×

เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข: หนังสือที่ยกย่องปัจเจกนิยมท่ามกลางสังคมที่แคร์ความคิดใครๆ

19.08.2019
  • LOADING...
เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข

“เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ‘คนดี’ อยู่ในสังคมได้ยาก คือการที่คนญี่ปุ่นพยายามรักษาศีลธรรม คำสอนคุณงามความดี ความเชื่อ และกฎในสังคมแบบตรงๆ ทำให้ชวนอึดอัดใจ…ทั้งยังพยายามกดดันให้คนรอบข้างทำตามอีกด้วย (90)”

 

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่แปลก เพราะเล่าเรื่องสวนกระแสสังคมที่ทุกคนล้วนอยากเป็น ‘คนดี’ ซึ่งคนดีในนิยามของหนังสือเล่มนี้ ก็คือคนที่ยอมทำตามความต้องการของคนอื่น หรือแคร์สายตาของคนอื่นมากเกินไป จนไม่กล้าแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา เพราะไม่อยากขัดแย้งกับใคร

 

โกะโด โทคิโอะ ผู้เขียน เป็นผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนและการพัฒนาธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้านการเงิน มุมมองของเขาต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้นน่าสนใจมาก เพราะแทนที่จะมุ่งเน้นให้เราทำงานเข้ากับผู้อื่นได้ดี เขากลับสนับสนุนให้เรากล้าเป็นคนแปลก และกล้าปะทะกับผู้อื่นเพื่อแสดงความเป็นตัวเองออกมา กล้าแหกกฎ และกล้าทะเลาะกับคนอื่นแบบผู้ใหญ่ โทคิโอะให้ความเห็นว่า การทำเช่นนี้กลับจะทำให้มีคนอยากสนับสนุน ติดตามเรามากขึ้น หรือมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับผู้อื่นมากขึ้น เพราะผู้อื่นเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา ทั้งยังทำให้เรารู้สึกปลอดโปร่งโล่งสบาย

 

ยิ่งหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่น ก็ยิ่งทำให้มันมีความพิเศษมากขึ้นไปอีก เพราะดังที่กล่าวไว้ตอนต้น สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ค่อนข้างรักษากฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน และใส่ใจในมารยาท การแสดงออกต่อผู้อื่นตามธรรมเนียม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสังคมที่แคร์คนอื่นมากที่สุดสังคมหนึ่ง เมื่อเทียบกันแล้วก็มีความคล้ายคลึงกับสังคมไทย ที่รักษาจารีตและลำดับอาวุโส ทั้งยังเป็นสังคมที่กังวลมากพอสมควรว่า ‘คนอื่นจะคิดกับเราอย่างไร’ 

 

คำแนะนำของเขาที่เด่นๆ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์กับชาวไทยเช่นเราๆ ก็อย่างเช่น ให้เราเลิกใช้ชีวิตในสังคมที่ถูกสร้างขึ้น ตัวอย่างของสังคมประเภทนี้ก็คือ สังคมที่โรงเรียน ซึ่งสุ่มเลือกให้เด็กหลายๆ คนมาอยู่ร่วมกัน ไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องเข้ากันได้กับทุกคน เพราะเราไม่ได้เลือกที่จะอยู่ในสังคมแห่งนี้ ดังนั้น เราควรกำหนดคนที่เราควรตัดออกจากชีวิต และคบคนที่ใช้ชีวิตในแนวทางเดียวกันกับเรา คนที่ทำเช่นนี้ได้ก็จะได้ใช้ชีวิตท่ามกลางกลุ่มคนที่เราต้องการ ส่วนคนที่ทำไม่ได้ก็จะหลุดพ้นจากความกดดัน การผูกมัด หรือสายตาของผู้อื่นไม่ได้

 

นอกจากนั้นแล้ว โทคิโอะยังสนับสนุนให้เราจริงใจกับตนเอง ค้นหาตนเองจนรู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร และเลือกใช้ชีวิตตามความต้องการอย่างแท้จริงของตัวเอง แม้ว่าผู้อื่นอาจไม่เห็นด้วย เลิกใส่หน้ากากหรือปั้นยิ้มเสแสร้งเข้าหาผู้อื่นเพียงเพราะความจำเป็นหรืออยากมีเพื่อนเยอะๆ เข้าไว้ โทคิโอะแนะนำว่า เราไม่จำเป็นต้องมีเพื่อนเยอะตามที่สังคมคาดหวังก็ได้ ยิ่งเมื่อเราต้องเข้ากลุ่มสังคมเราก็ยิ่งต้องรักษาระยะห่าง และไม่เข้าไปพัวพันมากเกินจำเป็น เพื่อนที่คุยกันได้อย่างสนิทแนบชิดนั้น มีแค่คนเดียวก็ถือว่าพอแล้ว

 

การพึ่งพา ตัดสินใจ และอยู่ให้ได้ด้วยตัวเองก็เป็นหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ สำหรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้ เราก็ต้องมีความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงมัน อย่างเช่น การเปลี่ยนที่ทำงานถ้าเราไม่ชอบ หรือการที่เด็กเปลี่ยนโรงเรียนถ้าเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เรามีสิทธิ์ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตไปในทางที่เป็นผลดีกับเราเสมอ แต่หากเราเปลี่ยนสถานการณ์นั้นไม่ได้ก็ต้องเปิดกว้างและยอมรับมันอย่างมีวุฒิภาวะ เมื่อเราตัดสินใจบนความต้องการของตัวเอง เราก็จะได้ใช้ชีวิตของตัวเองจริงๆ 

 

โทคิโอะไม่สนับสนุนให้คนหนีปัญหาหรือพึ่งพาสิ่งภายนอก อย่างเช่น การรอความเห็นใจจากผู้อื่นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจนไม่ลงมือทำอะไร เขาถึงกลับเสนอในสิ่งที่สวนทางกับแนวปฏิบัติของครอบครัวญี่ปุ่นหลายครอบครัว นั่นคือให้แม่บ้านออกไปหางานทำซะ เพื่อที่พวกเธอจะได้พึ่งพาตนเองได้!

 

อีกบทหนึ่งที่โดดเด่นก็คือ บทที่ว่าด้วยการเลิกซ่อนตัวตน ‘คนดี’ มักจะไม่เผยตัวตนให้คนอื่นรับรู้ และเก็บกดความรู้สึกของตัวเองไว้ เพราะอยากเข้าได้กับทุกคน ยิ่งเราเป็นคนเช่นนี้ เราก็จะยิ่งหมดเสน่ห์และถูกคนอื่นเห็นว่าเป็นของตาย อีกทั้งผู้คนย่อมไม่ไว้วางใจ เพราะไม่รู้ว่าเราคิดอะไรอยู่ หากคนเช่นนี้เป็นเจ้านาย ก็จะกลายเป็น ‘เจ้านายฉันเพื่อน’ ที่เกรงใจทุกคน ไม่กล้าออกคำสั่งหรือบังคับใคร แม้อาจจะได้รับการประเมินว่าเป็นเจ้านายที่ดี แต่ลูกน้องก็จะไม่เชื่อใจ ติดตามและสนับสนุน ถ้าบริษัทไหนมีเจ้านายเป็นคนดีแล้วล่ะก็ ลูกน้องที่เก่งๆ มักจะลาออกกันไปในที่สุด

 

นอกจากนั้น เราควรกล้าเผชิญหน้าและทะเลาะกับผู้อื่นอย่างมีเหตุผล เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง คนที่กล้าทำเช่นนี้ย่อมถูกมองว่าเป็นคนพึ่งพาได้ และทำให้เราไม่เก็บกด หลายประโยคในหนังสือเล่มนี้เป็นถ้อยคำที่ใช้สำหรับกันคนแย่ๆ ออกไปจากชีวิตของเรา เราควรเตรียมพร้อมเสมอที่จะปะทะกับผู้อื่น ไม่ใช่ยอมตามผู้อื่นไปเสียทุกเรื่อง

 

อาจกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เหมาะกับคนไทยมากเล่มหนึ่ง คาดว่าคนที่ได้อ่านน่าจะเลิกนิสัยคนดีได้อย่างน้อยสองสามอย่าง และทำให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และมีอิสรภาพทางจิตใจมากขึ้น 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X