากราคาหุ้น TOP เฉลี่ย 3 เดือนที่ 55.26 บาท และใช้ส่วนลด 20% เพื่อให้ได้มาซึ่งราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในการระดมทุน 1 หมื่นล้านบาท ผลกระทบดังกล่าวจะได้รับการชดเชยจากส่วนแบ่งกำไรจากกิจการที่มีอยู่เดิมของ CAP ซึ่งผู้บริหารคาดการณ์ส่วนแบ่งกำไรราว 40-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือประมาณ 15-17% ของประมาณการกำไรปัจจุบันของ SCBS 

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS คาดแนวโน้มผลประกอบการปี 2564 ของ TOP จะพลิกกลับมามีกำไรที่ 8.2 พันล้านบาท จากขาดทุน 3.3 พันล้านบาทในปี 2563 เมื่อความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปกลับคืนสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน รวมถึงราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้น 

 

ขณะที่ค่าการกลั่น (GRM) ในปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับ US$3 ต่อบาร์เรล จากระดับ US$2.4 ต่อบาร์เรลในปี 2563 นอกจากนี้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์จะปรับตัวขึ้น YoY โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากโรงงาน PTA แห่งใหม่ในจีน แม้อาจอ่อนตัวลงใน 2H64 หลังจากมีอุปทาน PX ใหม่เข้าสู่ตลาด

 

ภาพ: Paul Lakatos / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising