×

เปิดใจ โทนี่-กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ กับบทบาทผู้อำนวยการฟุตบอลทีมชาติไทยคนใหม่

26.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • โทนี่-กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฟุตบอลทีมชาติไทยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม เพื่อดูแลทีมชาติไทยในการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018 และ เอเชียนคัพ 2019
  • โทนี่เชื่อว่าการบริหารทีมชาติไทยก็เหมือนกับการบริหารธุรกิจที่ใช้ต้องศาสตร์การบริหารทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการใส่ใจทุกรายละเอียดและขั้นตอนสู่ความสำเร็จ
  • โทนี่ มี วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ ผู้ล่วงลับ เป็นไอดอลในวงการฟุตบอล เพราะบริหารสโมสรด้วยแพสชันและความรักที่มีต่อสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ และเมืองเลสเตอร์

ฟุตบอลทีมชาติไทยกำลังเดินหน้าสู่เส้นทางการป้องกันแชมป์ซูซูกิ คัพ เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน หลังจากที่สามารถเอาชนะสิงคโปร์ไปได้ 3-0 คว้าสิทธิ์เข้ารอบรองชนะเลิศไปพบกับมาเลเซียในวันที่ 1 ธันวาคมนี้

 

แน่นอนว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักเตะ โค้ช และทีมงานต่างๆ ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งฟันเฟืองสำคัญของฟุตบอลทีมชาติไทยชุดสู้ศึกซูซู คัพ คือ โทนี่-กิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง เข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยการฟุตบอลทีมชาติไทย เพื่อดูแลช้างศึกในการแข่งขันเอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2018 และ เอเชียนคัพ 2019 ตามการแต่งตั้งของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา

 

 

THE STANDARD ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับโทนี่ ถึงหน้าที่ของผู้อำนวยการทีมชาติไทย และประสบการณ์การทำงานร่วมกับฟุตบอลทีมชาติไทยในการไล่ล่าแชมป์สมัยที่ 3 ติดต่อกัน ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนที่กำลังเข้าสู่ช่วงสำคัญของการแข่งขัน

 

ผู้อำนวยการฟุตบอลทีมชาติไทยมีหน้าที่อะไร

 

 

ผู้อำนวยการทีมชาติไทยจะดูเรื่องของการบริหารจัดการในเรื่องความเป็นอยู่ของนักเตะ การเดินทางที่ต้องให้ตรงตามโปรแกรมแข่งขัน คุณภาพชีวิตนักเตะ กำลังใจนักเตะ รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการทีมงานโดยรวม

 

ส่วนการบริหาร เรื่องของโค้ช เขาขาดอะไร ทีมงานขาดอะไร ต้องการให้เราดูแลอะไร ก็เป็นหน้าที่ของผู้อํานวยการทีม ซึ่งจริงๆ ก็รวมทั้งทีมกว่า 40-50 คนในทีมชุดใหญ่ รวมถึงการประสานงานในเรื่องของการดูแลโปรแกรมการแข่งขัน อย่างเช่นที่ไปฟิลิปปินส์ล่าสุด มันจะบินได้หรือไม่ได้ พายุจะเข้าหรือเปล่า เราก็ต้องมีการประสานงานกับทีมงาน ก็ต้องคุยกับ FA ของฟิลิปปินส์ว่าจะเอาอย่างไรดี ซึ่งระหว่างทำงานมันก็เหมือนธุรกิจ ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งถ้ามันเกิดปัญหาอะไรก็เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

 

ประสบการณ์ในตำแหน่งผู้อำนวยการทีมชาติเป็นไปอย่างที่คาดหวังหรือไม่

 

 

การเป็นผู้อำนวยการฟุตบอลทีมชาติไทย ถ้าคุณไม่ได้อินกับมัน ถ้าคุณไม่ได้เข้ามาทำงานอย่างจริงจัง มันก็จะรู้สึกว่าเป็นตำแหน่งลอยๆ มาใช้เงินหรือเปล่า หรือมาดูแลทีมงาน

 

บางทีมันก็ไม่ใช่ เพราะตำแหน่งนี้ก็เหมือนการทำธุรกิจอย่างหนึ่ง ซึ่งคุณจะทำอย่างไรให้มันสำเร็จ เป้าหมายก็คือแชมป์ซูซูกิ คัพ นี่เอาเฉพาะทัวร์นาเมนต์นี้ก่อน เป้าหมายที่เราตั้งควรเป็นเป้าหมายที่จะทำให้ได้

 

การที่จะเป็นแชมป์มันมีหลายปัจจัยมาก โค้ชต้องดี ทีมงานต้องพร้อม ทำอย่างไรให้เราทำงานบริหารจัดการได้สมบูรณ์แบบ โดยที่เราต้องเข้าไปคุยกับโค้ชให้รู้เรื่อง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโค้ชราเยวัช หรือทีมงาน หรือใครก็แล้วแต่ ต้องทำให้เขามีความสุขกับการทำงานร่วมกับเรา เพราะเราจะต้องเป็นคนที่นำทีมทั้งหมด ทำให้เขารู้สึกว่าเราไม่ได้มาทำให้เขาลำบากขึ้นในการทำงาน เราต้องให้อำนาจเขาเต็มที่ในการคัดตัวนักเตะต่างๆ คนไหนเอา คนไหนไม่เอา หรือเมื่อมีนักเตะขอถอนตัว เราก็มีหน้าที่เข้าไปดูว่าเขาถอนตัวทำไม มีปัญหาอะไรหรือเปล่า สุดท้ายเราต้องให้หน้าที่โค้ชเป็นคนตัดสินใจ เพราะเขาเป็นคนเลือกคนมาเล่น

 

 

อีกอย่างหนึ่งคือ ทำอย่างไรให้นักเตะ 23 คนที่เป็นตัวแทนทีมชาติไทยรู้สึกว่าเราให้กำลังใจเขา ให้เขารู้สึกว่าเข้ากับเราได้ เป็นกันเองกับเรา เราไม่ได้มาเป็นผู้อำนวยการทีมที่เข้ามายืนกอดอกแล้วสั่งว่าทำไมไม่ทำอย่างนี้อย่างนั้น ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง

 

 

แน่นอนว่าคนที่เข้ามาเป็นผู้อำนวยการทีม อย่างน้อยถ้าไม่ได้เป็นคนที่รักในฟุตบอล ก็ต้องประสบความสำเร็จในธุรกิจ แต่คนเหล่านี้ก็คือคนที่มีความรู้ความสามารถในเชิงบริหารจัดการ แล้วก็มีเงินทุนทรัพย์ มีฟอร์มเยอะแยะไปหมด ก็จะทำให้การทำงานในการเข้าถึงเรื่องพวกนี้เป็นไปได้ยาก

 

เราต้องผ่านจุดนั้นให้ได้ ซึ่งผมคิดว่าผมไม่มีปัญหา เพราะทำงานกับคนมาเยอะ ก็ต้องคิดว่าเราจะดูแลอย่างไรให้เหมือนกับพนักงานของเรา การดูแลนักฟุตบอลที่เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เช่น ทำอย่างไรให้คุยกับสมาคมแล้วเข้าใจ ขาดเหลืออะไร ซึ่งมันก็มีหลายปัญหาพอสมควร ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องจัดการและแยกแยะ นี่คือส่วนที่เราต้องดูแลรับผิดชอบ

 

การบริหารธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก็คือ คุณจะต้องทำงานแล้วให้คนมีความสุข ลูกน้องของคุณทำงานแล้วรู้สึกว่าได้ประโยชน์ ได้ความรู้ ได้หน้าที่การงานที่ดี แล้วก็อยู่ดีมีสุข ผมว่านี่คือสิ่งที่ทุกองค์กรปรารถนาจะให้พนักงานทุกคนเป็นอย่างนั้น แล้วพนักงานก็อยากจะเห็นผู้นำองค์กรเป็นแบบนั้นเช่นกัน นี่คือสิ่งที่เราควรนำมาใช้กับนักเตะทีมชาติไทยโดยเฉพาะ

 

 

ผมยกตัวอย่าง เช่น ทำอย่างไรให้เด็กรู้สึกภูมิใจในการเป็นนักฟุตบอลทีมชาติไทย นี่คือวิสัยทัศน์ที่ผมมองและผมพยายามที่จะทำ ซึ่งต้องใช้เวลา เหมือนนักฟุตบอลต่างชาติเวลาติดทีมชาติหรือติดทีมดังๆ ในพรีเมียร์ลีก จะรู้สึกว่ามีเกียรติมาก ขนาดเป็นระดับสโมสร แฟนบอลยังเต็มสนามทุกครั้งที่มีการลงเตะ ไม่ว่าจะเป็น เชลซี, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล นักเตะทุกคนมีความภาคภูมิใจที่แฟนบอลให้กำลังใจและให้ความสำคัญกับเขา

 

 

จริงๆ เราก็ทำได้ เราพาแฟนบอลมารอรับให้กำลังใจ ชูป้าย หรือทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง ซึ่งจะกลายเป็นการสร้างกำลังใจให้นักเตะ แต่ปัจจุบันยังไม่มี บ้านเรายังไปไม่ถึง อย่าว่าแต่สโมสรเลย เพราะกับทีมชาติไทยก็ยังไม่มีอะไรแบบนี้ ฉะนั้นการทำกิจกรรมซัพพอร์ตให้กำลังใจนักเตะเป็นเรื่องที่สำคัญ

 

ผมจะพูดเป็นประจำว่า ทุกครั้งที่คุณลงสนาม จะมีแฟนบอลรอคุณอยู่เสมอ และตอนนี้กำลังมีคนเป็นหมื่นกำลังรอให้กำลังใจคุณอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราอยากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับเขา แต่การให้กำลังใจในด้านอื่นๆ อย่างเช่นการให้รางวัล ผมก็ทำให้อย่างสม่ำเสมอ ผมมองว่ามันเป็นงานที่เราสนุก เพราะเราเองก็รู้สึกอินไปกับมัน

 

เริ่มต้นรู้จักกีฬาฟุตบอลจากไหน

 

 

ผมเป็นคนที่มีความชื่นชอบในฟุตบอลอยู่แล้ว เราเองก็ดูฟุตบอลมาโดยตลอด ไล่ตั้งแต่พรีเมียร์ลีก แต่ส่วนตัวไม่ค่อยถนัดเรื่องฟุตบอลไทยเท่าไร ในเรื่องของฟุตบอลลีก แต่ถ้าทีมชาติไทยมีการแข่งขันเมื่อไร ก็รู้สึกว่าเป็นคนไทยคนหนึ่งที่ต้องสนับสนุนฟุตบอลไทย ซึ่งเวลามีการแข่งขันเราก็ดูตลอด

 

สมัยก่อนประเทศไทยไม่มีฟุตบอลลีกอาชีพ มันก็ยังไม่บูมมากนัก พอมีทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ หรือนัดกระชับมิตร อย่างทีมชาติไทยพบทีมชาติเกาหลีที่ราชมังคลากีฬาสถาน ที่หาชมยากๆ คนก็เต็มสนาม พอมีอะไรแบบนี้เราก็ไขว่คว้าที่จะไปดู ซึ่งเราก็เชียร์ทีมชาติไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ยุคปิยะพงษ์ ผิวอ่อน

 

สุดท้ายอยากทราบว่าคุณมีใครในวงการฟุตบอลที่เป็นไอดอลไหม

ถ้าให้พูดถึงก็น่าจะเป็นพี่วิชัย ศรีวัฒนประภา ท่านเป็นคนที่ผมพอจะได้เจออยู่บ้าง ผมนับถือในฐานะที่ท่านมีแพสชัน และเป็นนักธุรกิจที่เป็นแรงบันดาลใจ มีหลายๆ อย่างที่เป็นผู้นำ แล้ววิธีการบริหารทีมเลสเตอร์ ซิตี้ ที่เราเคยได้สัมผัสก็เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง

 

การที่เราจะทำทีมฟุตบอลให้สำเร็จต้องใช้กลยุทธ์คือ การบริหารจัดการคน เพราะกีฬาฟุตบอลคือการบริหารจัดการคน โดยเฉพาะกับนักเตะ ทำอย่างไรให้นักเตะมีความเป็นกันเอง รักในความเป็นสโมสร รักในความเป็นทีมชาติไทย รักในความเป็นผู้นำ อย่างที่ผมบอกว่าเขาต้องอยู่ดีมีสุข ได้เงินรางวัล เกียรติยศ ได้ความเป็นกันเองนอกเหนือจากเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และเงินรางวัลที่เขาควรจะได้รับ ผมคิดว่าสิ่งนี้ท่านทำได้ดี ซึ่งอย่างเลสเตอร์ ซิตี้ ที่ได้ใจคนทั้งเมือง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการที่ดี

 

จะทำอย่างนั้นได้ต้องเริ่มจากโค้ช ทีมงาน นักเตะ แฟนคลับ แล้วมันถึงจะยิ่งใหญ่ขึ้นมา แต่ผมว่ามันก็เป็นเรื่องยากนะ เพราะมันต้องมีเรื่องของโชคชะตาด้วย แล้วเงินก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ

 

 

หลายคนอาจจะมองว่าใครก็ทำได้ แต่คุณต้องกลับมามองข้อที่ยากที่สุดคือการบริหารจัดการ คุณจะเข้าถึงเขาได้มากแค่ไหน คุณจะเต็มที่กับมันแค่ไหน คุณเสียสละแค่ไหน ซึ่งมันเป็นเรื่องที่พูดยาก

 

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ได้การยอมรับและชื่นชอบจากผู้คนทั่วโลก อยู่ที่ว่าไทยเราจะจริงจังกับมันแค่ไหน ถ้าทุกคนมองเห็นคุณค่าของกีฬา

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising