×

เปิด 3 อันดับธุรกิจที่ปิดกิจการมากสุด! วิเคราะห์ทำไม 7 เดือนทุนจดทะเบียนเลิกกิจการสูงถึง 8.5 หมื่นล้านบาท

30.08.2024
  • LOADING...
ธุรกิจ ปิดกิจการ

7 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจไทยปิดกิจการไปแล้วรวมมูลค่า 8.5 หมื่นล้านบาท โดย 3 อันดับธุรกิจที่ปิดกิจการสูงสุด ได้แก่ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และอาหาร แม้ยอดจดทะเบียนกิจการตั้งใหม่เข้าสู่ไตรมาส 3 ยังขยับขึ้น จัดตั้งกิจการสะสม 7 เดือนแตะ 5.4 หมื่นราย

 

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวน 1,890 ราย เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 23 ราย คิดเป็น 1.23% และทุนจดทะเบียนประกอบกิจการเดือนกรกฎาคม 2567 8,831.05 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้น 1,303.13 ล้านบาท คิดเป็น 17.31%

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

“ในเดือนนี้มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนเลิกกิจการเกิน 1,000 ล้านบาท คือธุรกิจด้านอสังหา การจัดการที่ดินเปล่า หรือจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อจำหน่าย มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิก 1,420.00 ล้านบาท”

 

อรมนกล่าวอีกว่า ประเภทธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 155 ราย ทุนจดทะเบียนเลิกกิจการ 677.32 ล้านบาท 
  2. ธุรกิจอสังหา 127 ราย ทุนจดทะเบียนเลิกกิจการ 2,150.97 ล้านบาท
  3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 62 ราย ทุนจดทะเบียนเลิกกิจการ 156.13 ล้านบาท

โดยคิดเป็นสัดส่วน 8.20%, 6.72% และ 3.28% ตามลำดับ

 

ส่งผลให้การจดทะเบียนเลิกกิจการสะสม 7 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวน 7,929 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 1,035 ราย คิดเป็น 11.55% โดยทุนจดทะเบียนเลิกกิจการสะสมอยู่ที่ 85,579.40 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 28,446.77 ล้านบาท คิดเป็น 49.79%

 

“สาเหตุมาจากมีนิติบุคคลจำนวน 4 รายที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1,000 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 6,004.71 ล้านบาท และช่วงเดือนพฤษภาคมมีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสารจำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการเช่นกัน รวมทุนจดทะเบียนทั้ง 5 รายมีมูลค่ากว่า 54,214.05 ล้านบาท จึงทำให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิกกิจการ 7 เดือนแรกสูงกว่าปกติ”

 

อรมนกล่าวอีกว่า เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกแล้ว หากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไป ทุนจดทะเบียนเลิกกิจการจะอยู่ที่ 31,365.35 ล้านบาท และพบว่าสัดส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการอยู่ที่ 18% ของการจัดตั้งธุรกิจใน 7 เดือนแรกของปี 2567 ซึ่งมีความใกล้เคียงกับปี 2566

 

เปิด 3 อันดับธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการสะสมสูงสุดใน 7 เดือนแรกของปี 2567

  • ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 758 ราย ทุนจดทะเบียนเลิกกิจการ 1,886.50 ล้านบาท
  • ธุรกิจอสังหา จำนวน 467 ราย ทุนจดทะเบียนเลิกกิจการ 7,014.72 ล้านบาท
  • ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 259 ราย ทุนจดทะเบียนเลิกกิจการ 613.34 ล้านบาท

โดยคิดเป็นสัดส่วน 9.56%, 5.89% และ 3.27% ตามลำดับ

 

อรมนระบุอีกว่า สำหรับสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนกรกฎาคม 2567 พบว่ามีจำนวน 7,837 ราย เมื่อเทียบกับปี 2566 เพิ่มขึ้น 989 ราย หรือ 14% และทุนจดทะเบียนกิจการ 23,704.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,056.38 ล้านบาท หรือ 42%

 

โดยประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไป, อสังหา และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 367 ราย ทุนจดทะเบียน 798.51 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.85%, 6.81% และ 4.68% ตามลำดับ

 

“น่าสนใจว่าเดือนกรกฎาคม 2567 มีธุรกิจที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,801.25 ล้านบาท ได้แก่ ธุรกิจศูนย์เก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Data Center) บริการเชื่อมต่อโครงข่าย บริการดิจิทัลและบริการที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคาร อาคารพาณิชย์ สถานที่ทำการ ถนน สะพาน เขื่อน รวมทั้งงานโยธา” อรมนกล่าว

 

ส่งผลให้การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 7 เดือนแรกของปี 2567 มีจำนวน 54,220 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 86 ราย คิดเป็น 0.16% ทุนจดทะเบียน 168,783.20 ล้านบาท ลดลง 276,512.50 ล้านบาท คิดเป็น 62.10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

 

เปิด 3 อันดับธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุดใน 7 เดือนแรกของปี 2567

  • ธุรกิจอสังหา 4,189 ราย ทุนจดทะเบียนกิจการ 17,621.98 ล้านบาท
  • ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 4,136 ราย ทุนจดทะเบียนกิจการ 9,311.05 ล้านบาท
  • ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 2,472 ราย ทุนจดทะเบียนกิจการ 5,151.41 ล้านบาท

โดยคิดเป็นสัดส่วน 7.73%, 7.63% และ 4.56% ตามลำดับ

 

ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มาตรการภาษีท่องเที่ยว ภาคอสังหา จะช่วยกระตุ้น แม้หนี้ครัวเรือนสูง เสถียรภาพทางการเมือง และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ก็ยังคาดการณ์ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจทั้งปี 2567 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยคาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจของปี 2567 อยู่ที่ 90,000-98,000 ราย

 

สำหรับทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย 7 เดือนแรกของปี 2567 ลงทุนรวมทั้งสิ้น 90,987 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 32,043 ล้านบาท คิดเป็น 54% โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 117 ราย เงินลงทุน 47,879 ล้านบาท, สิงคโปร์ 71 ราย เงินลงทุน 7,486 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 70 ราย เงินลงทุน 3,470 ล้านบาท, จีน 51 ราย เงินลงทุน 7,120 ล้านบาท และฮ่องกง 35 ราย เงินลงทุน 12,131 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising