×

Tomorrow EP.13 ซอฟต์พาวเวอร์เกาหลี ต่อประเด็นการเมืองระหว่างประเทศกรณีโศกนาฏกรรม ‘หญิงบำเรอ’

06.06.2022
  • LOADING...
Tomorrow

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ซีรีส์ Tomorrow สร้างจากเว็บตูนชื่อดัง ว่าด้วยเรื่องราวของเหล่ายมทูตทีมจัดการวิกฤต ซึ่งคอยช่วยผู้คนที่ต้องการฆ่าตัวตายให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ซีรีส์เรื่องนี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลี แต่ละตอนสะท้อนปัญหาต่างๆ ในสังคมเกาหลีปัจจุบัน
  • ใน EP.13 หยิบยกปัญหาเรื่อง ‘หญิงบำเรอ’ เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ผู้หญิงจำนวนมากตกเป็นทาสกามของทหารกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ส่งผลเนิ่นนานต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาพูดถึง เป็นตัวอย่างของการใช้ Soft Power ต่อประเด็นการเมืองระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี 

ซีรีส์ที่สร้างจากเว็บตูนเรื่อง ‘Tomorrow: พรุ่งนี้’ เพิ่งสตรีมผ่านทาง Netflix จบไปเมื่อไม่นานมานี้ แม้จะไม่ได้รับการพูดถึงมากมาย แต่ก็ติดอันดับขึ้นๆ ลงๆ อยู่ใน Top 10 มาโดยตลอด ซึ่งน่าเสียดายว่าเปิดตัวไม่ค่อยเปรี้ยงเท่าไร และยังมีบางเอพิโสดที่เราว่ายังเอื่อยๆ อยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม ซีรีส์เรื่องนี้ก็ดูได้เพลินๆ และมีเอพิโสดดีๆ ที่น่าจดจำและน่าพูดถึงอยู่หลายตอน โดยเฉพาะตอนที่ 13 ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (Soft Power) ต่อประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ กรณีโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์และยังคงส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

 

จากเว็บตูนชื่อดังสู่ซีรีส์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ 

 

(ภาพ: Tomorrow Official Promo)

 

ซีรีส์ Tomorrow สร้างจากเว็บตูนชื่อดังของ ‘Llama’ (ลามา) ว่าด้วยเรื่องการมองหาเหตุผลเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อ เป็นเรื่องราวของเหล่ายมทูตทีมจัดการวิกฤตแห่งบริษัทจูมาดึง ซึ่งเป็นผู้ผูกขาดในปรโลก เรียกง่ายๆ ว่าเป็นยมทูตแห่งศตวรรษที่ 21 ผู้คอยช่วยคนที่ต้องการฆ่าตัวตายให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ทีมยมทูตนี้ประกอบไปด้วยสมาชิกหลัก 3 คน ได้แก่ ‘ชเวจุนอุง’ (รับบทโดย โรอุน) หนุ่มจิตใจดีที่ตกอยู่ในภาวะโคม่าครึ่งเป็นครึ่งตายจากการช่วยเหลือผู้ที่กำลังจะฆ่าตัวตาย เขาต้องเข้าร่วมทีมจัดการวิกฤตเพื่อให้ตัวเองได้ฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ‘คูรยอน’ (รับบทโดย คิมฮีซอน) หัวหน้าทีม และ ‘อิมรยุงกู’ (รับบทโดย ยุนจีอน) ผู้ช่วยทีมจัดการวิกฤต ซึ่งสมาชิกแต่ละคนต่างก็มีอดีตชะตากรรมอันน่าเศร้าก่อนที่ทั้งหมดจะกลายมาเป็นยมทูตของจูมาดึง ในแต่ละเอพิโสดนั้น สมาชิกของทีมจัดการวิกฤตต้องหาทางช่วยคนฆ่าตัวตายให้รอด แม้จะมีเรื่องราวของคูรยอนเป็นแกนหลักของเรื่องให้เดินตาม หากแต่ละตอนก็มีพล็อตย่อยแยกจบได้ภายในตอน ให้เราเห็นถึงประเด็นปัญหาสังคมต่างๆ ของเกาหลี อันเป็นเหตุให้ผู้คนต้องการจะจบชีวิตของตน 

 

ไอ้ต้าวโรอุน สมาชิกวง SF9 รับบท ‘ชเวจุนอุง’ 

หนุ่มจิตใจดี ยมทูตมือใหม่แห่งทีมจัดการวิกฤต

(ภาพ: Tomorrow Official Promo)

 

กลับมาที่เรื่อง EP.13 ซึ่งเราอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง เจ้าของบทประพันธ์เว็บตูนต้นฉบับอย่างลามานั้นได้ร่วมเขียนบทโทรทัศน์กับนักเขียน คิมยูจิน และได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ต้องการปรับเปลี่ยนเรื่องราวในซีรีส์บางส่วนให้แตกต่างออกไปจากเว็บตูน” นอกจากนี้ Tomorrow ยังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลีอีกด้วย 

 

EP.13: โศกนาฏกรรม ‘หญิงบำเรอ’ 

 

*Spoil Alert – บทความถัดจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์!*

 

(ภาพ: Still From Tomorrow EP.13)

 

ใน Tomorow ตอนที่ 13 นั้น ผู้ชมจะได้เห็นว่ายมทูตทีมจัดการภาวะวิกฤตจะต้องช่วยป้องกันการปลิดชีพตัวเองของหญิงชรานาม ‘ยูบ๊กฮี’ (แสดงโดย คิมยงริม) ผู้ดูผิวเผินแล้วมีชีวิตที่ดี หากสาเหตุที่ทำให้คุณยายคิดอยากปลิดชีพตัวเองนั้นด้วยความรู้สึกผิดในอดีต ซึ่งเคยเป็นต้นเหตุให้ ‘ยุนอี’ เพื่อนสนิทในวัยเด็กที่เปรียบได้กับน้องสาวต้องตกนรกเป็นทาสบำเรอกามให้กับทหารญี่ปุ่น และในขณะนั้นเองได้มีหญิงชราอีกคนหนึ่งชื่อ ‘อีจองมุน’ ผู้กำลังป่วยใกล้ตาย แต่สิ่งที่ฉุดรั้งไว้ไม่ให้ปล่อยวางละสังขาร คือเธอเป็นหนึ่งในหญิงบำเรอผู้รอคอยคำขอโทษและชดเชยจากฝ่ายที่ก่ออาชญากรรมอันเลวร้ายต่อเธอและผู้หญิงอีกนับไม่ถ้วน

 

ภาพหญิงบำเรอจากฟุตเทจ ถ่ายทำโดยกองทหารสหรัฐฯ ในจีน ถูกเก็บรักษาในจดหมายเหตุของสหรัฐฯ คลิปนี้ถูกค้นพบโดยนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลที่มหาวิทยาลัยโซล

(ภาพ: Still From The Footage)

 

‘หญิงบำเรอ’ (Comfort Women) คือกรณีที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เป็นคำเรียกอย่างสุภาพของผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ถูกบังคับหรือล่อลวงให้เป็นทาสกาม (Sex Slave) ให้กับทหารของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีจำนวนเท่าไรนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด บ้างประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนราย บ้างสันนิษฐานว่าอาจจะมีสูงถึง 4 แสนชีวิตด้วยกัน 

 

ทั้งนี้ปรากฏว่ามีการตั้ง ‘สถานีบำเรอ’ (Comfort Station) ของทหารญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นเอง รวมถึงในจีน, ไทย, นิวกินี, พม่า, ฟิลิปปินส์, มาเก๊า, มาเลเซีย, อินโดจีน, อินโดนีเซีย และฮ่องกง บรรดาหญิงบำเรอดังกล่าวมักมาจากดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองได้อย่างเกาหลี จีน และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมีการใช้ผู้หญิงจากติมอร์, ไต้หวัน, ไทย, นิวกินี, พม่า, มาเลเซีย, แมนจู, อินเดียตะวันออก, อินโดจีน และดินแดนอื่นๆ ที่ญี่ปุ่นยึดครอง ทั้งยังมีผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ ที่มาจากยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์และออสเตรเลียด้วย จากคำให้การของหลายบุคคลนั้นทำให้ทราบว่าผู้หญิงเหล่านั้นมักถูกลักพาตัวมาจากบ้านในดินแดนที่ญี่ปุ่นยึดครองได้ และมีหลายกรณีที่ถูกล่อลวงมาโดยทำให้หลงเชื่อว่าจะพาไปทำงานในโรงงานหรือให้การศึกษา ทว่าเมื่อได้ตัวมาแล้วก็ขังเอาไว้ในสถานีบำเรอทั้งในประเทศบ้านเกิดของพวกเธอเองและในต่างประเทศ ตามที่คาดเดากันนั้น จำนวนของผู้หญิงเกาหลีที่ถูกบังคับล่อล่วงไปให้เป็นนางบำเรอนั้นมีอยู่มากกว่าทุกประเทศ ทั้งนี้อาจมากถึง 70-80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว 

 

 คุณยายยูบ๊กฮีรู้สึกผิดบาปจนคิดฆ่าตัวตาย

เมื่อค้นพบว่าตัวเองคือต้นเหตุที่ทำให้น้องสาวคนสนิทต้องตกเป็นหญิงบำเรอ

(ภาพ: Still From Tomorrow EP.13)

 

ปัญหาเรื่องหญิงบำเรอเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับหลายประเทศ โดยเฉพาะกับเกาหลีมาช้านาน ที่ผ่านมาได้มีความพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องคำขอโทษอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลญี่ปุ่น แม้จะมีการแสดงความเสียใจและชดเชยจากข้อตกลงเมื่อปี 2015 ไปแล้ว แต่กระนั้นก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพอ เพราะถูกมองว่าคำแสดงความเสียใจและสิ่งที่ชดเชยที่ให้นั้นไม่ได้คำนึงถึงความเสียหายและความรู้สึกของเหยื่ออย่างเพียงพอ ซึ่งจากใน Tomorrow ตอนที่ 13 นั้น เราได้เห็นถึงการกระทำอันโหดร้ายทารุณต่อผู้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ ดังที่คุณยายอีจองมุนผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์นั้นบอกว่า

 

“เพราะเราเป็นแค่ของที่ใช้แล้วทิ้งก็แค่นั้นค่ะ ตราบใดที่ร่างกายช่วงล่างยังปกติดี เราก็จะต้องรับมือกับพวกทหารจนตาย พอตายก็ถูกเอาไปทิ้งกลางเนินเขา ไม่ต่างอะไรจากของที่ใช้แล้วทิ้ง”

 

รอยสักที่ปรากฏอยู่ตามร่างกาย

แสดงความโหดร้ายจากการตกเป็นเหยื่อของหญิงบำเรอ

(ภาพ: Still From Tomorrow EP.13)

 

ประติมากรรม Comfort Women Statue ตัวละครสำคัญ 

 

(ภาพ: Still From Tomorrow EP.13)

 

ในซีรีส์ Tomorrow ตอนดังกล่าวนี้ เราจะได้เห็นถึงตัวละครสำคัญที่ไม่ใช่คนแสดง นั่นคือประติมากรรมสำริดรูปเด็กสาว Comfort Women Statue ที่ถูกสร้างขึ้นในปี 2011 อันเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องความรับผิดชอบจากญี่ปุ่น โดยในอดีตรูปปั้นนี้เคยถูกนำไปตั้งที่หน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงโซล และสถานกงสุลญี่ปุ่นในเมืองปูซาน ทั้งยังเป็นต้นแบบที่ทำให้เกิดรูปปั้นหญิงบำเรอขึ้นอีกหลายๆ แห่งในโลก รวมถึงรูปปั้นหญิงบำเรออันหนึ่งที่มีรูปปั้นคล้าย ชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น คุกเข่าขอขมาอยู่เบื้องหน้า รูปปั้นต่างๆ เหล่านี้นอกจากเป็นอนุสรณ์สำหรับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้ว ยังมีบทบาทในการกดดันให้ญี่ปุ่นออกมาแสดงความขอโทษอย่างเป็นทางการต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย 

 

รูปปั้นหญิงบำเรออื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเรื่อง 

แต่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปปั้นดังกล่าว ตั้งอยู่หลายแห่งในโลก

(ภาพ: www.japantimes.co.jp, www.nbcnews.com, www.rappler.com )

 

เมื่อสื่อบันเทิงถูกใช้เป็น Soft Power ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว 

 

จอนโบยุน รับบทโดย พัคฮีจอง ยมทูตสาวผู้เข้าร่วมภารกิจกับทีมจัดการวิกฤตใน EP นี้ 

และเธอมีอดีตเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับคุณยายทั้งสอง

 

ในซีรีส์ Tomorrow ตอนนี้เรายังได้เห็นถึงภาพสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันต่อเหตุการณ์นี้ ทั้งการที่โศกนาฏกรรมนั้นเกิดขึ้นมาเนิ่นนาน หากยังฝากรอยแผลเป็นในจิตใจทั้งต่อหญิงบำเรอผู้เป็นเหยื่อ รวมไปถึงครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิดร่วมในยุคสมัยและมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างคุณยายยูบ๊กฮีที่หวังดีต่อยุนอี แต่กลับต้องแบกรับความรู้สึกผิดบาปที่ตัวเองเป็นต้นเหตุส่งให้คนที่เธอรักไปตกนรกหมกไหม้อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือแม้กระทั่งเหยื่อหญิงบำเรอที่ยังมีชีวิตเหลือรอดอยู่เพียงไม่กี่คนที่รอคอยคำขอโทษอย่างจริงใจจากฝ่ายผู้กระทำ ยังต้องแบกรับความคาดหวังจากเหยื่อคนอื่นๆ ที่เสียชีวิตไปก่อนหน้า ดังที่คุณยายอีจองมุน อดีตหญิงบำเรอชราผู้ไม่สามารถละวางสังขารไปสู่สุคติได้บอกว่า 

 

“พวกเขาได้แต่แสดงออกอ้อมๆ อย่างนั้นค่ะ ถ้าพวกเขาขอโทษด้วยวิธีแบบนั้นเป็นร้อยๆ ครั้ง มันจะมีความหมายอะไรงั้นเหรอคะ ตราบใดที่ฉันยังมีลมหายใจอยู่ ฉันก็จะคอยป่าวประกาศและเปิดโปงความจริงนั้นจนถึงที่สุดค่ะ นั่นเป็นสิ่งเดียวที่ฉันจะทำแทนหญิงสาวมากมายได้” 

 

ฝีมือการแสดงของรุ่นใหญ่ที่แบกทั้งเอพิโสดนี้ไว้ได้ทั้งตอน 

คิมยงริม และ คิมยองอ๊ก ผู้รับบทคุณยายทั้งสอง

(ภาพ: Still From Tomorrow EP.13)

 

ปัจจุบันนี้บรรดาเหล่าหญิงบำเรอได้ทยอยเสียชีวิตกันไปตามกาลเวลา และมีเพียงไม่กี่คนที่ยังคงมีชีวิตเหลือรอดอยู่ ด้วยอายุอานามที่มากมาย สิ่งที่พวกเธอคาดหวังนั้นอาจไม่ใช่เงินชดเชย หากแต่เป็นคำขอโทษอย่างจริงใจและเป็นทางการต่อกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าผู้ถูกกระทำที่เหลืออยู่อย่างพวกเธอจะมีวันได้ยินมันก่อนที่จะอำลาโลกนี้ไปหรือเปล่า 

 

 

ความจริงแล้วซีรีส์ Tomorrow ในตอนนี้ไม่ใช่สื่อบันเทิงเพียงชิ้นเดียวที่มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดถึง ก่อนหน้านี้เกาหลียังได้มีการผลิตภาพยนตร์เกี่ยวกับหญิงบำเรอมาแล้วหลายเรื่องอย่าง Herstory (2018) , I Can Speak (2017), The Last Comfort Women (2015) ฯลฯ แต่สิ่งที่ Tomorrow เอพิโสดนี้ได้บอกกับเราผ่านตัวละครชเวจุนอุง ซึ่งรับบทโดยโรอุน ก็คือในฐานะคนรุ่นปัจจุบัน เขาสัญญาว่าจะไม่ลืมโศกนาฏกรรมดังกล่าว และจะรับภาระเรียกร้องต่อจากคนรุ่นก่อนเอง 

 

นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้สื่อบันเทิงของเกาหลีในการขับเคลื่อนประเด็นความขัดแย้งที่มีความละเอียดอ่อนบนเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งเราเชื่อแน่ว่าจะยังคงได้เห็นผลงานอื่นๆ ในอนาคตที่หยิบยกเอาประเด็นนี้มาพูดถึงอีกแน่นอน ตราบใดที่โศกนาฏกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมสงครามดังกล่าวยังไม่ได้รับการแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจจากฝ่ายผู้กระทำ 

 

ภาพ: Tomorrow

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising