×

เลือกตั้งผู้ว่าฯ-นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่-โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู ย้อน 12 ข่าวเด่นในปี 2565

28.12.2022
  • LOADING...

ปี 2565 เป็นอีกหนึ่งปีที่ข่าวสารบ้านเมืองเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งการเมืองที่ร้อนแรงตลอดทั้งปี ความเศร้า สูญเสีย จากโศกนาฏกรรมที่จังหวัดหนองบัวลำภู รวมถึงข่าวอื่นๆ ที่เราอาจลืมไปบ้างแล้ว แต่แน่นอนว่าเหตุการณ์เหล่านั้นล้วนส่งผลต่อความเป็นไปในชีวิตของเราและผู้คนในมิติต่างๆ

 

THE STANDARD พาไปทบทวน 12 ข่าวเด่นในปี 2565

 


 

พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา (ขวา) / ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า (กลาง) ในวันเปิดตัวที่ทำการพรรคเศรษฐกิจไทยวันแรก เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565

 

21 ส.ส. พลังประชารัฐถูกขับ ส่งธรรมนัสขึ้นเรือเศรษฐกิจไทย และ(อาจ)หวนกลับมาบ้านเก่า

ช่วงเย็นของวันที่ 20 มกราคม 2565 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐมีมติขับ 21 ส.ส. ของพรรค ที่นำโดย ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากสมาชิกพรรค โดยมีที่มาจากความขัดแย้งภายในของพรรค ขณะที่ก่อนหน้านี้ ร.อ. ธรรมนัส ถูกปลดจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ 

 

มีรายงานว่า พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้เรียกแกนนำพรรค และ ส.ส. ไปเคลียร์ที่บ้านป่ารอยต่อ สื่อหลายสำนักรายงานข่าวอ้างคำพูดของ พล.อ. ประวิตรอีกว่า “ยอมๆ ไปเถอะ ถ้าอยากออกก็ให้ออกไป จะได้สงบ พรรคจะได้เดินต่อ” กระทั่งเช้าวันถัดมา ไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ตั้งโต๊ะแถลงเหตุผลที่ขับ 21 ส.ส. ของกลุ่ม ร.อ. ธรรมนัส เพราะต้องการให้พรรคมีเสถียรภาพมากขึ้น

 

ตามกฎหมายเมื่อ ส.ส. ถูกขับออกจากพรรคการเมือง ความเป็น ส.ส. ยังคงอยู่ และจะต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน โดยหลังจากวันที่ถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ ร.อ. ธรรมนัส ก็ไม่ได้ปรากฏตัวต่อหน้าสื่อ แต่ใช้วิธีโพสต์วิดีโอผ่านเฟซบุ๊ก ก่อนเปิดตัวพรรคเศรษฐกิจไทย โดยมี พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค และ ร.อ. ธรรมนัส เป็นเลขาธิการพรรค จากนั้นไม่กี่เดือนต่อมา พล.อ. วิชญ์ ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรค ทำให้ ร.อ. ธรรมนัส ขึ้นมากุมพรรคในฐานะหัวหน้าพรรคแบบเต็มตัว ทว่าไม่กี่เดือน ร.อ. ธรรมนัส ก็ลาออกจากหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยเช่นเดียวกัน

 

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เมื่อครั้งการประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐปี 2563

ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม

 

ก่อนที่ช่วงหลังจะปรากฏข่าวว่าเขาและ ส.ส.​ บางส่วนของพรรคเศรษฐกิจไทยจะเข้ามาอยู่กับพรรคเพื่อไทย และต่อมาเมื่อมีความชัดเจนว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ได้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็เริ่มปรากฏข่าวการกลับมาอยู่พรรคพลังประชารัฐของ ร.อ. ธรรมนัส จากสายสัมพันธ์ระหว่างเขาและ พล.อ. ประวิตร

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ขณะเดินทางถึงซาอุดีอาระเบียเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565

 

ฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 30 ปีของไทยและซาอุดีอาระเบีย

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย (ตำแหน่งในขณะนั้น) ซึ่งถือเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี 

 

 

ก่อนที่ในช่วงปลายปี เจ้าชายมูฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย จะเสด็จฯ เยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมกับผู้นำ APEC ในฐานะแขกของรัฐบาล (Official Visit) ในวันที่ 18 พฤศจิกายน โดยถือเป็นครั้งแรกของการเยือนไทยโดยผู้นำซาอุดีอาระเบียในรอบ 32 ปี หลังมีการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

 


 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กระโดดโชว์มวลชน ขณะทราบผลคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

 

ชัชชาติแลนด์สไลด์ สร้างประวัติศาสตร์ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ได้คะแนน 1.37 ล้าน

 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในรอบกว่า 9 ปี หลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังมีการแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ ก่อนทยอยปลดล็อกให้เลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นสุดท้ายที่ปลดล็อกให้มีการเลือกตั้ง

 

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ​ กทม. ก่อนหน้านี้ชัยชนะตกเป็นของผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งอภิรักษ์ โกษะโยธิน และ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร แต่การเลือกตั้งครั้งนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น 

 

จากวันสมัคร ถึงวันหย่อนบัตรใช้เวลาเกือบ 2 เดือน ชัยชนะเป็นของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้สมัครอิสระ ที่กวาดคะแนนทิ้งห่างคู่แข่ง 1,375,978 คะแนน ตามมาด้วย สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ 252,922 คะแนน และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล 252,233 คะแนน 

 

แพทองธาร ชินวัตร ขณะขึ้นเวทีหาเสียงให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครในนามพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565

 

ขณะที่เก้าอี้สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. พรรคเพื่อไทยได้มากสุดถึง 19 เขต ตามมาด้วยพรรคก้าวไกล 14 เขต และพรรคประชาธิปัตย์ 9 เขต ซึ่งถือเป็นการกลับมาปักหมุดในกรุงเทพฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์เกิดปรากฏการณ์สูญพันธุ์ในกรุงเทพฯ แม้ก่อนหน้านี้จะถือเป็นเจ้าถิ่นในเมืองหลวง

 


 

เจ้าหน้าที่จิตอาสาฯ เฝ้าพื้นที่โดยรอบ Mountain B 

 

เพลิงไหม้ผับ Mountain B

กลางดึกของวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ราวเวลา 01.00 น. เกิดเหตุเพลิงไหม้ Mountain B สถานบันเทิงที่ตั้งอยู่ในอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ทว่านี่ไม่ใช่เหตุไฟไหม้ธรรมดาทั่วไป เพราะยังตามมาด้วยคำถามมากมายจากสังคม

 

เหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตรวม 24 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตทันที 13 ราย และทยอยเสียชีวิตในโรงพยาบาลอีก 11 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง

 

ภาพความเสียหาย Mountain B 

 

จากคำบอกเล่าของผู้ที่อยู่ในวันเกิดเหตุระบุว่า มีประกายไฟบนฝ้าเพดาน หลังจากนั้นไม่เกิน 5 นาทีได้ยินเสียงระเบิดและไฟลุกไหม้และลุกลามอย่างรวดเร็วไปทั่วบริเวณ เนื่องจากตัวหลังคามีการบุโฟมลมดูดซับเสียง ทำให้ติดไฟได้ง่าย รวมถึงประตูทางออกที่มีเพียงทางเดียว จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และนำมาสู่การตั้งคำถามถึงมาตรฐานความปลอดภัยของสถานบันเทิง ซึ่งเหตุเพลิงไหม้สถานบันเทิงที่เคยเป็นบทเรียนมาแล้วคือ เหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ เมื่อวันขึ้นปีใหม่ 2552

 


 

 

เกมพลิกสูตรเลือกตั้ง ล้มสูตรหาร 500

 

เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2565 รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉบับที่ .. พ.ศ. .… ซึ่งถือเป็นวันสุดท้ายของการพิจารณาตามกรอบรัฐธรรมนูญที่ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน โดยจะครบกำหนดเวลา 00.00 น. ของวันดังกล่าว

 

แต่แล้วเมื่อเปิดประชุมมีองค์ประชุมแสดงตนเพียง 353 จาก 727 คน ซึ่งต้องมีองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่งคือ 264 คน ถึงจะสามารถพิจารณากฎหมายต่อได้ ทำให้ประธานในที่ประชุมต้องสั่งปิดการประชุม และถือเป็นการปิดฉากสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชารายชื่อหารด้วย 500 กลับไปใช้การคำนวณหาร 100 เหมือนในอดีต

 

ซึ่งก่อนหน้านี้ในร่างเริ่มต้นของกฎหมายฉบับนี้ใช้สูตรคำนวณหาร 100 แต่ในชั้นของการพิจารณารายมาตรา วาระ 2 ปรากฏว่ามีการเสนอสูตรคำนวณแบบหาร 500 และที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็โหวตเห็นชอบตามที่มีการเสนอแก้ไข ในเวลาต่อมาก็เริ่มมีเสียงจากหลายฝ่ายว่าอยากกลับไปใช้สูตรคำนวณแบบหาร 100 แต่ในการพิจารณากฎหมายวาระ 2 นั้น เป็นการพิจารณารายมาตรา ไม่สามารถย้อนไปมาได้ และในการพิจารณาวาระต่อไปคือวาระที่ 3 เป็นการพิจารณาทั้งฉบับ ไม่สามารถลงรายละเอียดได้อีกแล้ว 

 

ดังนั้นสมาชิกรัฐสภาบางส่วนจึงมีแนวคิดให้ใช้ช่องกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 132 (1) ที่กำหนดให้รัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งในข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 101 ระบุรายละเอียดว่า 180 วันให้นับแต่วันที่ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา ถ้าหากรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ไม่เสร็จภายใน 180 วัน ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่าง พ.ร.ป. ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาวาระ 2 ซึ่งก็คือร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยใช้สูตรคำนวณ ส.ส. หาร 100

 

สาธิต ปิตุเตชะ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

 

แม้ว่าภายหลังจะมีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเนื้อหาของ พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ฉบับนี้มีส่วนที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าเนื้อหาของ พ.ร.ป.เลือกตั้งฯ ไม่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเดินหน้าสู่ขั้นตอนต่อไปคือ การส่งให้นายกรัฐมนตรีนำทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

 

ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีครั้งแรกในรอบ 8 ปี

 

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกคือ 24 สิงหาคม 2557 ภายหลังการรัฐประหาร และยาวมาถึงปัจจุบันจนครบ 8 ปี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 กำหนดว่าบุคคลจะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปี ไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม

 

แต่ข้อถกเถียงคือ แล้วจะนับวาระการดำรงตำแหน่งเริ่มจากเมื่อไร โดยแบ่งได้เป็น 3 แนวคือ นับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งครั้งแรกหลังการรัฐประหาร นั่นหมายถึง พล.อ. ประยุทธ์ครบวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว ต้องพ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรีทันที 

 

ส่วนแนวที่ 2 คือการนับตั้งแต่การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และแบบที่ 3 คือนับตั้งแต่การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งแบบที่ 2 และ 3 จะทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่ออย่างน้อย 2 ปี

 

วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ สั่งรับคำร้องของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ที่ยื่นให้ตีความว่าความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา ตามมาตรา 170 วรรคสาม และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ และมีมติ 5:4 มีคำสั่งตามมาตรา 82 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ พล.อ. ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

 

โดยในระหว่าง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุติการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

 

หน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พล.อ. ประยุทธ์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี

 

ต่อมา 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ เริ่มต้นจากวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือ 6 เมษายน 2565 ส่งผลให้ในเวลาต่อมา พล.อ. ประยุทธ์ยังเดินหน้าต่อทางการเมือง และเป็นที่ชัดเจนว่าในการเลือกตั้งคร้งหน้าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้ว่าจะมีเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อีกเพียง 2 ปี หากได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งต่อ

 


 

ผู้คนต่างนำขนม ของเล่น และดอกไม้ มาวางหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ เพื่อเป็นการไว้อาลัย

 

โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู

 

ช่วงบ่ายของวันที่ 6 ตุลาคม 2565 มีรายงานข่าวว่าเกิดเหตุคนร้ายยิงเด็กและผู้ใหญ่เสียชีวิตกว่า 20 ราย ที่องค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ ในจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งภายหลังจึงทราบว่าผู้ก่อเหตุคืออดีตตำรวจที่โดนไล่ออกจากราชการ และต่อมาได้ยิงตนเองพร้อมภรรยาและลูกเสียชีวิตภายในบ้าน โดยสรุปมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 37 ราย เป็นผู้ใหญ่ 13 ราย เด็ก 24 ราย มีผู้บาดเจ็บ 10 ราย และบาดเจ็บสาหัส 6 ราย

 

เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนขวัญของสังคมไทย และเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจและแสดงความเสียใจ เช่น ทำเนียบขาว สโมสรฟุตบอลระดับโลก และผู้นำจากทั่วโลกร่วมแสดงความเสียใจ 

 

สำหรับประเทศไทยแล้ว เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก หลายบทเรียนที่เราทำให้เป็นบทลืม โดยเฉพาะกับเหตุกราดยิงโคราชที่วันนั้นเราภาวนาขอให้เป็นครั้งสุดท้าย มาถึงวันนี้เราก็ภาวนาอีกว่าขอให้เหตุการณ์ที่หนองบัวลำภูเป็นครั้งสุดท้าย เราคงไม่อยากภาวนาอีกแล้ว เพราะชีวิตที่สูญเสียไป อาจทำให้ชีวิตที่ยังคงอยู่ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินี เสด็จฯ เยี่ยมครอบครัวผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ที่จังหวัดหนองบัวลำภู

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

กลุ่มประชาชนเบียร์นำเบียร์ที่ผลิตเองมาให้ทดลองชิมหน้าอาคารรัฐสภา ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า

 

สมรสเท่าเทียม-สุราก้าวหน้า ฝันค้างฟ้าของประชาชน

 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีของรัฐสภาชุดนี้ผ่านกฎหมายมาอย่างมากมาย แต่กฎหมาย 2 ฉบับที่พูดได้ว่าเป็นกฎหมายที่คนเรียกร้องมาอย่างยาวนานคือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม และสุราก้าวหน้า ทั้ง 2 ฉบับไม่ใช่กฎหมายที่รัฐต้องทุ่มงบประมาณ แต่คือการปลดล็อกเพื่อให้สิทธิกับประชาชนมากขึ้น

 

วันที่ 15 มิถุนายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. จำนวน 2 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต อีก 2 ฉบับ ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ และเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ขั้นกรรมาธิการ ก่อนเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณารายมาตรา ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ค้างอยู่ในวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรมาหลายสัปดาห์ เนื่องจากในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในช่วงหลังมักจะเกิดสภาล่ม องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ร่างกฎหมายยังคงค้างการพิจารณา และแนวโน้มคาดว่าจะยังไม่สามารถผ่านได้ทันในสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้

 

สำหรับกฎหมายสุราก้าวหน้า ย้อนกลับไปวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) การเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต ฉบับที่ .. พ.ศ. .… หรือร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 ที่กำหนดให้บุคคลผู้ประสงค์จะผลิตสุรา หรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง ต้องขออนุญาตต่ออธิบดี และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จะเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้การขออนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้าสำหรับผู้ผลิตรายย่อยสามารถทำได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

 

ก่อนหน้านี้วันที่ 29 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตีตกร่างดังกล่าว หลังขอรับมาพิจารณาในกรอบ 60 วัน ก่อนโหวตวาระ 1 โดยเห็นว่าการผลิตสุราที่ไม่ใช่เพื่อการค้าสามารถกระทำได้ โดยควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลในเรื่องคุณภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

 

ดังนั้น ครม. จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงในบางเรื่อง เพื่อไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชน โดยยังคงควบคุมดูแลให้การผลิตสุราอยู่ภายใต้มาตรฐานด้านสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..)

 

 

แต่แล้วรัฐสภาก็ผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ในวาระที่ 1 เข้าสู่ขั้นตอนการตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณารายมาตรา และเมื่อร่างกฎหมายกลับเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ก่อนการลงมติเพียงวันเดียว ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ก่อนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในช่วงค่ำวันเดียวกัน โดยระบุว่าเป็นการปลดล็อกการผลิตสุราพื้นบ้านเช่นเดียวกัน และเมื่อกฎหมายสุราก้าวหน้าเข้าสู่การลงมติในวาระที่ 2 ทำให้พ่ายเสียงโหวตเพียง 2 เสียง เป็นอันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกตีตกทันที

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

สุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังทราบคำพิพากษา

 

ศาลยกฟ้องสุเทพ เทือกสุบรรณ คดีก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง

 

วันที่ 20 กันยายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง

 

มหากาพย์โรงพักทดแทนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 สมัยสุเทพเป็นรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการอนุมัติโครงการสร้างสถานีตำรวจทดแทนจำนวน 396 แห่ง โดยใช้ผู้รับเหมารายเดียว แต่ปรากฏว่าสร้างไม่เสร็จแม้แต่ที่เดียว เหลือแต่เสา เหลือแต่โครงสร้าง และมีการฟ้องร้องกันในเวลาต่อมา 

 

กระทั่งระยะเวลาผ่านไปกว่า 13 ปี ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง ซึ่งนับว่าเป็นการลบรอยด่างพร้อยทางการเมืองของสุเทพที่มักจะถูกหยิบยกมาโจมตีจากคู่แข่ง

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

 

ไทยเป็นเจ้าภาพ APEC

 

การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) กำหนดจัดขึ้นในประเทศไทย ตลอดทั้งปี 2565 และการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน มีผู้เข้าร่วมประชุมจาก 21 เขตเศรษฐกิจ เป็นอีกหนึ่งผลงานที่รัฐบาลภาคภูมิใจ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในการจัดการกับผู้ประท้วงคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC

 

รัฐบาลได้จัดสรรวงเงินงบประมาณสำหรับการประชุมครั้งนี้จำนวน 3,283.10 ล้านบาท โดยการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการประชุมแบบพบหน้าครั้งแรกหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด หลังจากประเทศเจ้าภาพก่อนหน้านี้ต้องจัดการประชุมออนไลน์ และนับเป็นครั้งที่ 3 ที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC โดยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปี 2535 และ 2546

 


 

สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวร

 

ในหลวง-พระราชินี ทรงติดโควิด เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงพระประชวร

 

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวร ความว่า

 

วันที่ 14 ธันวาคม พุทธศักราช 2565 เวลา 18.20 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงทำการฝึกสุนัขทรงเลี้ยงที่จะเข้าแข่งขันสุนัขใช้งานตามมาตรฐานสากลในรายการ Thailand Working Dog Championship by Royal Thai Army 2022 ระหว่างวันที่ 10-19 ธันวาคม พุทธศักราช 2565 ณ สนามฝึกสุนัข กองพันสุนัขทหาร อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในระหว่างที่ทรงทำการฝึก ทรงมีพระอาการประชวรหมดพระสติด้วยพระอาการทางพระหทัย

 

คณะแพทย์ประจำพระองค์จึงได้เชิญเสด็จพระราชดำเนินไปปฐมพยาบาล ณ โรงพยาบาลปากช่องนานา พระอาการประชวรคงที่ในระดับหนึ่ง จากนั้นได้เชิญเสด็จประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งเข้ารับการรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อถวายการตรวจพระวรกายอย่างละเอียด และประทับรักษาพระองค์ต่อไป

สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 

 

ต่อมาวันที่ 17 ธันวาคม สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ความว่า

 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พุทธศักราช 2565 เวลา 23.30 น. คณะแพทย์ประจำพระองค์ได้ถวายการตรวจคัดกรองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ตามวาระปรกติ ผลการตรวจพบว่า ทรงติดเชื้อ มีพระอาการน้อยมาก พระอาการโดยรวมไม่รุนแรง คณะแพทย์ฯ ถวายการรักษาด้วยพระโอสถ และขอพระราชทานให้ทรงงดพระราชกรณียกิจสักระยะหนึ่ง

 

และวันที่ 19 ธันวาคม 2565 สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ทรงพระประชวร ฉบับที่ 2 เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวร ฉบับที่ 2

 

ตามที่สำนักพระราชวังได้มีแถลงการณ์ เรื่อง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงพระประชวรหมดพระสติด้วยพระอาการทางพระหทัย และทรงเข้ารับการรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ความทราบทั่วกันแล้วนั้น

 

คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้รายงานว่าพระอาการโดยรวมคงที่ในระดับหนึ่ง

 

จังหวะการเต้นของพระหทัยควบคุมได้ด้วยพระโอสถ ผลการตรวจพระหทัยพบว่าพระหทัยยังบีบตัวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ผลการฉีดสีของหลอดเลือดพระหทัยไม่พบความผิดปกติ คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถและเครื่องมือเพื่อช่วยการทำงานของพระหทัย พระปัปผาสะ (ปอด) พระวักกะ (ไต) และติดตามพระอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

เรือหลวงสุโขทัยเอียงและใกล้จมลงใต้ผิวน้ำ

 

เรือหลวงสุโขทัยอับปาง

 

ช่วงดึกของวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ราวเวลา 23.00 น. พล.ร.อ. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ออกข่าวชี้แจงกรณีเรือหลวงสุโขทัยมีอาการเอียง ตามที่ปรากฏข้อมูลข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์ตั้งแต่ช่วงค่ำวันนั้น เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะเรือหลวงสุโขทัยกำลังลาดตระเวน ได้ประสบเหตุเรือมีอาการเอียง เนื่องจากขณะนั้นบริเวณดังกล่าวมีคลื่นลมแรง ทำให้มีน้ำทะเลบางส่วนไหลเข้าระบบเครื่องไฟฟ้าผ่านท่อไอเสียข้างเรือ จนทำให้เครื่องไฟฟ้าดับ และส่งผลให้เครื่องจักรใหญ่หยุดทำงาน เป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมเรือได้

 

กองทัพเรือระบุว่า ขณะนั้นได้รับแจ้งเหตุดังกล่าว จึงได้สั่งการให้เรือรบและอากาศยานของกองทัพเรือให้การช่วยเหลือ กองทัพเรือรายงานด้วยว่าขณะนั้นเรือหลวงสุโขทัยยังคงมีอาการเอียง แต่สามารถผนึกน้ำได้แล้ว ปริมาณน้ำภายในตัวเรือมีปริมาณคงที่ และยืนยันด้วยว่า ‘กำลังพลทั้งหมดปลอดภัย’

 

ทว่าผ่านไปเพียงครึ่งชั่วโมง เวลา 23.30 น. กองทัพเรือรายงานรายละเอียดเพิ่มเติมว่าเรือหลวงสุโขทัยได้จมลงใต้ผิวน้ำแล้ว เนื่องจากมีน้ำเข้าเรือเป็นจำนวนมาก และยืนยันอีกครั้งว่า ‘กำลังพลทั้งหมดได้รับความปลอดภัย’

 

แต่เช้าวันต่อมา 19 ธันวาคม 2556 กองทัพเรือระบุในรายงานว่าสามารถให้การช่วยเหลือกำลังพลขึ้นมาจากน้ำได้แล้ว 73 นาย จากกำลังพลทั้งหมด 105 นาย ยังคงมีกำลังพลจำนวน 32 นายที่ลอยคออยู่ในทะเล ซึ่งเรือทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่กำลังเร่งดำเนินการค้นหาและช่วยเหลือต่อ

 

จนถึงขณะนี้ 28 ธันวาคม 2565 ผ่านไป 10 วัน ปฏิบัติการค้นหากำลังพลยังคงเดินหน้าต่อเพื่อช่วยเหลือผู้สูญหายอีกจำนวน 7 นาย

 

แฟ้มภาพเรือหลวงสุโขทัยขณะแล่นบนน่านน้ำ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising