×

โต Silly Fools อิสลามไม่ไหว้รูปปั้น วิจารณ์ตามความเชื่อหรือดูหมิ่นศาสนาอื่น

04.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • โต อดีตนักร้องนำ Silly Fools จัดรายการตอบคำถามจากทางบ้าน ‘ทำไมอิสลามไม่มีรูปปั้นของพระเจ้า’ กระทั่งเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด
  • ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรีอธิบายว่า การประจานความเชื่อของคนอื่นถือเป็นการทำผิดหลักศาสนาอิสลาม
  • นักวิชาการปรัชญาและศาสนามองว่า โต Silly Fools มีสิทธิ์วิจารณ์ศาสนาอื่นได้ แต่ปัญหาของเขาคือการไม่เข้าใจโลกจากมุมมองของคนอื่น

วีรชน ศรัทธายิ่ง หรือ โต อดีตนักร้องนำวง Silly Fools ผู้ผันตัวจากร็อกเกอร์ดังมาเป็นผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลามด้วยความเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ต่อพระผู้เป็นเจ้า

 

กว่า 6 ปีที่เขาได้ทำรายการ โต-ตาล กับพิธีกรคู่หู มีเนื้อหาเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจของตนที่มีต่อศาสนาอิสลามให้สาธารณชนได้รับทราบผ่านสื่อสังคมออนไลน์

 

รายการเฟซบุ๊กไลฟ์ โตตาล 30 มีนาคม 2561

 


 

ช่วงหนึ่งของรายการผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา มีคำถามจากทางบ้านว่า ‘ทำไมอิสลามไม่มีรูปปั้นของพระเจ้า’

 

และโตตอบคำถามนั้น “การเป็นพระเจ้า หนึ่งข้อแม้คือต้องไม่เหมือนสิ่งใดที่พระองค์สร้าง เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่ท่านปั้นไม่มีทางเหมือนพระองค์ พระองค์ยิ่งใหญ่เกินจินตนาการของมนุษย์ที่จะสามารถจับพระองค์ได้ นี่คือพระเจ้า ในฐานะผู้ศรัทธา ผมจะไม่กราบสิ่งใดที่ต่ำเท่าผมหรือต่ำกว่าผม รูปปั้นผลักก็ตกแตกแล้ว มันต่ำกว่าผมและมันไม่มีชีวิต

 

“มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ ผมจะไหว้ทำไมกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต แต่มีรูปร่างอัปลักษณ์กว่าผม ปั้นให้ตายก็หล่อสู้ผมไม่ได้ จริงๆ อันนี้พูดไม่อายปากเลย ปั้นให้ตายก็หล่อสู้ผมไม่ได้ เอาคนที่ปั้นเก่งที่สุดเลย แววตายังไม่มีเลยรูปปั้น และผมจะไหว้ บางคนมีศาลพระภูมิหน้าบ้าน บ้านมันเล็กกว่าผม และผมยังต้องไปกราบไหว้อีกเหรอ มันต่ำกว่าผมและผมต้องไหว้เหรอ”

 


 

ระหว่างที่เขาตอบคำถามนี้หลังรายการดำเนินไปได้กว่า 1 ชั่วโมง ด้วยน้ำเสียงดุดันมั่นใจ ก็เริ่มมีคอมเมนต์ทางเฟซบุ๊กไลฟ์ต่อว่าด่าทอเข้ามาเรื่อยๆ จนในที่สุดเรื่องก็บานปลาย เมื่อร็อกเกอร์ชื่อดัง ‘เสก โลโซ’ ได้โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์อดีตนักร้องรุ่นน้อง ด้วยถ้อยคำรุนแรง

 

 

ขณะที่ล่าสุด วันนี้ (4 เม.ย.) สำนักจุฬาราชมนตรีได้เผยแพร่คลิปแถลงของนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นการชี้แจงและเตือนสติเกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนาอิสลามด้วยการบริภาษความเชื่อของเพื่อนต่างศาสนาในสังคมไทย

หากว่าพวกเจ้าทั้งหลายได้ประจานความเชื่อของคนอื่น คนอื่นก็จะประจานความเชื่อของตนเองในลักษณะที่เป็นศัตรู

โต วีรชนชี้แจง ไม่ได้ดูหมิ่นศาสนาพุทธ แค่ตอบคำถามตามหลักศาสนา

เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โตได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ทุบโต๊ะข่าว สถานีโทรทัศน์อมรินทร์ทีวี ชี้แจงว่า การตอบคำถามในรายการเป็นการอธิบายตามหลักอิสลามว่าทำไมรูปปั้นจึงไม่มีค่าในทัศนะของคนที่เป็นมุสลิม

 

ยืนยันว่าในรายการได้อธิบายแล้วว่าทำไมถึงไปให้เกียรติรูปปั้น ซึ่งมีค่าและความสวยงามน้อยกว่ามนุษย์อยู่แล้ว เป็นแค่สิ่งที่ถูกปั้นโดยน้ำมือมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวหัวใจของศาสนาอิสลามไม่ได้ ส่วนกรณีที่มีคนบอกว่าตนดูถูกศาสนาพุทธ ตรงนี้ฟังที่ตนพูดผิด เพราะสิ่งที่ตนพูดตลอดรายการ ได้ยกสิ่งที่พระพุทธเจ้าขึ้นมาเป็นระดับสูงเสมอ อีกทั้งตามหลักการศาสนาอิสลาม ไม่มีสิทธิ์ที่จะวิจารณ์ศาสนทูตท่านใด

 

‘หากว่าพวกเจ้าทั้งหลายได้ประจานความเชื่อของคนอื่น คนอื่นก็จะประจานความเชื่อของตนเองในลักษณะที่เป็นศัตรู’ พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

 

ผิดตรงไหนที่เอาข้อเท็จจริงตามคำภีร์อัลกุรอานมาพูด

ประสาน ศรีเจริญ หรือ อ.ชารีฟ ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD อธิบายถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า การกระทำของโตแม้จะเกิดจากความตั้งใจที่ดี แต่เป็นการกระทำที่ผิดหลักศาสนาในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

 

ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานบัญญัติว่า ‘หากว่าพวกเจ้าทั้งหลายได้ประจานความเชื่อของคนอื่น คนอื่นก็จะประจานความเชื่อของตนเองในลักษณะที่เป็นศัตรู’

 

อ.ชารีฟอธิบายว่า ทุกคนรู้ว่าความเชื่อของคนไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าการพูดของแต่ละคนมีผลทำให้คนอื่นเสียหายหรือเปล่า “ถ้าคำพูดของเรานั้นแม้จะเป็นเรื่องถูกต้องในศาสนาที่เรานับถือ แต่ถ้าไปละเมิดศาสนาคนอื่นก็ถือเป็นความไม่ถูกต้อง”

 

นอกจากนี้ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญของเรื่องมารยาทเป็นอันมาก ตัวพระศาสดาเองเคยกล่าวว่า “ฉันถูกแต่งตั้งมาเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ทั้งด้านมารยาทและจริยธรรม”

 

อ.ชารีฟขยายความว่า การมีมารยาทและจริยธรรมคือการไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ทำให้คนอื่นเจ็บช้ำ และไม่ทำให้คนอื่นเสียหาย นี่คือการมีมารยาทของพระศาสดา

 

ดังนั้นการพูดในสิ่งที่เป็นความจริงจะต้องไม่ทำให้คนอื่นเสียหายด้วย ในหลักศาสนา คนจะทำงานเรื่องศาสนาจะต้องมี 2 ประการ ประการแรกคือมีความตั้งใจอันบริสุทธิ์ และอีกอย่างที่สำคัญคือต้องไม่ทำการใดที่ผิดหลักศาสนา ดังนั้นการทำใดๆ ก็ตามทางศาสนาจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ 2 ข้อนี้ ซึ่งแม้ว่าจะมีความบริสุทธิ์ใจเพียงใด แต่ถ้าทำไม่ถูกต้องก็ถือว่าผิด

 

รูปเคารพ และคำว่า ‘พระเจ้า’ ล้วนเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงสิ่งที่เชื่อ

สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาและปรัชญามองว่า ปัญหาการวิพากษ์วิจารณ์ของโตคือปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับสัญลักษณ์ทางศาสนา เพราะในความเข้าใจของเขามองว่า อิฐปูนที่มาสร้างเป็นรูปเคารพนั้นต่ำกว่าตัวเขา

 

แต่เอาเข้าจริง มนุษย์ปฏิเสธสัญลักษณ์ ไม่ได้ เพราะเราสื่อสารกันผ่านสัญลักษณ์ เนื่องจากภาษาก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง เช่น คำว่า ‘น้ำ’ เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง มันไม่ใช่ตัวน้ำจริงๆ ในภาษาอังกฤษเรียกมันว่า ‘Water’ แต่เราใช้สื่อไปถึงมัน

 

“แม้แต่คำว่า God ก็เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อไปถึงสิ่งที่เราเชื่อ เพราะคำว่า God มันไม่ใช่ตัว God จริงๆ ดังนั้นถ้าคุณปฏิเสธเรื่องสัญลักษณ์คุณก็จะพูดถึง God ไม่ได้ เพราะมันคือสัญลักษณ์ทางภาษาที่สื่อไปถึงพระเจ้าองค์จริงในความเชื่อของคุณ”

 

ดังนั้น รูปเคารพก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่สื่อความหมายเหมือนภาษา เช่น พระพุทธรูป แม้จะสร้างจากอิฐปูน แต่คนที่เขากราบก็ไม่ได้คิดว่ากำลังกราบอิฐปูน แต่กำลังกราบพุทธคุณตามความเชื่อของเขา

 

“แม้กระทั่งท่านพุทธทาสภิกขุก็ยังเคยเอาไม้เท้าเคาะพระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ว่า พระพุทธรูปจริงๆ แล้วก็แค่อิฐปูน เสร็จแล้วท่านก็นั่งลงกราบ และท่านก็แสดงความหมายว่า การกราบไม่ใช่การกราบอิฐปูน แต่เป็นการระลึกถึงพระพุทธคุณ

 

“ดังนั้นจึงคิดว่าปัญหาของคุณโตคือความไม่สามารถที่จะเข้าใจโลกจากมุมมองของคนอื่น ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าจำเป็นในสังคมพหุวัฒนธรรมที่เราจะต้องเข้าใจคนอื่นว่า ที่เขาคิดหรือเชื่อแบบนั้น เขามีมุมมองอย่างไร ไม่ใช่เราจะเอาทัศนะของศาสนาหรือความเชื่อของตนเองไปตัดสินคนอื่น”

 

อย่างไรก็ตาม สุรพศยืนยันว่า ในโลกเสรีประชาธิปไตย เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาได้ และเราไม่ควรเรียกว่าการดูหมิ่นศาสนา เพราะข้อกล่าวหานี้รุนแรงและทำลายคนมาเยอะแล้ว

 

สุรพศบอกอีกว่า ถ้าลองพิจารณากรณีที่เกิดขึ้นนี้ด้วยใจที่กว้าง เราก็ได้ประโยชน์ในการช่วยเตือนสติกับชาวพุทธว่า อย่าไปยึดติดกับรูปเคารพ แต่ต้องนึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า

 

“เพราะในขณะที่เราอยากให้คุณโตเข้าใจโลกจากมุมมองของคนอื่น เราก็ควรจะเข้าใจโลกจากมุมมองของคุณโตด้วยเช่นกัน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising