เมื่อ ‘ไอ้ขาม’ หนุ่มไทยผู้บินไกลข้ามโลกสู่ประเทศประเทศออสเตรเลีย เขาเดินดุ่มอย่างมุ่งมั่นเพื่อหวังจะทวงคืนช้างจากมาเฟียข้ามชาติ และบนสะพานฮาร์เบอร์ที่มองเห็นโอเปราเฮาส์อยู่ไม่ไกลนั่นเอง ไอ้ขามก็คำรามออกมาสุดเสียงว่า “ช้างกูอยู่ไหน!” ก่อนจะระเบิดฉากแอ็กชันมันหยด ประกาศก้องหนังแอ็กชัน-ศิลปะการต่อสู้ไทยที่หวังจะทะยานไปไกลในระดับโลก
วันที่ 11 สิงหาคม 2548 หรือวันนี้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว คือวันที่แฟนหนังทั่วเอเชียรอคอยการเข้าฉายของภาพยนตร์แอ็กชันสัญชาติไทย ต้มยำกุ้ง (Tom-Yum-Goong) ซึ่งถูกวางโปรแกรมเข้าฉายพร้อมกับอีกหลายประเทศในแถบเอเชียอย่างฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ฯลฯ และแน่นอนที่สุด มันคือวันที่แฟนหนังแอ็กชัน-ศิลปะการต่อสู้จะได้ยิน ‘โทนี่ จา’ หรือทัชชกร ยีรัมย์ ตะโกนก้องว่า “ช้างกูอยู่ไหน” เป็นครั้งแรกบนจอภาพยนตร์
ต้มยำกุ้ง คืองานต่อยอดความสำเร็จหลังจากหนังแอ็กชันสัญชาติไทยแท้ องค์บาก (2546) และแอ็กชันฮีโร่คนใหม่ชื่อ โทนี่ จา ทำให้คนดูหนังทั่วโลกต้องร้องครางไปกับฉากบู๊แบบ ‘เล่นจริง เจ็บจริง ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้สแตนด์อิน’ และนับจากนั้นชื่อเสียงก็นำพาพระเอกหนุ่มจากเมืองสุรินทร์ที่ฝึกฝนวิชาสตันท์ กีฬา และศิลปะการต่อสู้มาทั้งชีวิตเดินทางไปทั่วโลก กระทั่งหลายคนจับตามองว่าเขาอาจจะก้าวขึ้นมาเป็น ‘ซูเปอร์สตาร์แอ็กชันฮีโร่’ คนใหม่ของโลกภาพยนตร์
ต้มยำกุ้ง ยังเป็นการกลับมาทำงานกันของ ‘ดรีมทีม’ ผู้ปลุกปั้นงานภาพยนตร์แอ็กชันไทยให้กลับมาโด่งดังอย่าง เสี่ยเจียง-สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ในฐานะผู้อำนวยการสร้าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว ในตำแหน่งผู้กำกับภาพยนตร์ และพันนา ฤทธิไกร ที่นั่งในตำแหน่งผู้กำกับคิวบู๊ และที่ขาดไม่ได้ นี่คือการกลับมาเป็น ‘คู่หู’ บนจอภาพยนตร์อีกครั้งของ จา-ทัชชกร ยีรัมย์ และหม่ำ จ๊กมก ซึ่งแฟนหนังเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มสีสันและรสชาติให้กับ ต้มยำกุ้ง
ด้วยตัวเลขทุนสร้างที่สูงกว่า 300 ล้านบาท ทำให้ ต้มยำกุ้ง กลายเป็นหนังแอ็กชันไทยที่ไม่ได้คาดหวังแค่เพียงรายได้ในเมืองไทยอีกต่อไป แต่หนังถูกคาดหวังในระดับนานาชาติเพื่อจะอวดผลงานแอ็กชัน-ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทยสู่สายตาชาวโลก ต่อยอดชื่อเสียงของแอ็กชันสตาร์ชื่อ โทนี่ จา ที่คนทั่วโลกกำลังจับจ้องสนใจ
ต้มยำกุ้ง ดำเนินเรื่องผ่านการต่อสู้ผจญภัยข้ามโลกของ ขาม (ทัชชกร ยีรัมย์) เด็กหนุ่มบ้านป่าที่วันหนึ่งชีวิตต้องพลิกผัน เมื่อแก๊งมาเฟียข้ามชาติผู้มีอิทธิพลได้ขโมยช้างพลายสองพ่อลูกซึ่งขามและพ่อของเขารักเยี่ยงชีวิตไปยังประเทศออสเตรเลีย
ทางเดียวที่จะช่วยเหลือและรักษาชีวิตของช้างได้คือการบุกตะลุยข้ามโลกไปทวงคืนช้างด้วยตัวเองแบบบุกถ้ำเสือ! ซึ่งพล็อตคอนเซปต์แบบ ‘บุกถ้ำเสือ’ นี่เองที่นำพามาซึ่งฉากแอ็กชันไฮไลต์แบบลองเทกความยาว 4 นาที ไม่มีการตัดต่อ
นอกจากนั้น ต้มยำกุ้ง ยังนำเสนอศาสตร์การต่อสู้แม่ไม้มวยไทยโบราณชื่อ ‘มวยคชสาร’ ที่โดดเด่นในท่วงท่าการต่อสู้แบบ ทุ่ม-ทับ-จับ-หัก ซึ่งยอดพระเอกนักบู๊ซุ่มฝึกฝนมานานสำหรับหนังเรื่องใหม่
ทัชชกร ยีรัมย์ หรือโทนี่ จา ที่ชาวโลกรู้จักเคยพูดถึงช่วงเวลาหลังความสำเร็จของ องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง ไว้ว่า
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง องค์บาก กับ ต้มยำกุ้ง บางคนบอกว่าผมโด่งดังมหาศาล ถ้าถามว่าความสำเร็จในวันนั้นเกิดขึ้นจากอะไร ผมคิดว่าคงเป็นเรื่องของเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีทักษะความสามารถที่ดี ซึ่งทั้งหมดที่พูดล้วนมาจากการทุ่มเทฝึกฝน
“ผมซ้อมวันละ 8 ชั่วโมง วันแรกอาจตั้งเป้าว่าจะฝึกกระโดดให้สูง พอกระโดดจนสูงได้ก็ต้องคิดต่อว่าจะดีไซน์ท่วงท่าให้ออกมาแข็งแรงสวยงามได้อย่างไร ทุกวันนี้คนเรียนมวยไทยมีเยอะมาก แต่หาคนที่จะครีเอตท่าทางการต่อสู้จากมวยไทยให้ออกมาสวยงาม หรือทำให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจในรูปแบบของภาพยนตร์ยังมีน้อย
“ผมว่าสิ่งสำคัญที่สุดอีกด้านหนึ่งของการเป็นนักบู๊คือความมีวินัยและหัวใจที่อยากจะพัฒนาตัวเอง หัวใจที่อยากจะคิดค้นท่วงท่าการต่อสู้อยู่ตลอดเวลา
“คนเรามีสิทธิ์ฝัน เพราะความฝันมันไม่ผิดกฎหมาย จะสำเร็จหรือไม่นั้นอย่าไปคาดหวังมาก ขอให้ลงมือทำก่อน เพราะจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุด”
หลังจากผ่านโปรแกรมฉาย ต้มยำกุ้ง ทำรายได้ในไทยไปกว่า 183.35 ล้านบาท และเก็บเงินจากคนดูหนังทั่วโลกไปอีกกว่า 1,300 ล้านบาท นอกจากนั้นในการฉายที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยจำนวน 1,541 โรงภาพยนตร์ (ในชื่อเรื่องว่า The Protector) ต้มยำกุ้ง ยังเคยไต่อันดับรายได้กระทั่งติดบ็อกซ์ออฟฟิศหนังทำเงินไปถึงอันดับที่ 4
ส่วนในวันนี้ แม้คนไทยจะได้ดูผลงานของโทนี่ จา ผ่านหนังระดับสตูดิโอฮอลลีวูดอย่าง Fast & Furious 7 หรือ xXx: Return of Xander Cage ฯลฯ แต่เชื่อเหลือเกินว่าถึงอย่างไรฉากบู๊แบบเล่นจริงเจ็บจริงของ ‘ไอ้บุญทิ้ง’ จาก องค์บาก และ ‘ไอ้ขาม’ จาก ต้มยำกุ้ง จะยังคงเป็นภาพจำของคนไทยไปอีกนาน
ภาพ: สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์