2023 นับเป็นปีแห่งการเฟื่องฟูของเทคโนโลยี AI อย่างเห็นได้ชัด ความรวดเร็วในการพัฒนาและความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวันสร้างความตื่นเต้นให้กับใครหลายคน แต่ก็มีความน่าห่วงกังวลสำหรับบางคน
ถึงแม้จะมีคนที่กังวล แต่นั่นไม่ได้เป็นสิ่งที่จะหยุดพวกเขาจากการกระโจนเข้าสู่กระแสดังกล่าวเพื่อทดลองใช้เครื่องมือ AI ต่างๆ
แบบสำรวจจาก Writerbuddy.ai ได้สรุป 10 เครื่องมือ AI ยอดนิยมที่มีการเก็บข้อมูลการเข้าชมเว็บไซต์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 – สิงหาคม 2023 โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อยตามยอดการเข้าชมเว็บไซต์ดังนี้
- ChatGPT: เป็นเครื่องมือประเภทแชตบอตที่ให้ผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบกับมันได้ในรูปแบบการแชต และสถิติที่น่าสนใจคือสัดส่วนผู้ใช้งานแชตบอตตัวนี้กว่า 74% หรือเกือบ 3 ใน 4 เป็นผู้ชาย (ยอดการเข้าชม 14,600 ล้านครั้ง)
- Character.AI: อีกหนึ่งแชตบอตมาแรงและเป็นรองเพียงแค่ ChatGPT เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถสนทนากับคาแรกเตอร์ที่หลากหลาย ทั้งคนดัง ตัวการ์ตูน หรือกระทั่งสร้างบุคคลขึ้นมาใหม่ได้ เช่น อีลอน มัสก์ หรือโค้ชฟิตเนส จึงเป็นสาเหตุให้จำนวนเวลาการใช้งานของ Character.AI โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30 นาที ซึ่งถือว่าสูงเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยแพลตฟอร์ม AI อื่นๆ (ยอดการเข้าชม 3,800 ล้านครั้ง)
- QuillBot: AI สำหรับงานเขียนภาษาอังกฤษที่สามารถช่วยเช็กไวยากรณ์และเรียบเรียงประโยคให้ใหม่ (Paraphrase) ทำให้กำแพงด้านภาษาเขียนของหลายคนลดลง (ยอดการเข้าชม 1,100 ล้านครั้ง)
- Midjourney: ปัญญาประดิษฐ์สายภาพประกอบที่สร้างภาพตามคำสั่งของผู้ใช้งานเพียงไม่กี่คำที่ถูกป้อนลงไปจนสามารถออกมาเป็นภาพประกอบที่สวยงามได้ ซึ่ง Midjourney เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย โดยมีสัดส่วนถึง 92% (ยอดการเข้าชม 500 ล้านครั้ง)
- Hugging Face: แพลตฟอร์ม Open-source ที่เป็นศูนย์รวมสำหรับทุกคนในการใช้งาน ปรับแต่ง และแบ่งปันเทคโนโลยี AI ผ่านการรวบรวมโมเดล โค้ด และชุดข้อมูลจากคนชุมชน โดย Hugging Face ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้นักพัฒนาสามารถนำทรัพยากรความรู้ต่างๆ จากหลายมุมไปต่อยอด AI ของตนเองได้ (ยอดการเข้าชม 317 ล้านครั้ง)
- Bard: หนึ่งในเครื่องมือแชตบอตจากค่าย Google ที่เปิดตัวครั้งแรกในเดือนมีนาคมของปี 2023 และกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (ยอดการเข้าชม 242 ล้านครั้ง)
- NovelAI: เครื่องมือ AI ที่เน้นไปในงานแนว ‘การเล่าเรื่อง’ ที่มีทักษะการวางโครงเรื่องงานเขียนประเภทนิยายได้เป็นอย่างดี เนื่องจากตัวโมเดลถูกฝึกด้วยนิยายและงานเขียนจริงๆ พร้อมทั้งยังสามารถสร้างรูปประกอบแนวอนิเมะได้อีกด้วย (ยอดการเข้าชม 239 ล้านครั้ง)
- CapCut: เครื่องมือสร้างวิดีโอที่มีเทคโนโลยี AI เพื่อช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น (ยอดการเข้าชม 204 ล้านครั้ง)
- Janitor AI: แชตบอตที่ได้ชื่อว่า ‘NSFW’ หรือ Not Safe for Work ซึ่งแปลว่าไม่เหมาะกับการใช้ทำงานนั่นเอง ถามว่าเหตุผลคืออะไร? เจ้า Janitor AI สามารถสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ได้ ทำให้ต่างจาก AI ส่วนใหญ่ ซึ่งคนบางกลุ่มมองว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ถึงแม้ว่า Janitor AI จะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องเพศ แต่การที่คอนเทนต์ประเภทนี้สร้างได้โดยไม่ถูกบล็อกเป็นสาเหตุที่กลุ่มคนผู้มีความต้องการหันเข้าหาเครื่องมือตัวนี้ (ยอดการเข้าชม 192 ล้านครั้ง)
- Civitai: เครื่องมือ Open-source เพื่อการสร้างภาพจาก AI ด้วยคำสั่งตัวหนังสือ ซึ่งเป็นอีกเครื่องมือที่เหมาะกับคนชื่นชอบศิลปะหรือต้องการเปิดโลกความคิดสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้น (ยอดการเข้าชม 177 ล้านครั้ง)
จากลิสต์ดังกล่าว แน่นอนว่าอันดับ 1 จะเป็นใครอื่นใดไปไม่ได้นอกเสียจาก ChatGPT ผู้ที่ทำให้ AI ถูกใช้อย่างแพร่หลายในคนหมู่มาก ด้วยความสามารถที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเทคโนโลยีในการรับมือกับงานที่ถูกมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ
Susan Gonzales ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ AlandYou องค์กรไม่แสวงผลกำไรที่สอนทักษะ AI ให้กับชุมชนด้อยโอกาส กล่าวกับ CNBC Make It ว่า “เราอาจจะกำลังทิ้งโอกาส หากว่าเราใช้งาน AI แค่ความบันเทิงเท่านั้น เพราะมันยังสามารถช่วยธุรกิจในด้านต่างๆ ได้ด้วย เช่น การจัดการคลังสินค้า หรือทำกลยุทธ์การตลาดให้ดียิ่งขึ้น
“โลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยโอกาสและแหล่งความรู้มากมายที่จะช่วยเสริมให้การทำความเข้าใจ AI เพื่อใช้เป็นการเปิดโอกาสให้กับตัวเองมีมากขึ้น” Susan กำลังบอกว่าทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากบนอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ขอแค่เพียงความพยายามของตัวบุคคลที่จะนำพาเขาไปสู่การต่อยอดความรู้และความสำเร็จในที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เมื่อผมขอให้ ChatGPT วิเคราะห์บทเรียนจากเหตุการณ์ของการที่ Sam Altman ถูกไล่ออก
- OpenAI ประกาศเลื่อนเปิดตัว GPT Store จากปลายปีนี้เป็นต้นปี 2024 หลังบริษัทเพิ่งผ่านพ้นพายุความวุ่นวายภายในองค์กร
อ้างอิง: