ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษีชี้แจงว่า กรมสรรพสามิตได้ปรับภาษียาเส้นเพิ่มเป็น 10 สตางค์/กรัม ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมขยายเวลาในการบังคับใช้อัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบที่คิดตามมูลค่าร้อยละ 20 และร้อยละ 40 ออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้อุตสาหกรรมมีเวลาปรับตัว
เมื่อวานนี้ (8 พ.ค.) นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต เผยถึงผลการประชุมของคณะรัฐมนตรี (7 พ.ค.) ที่ผ่านมาว่า นอกจากจะมีการอนุมัติให้กรมสรรพสามิตปรับโครงสร้างภาษีรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ โดยอิงจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ยังได้เห็นชอบให้ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาเส้น โดยจะมีผลตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา ด้วยการปรับเพิ่มภาษีตามปริมาณเพิ่มเป็น 10 สตางค์/กรัม จากเดิมจัดเก็บที่ 5 สตางค์/กรัม ซึ่งจะทำให้ยาเส้นที่ขาย 10 บาท เพิ่มเป็น 13 บาท สำหรับซองใหญ่ ส่วนซองเล็กจาก 5 บาท เพิ่มเป็น 7 บาทเท่านั้น
โดยผู้อำนวยการสำนักแผนภาษีได้ให้เหตุผลถึงการเพิ่มภาษียาเส้นว่า เดิมทีภาษียาเส้นไม่ได้ปรับเพิ่มมาเป็นเวลานานถึง 40 ปี ซึ่งทางโรงงานหั่นยาเส้นของประชาชนเพื่อส่งให้กับการยาสูบแห่งประเทศไทยจะได้รับการยกเว้นภาษี และคาดการณ์ว่า การปรับภาษีครั้งนี้จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มกว่า 2,000 ล้านบาท จากยอดภาษีสรรพสามิตยาสูบทั้งระบบที่มีถึง 60,000 ล้านบาท/ปี
ซึ่งหลังจากคณะรัฐมนตรีได้ปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตยาสูบเมื่อเดือนตุลาคมปี 2560 ได้ส่งผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ซิกาแรตสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงหันมาสูบยาเส้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้รายได้ภาษียาเส้นเพิ่มจาก 12 ล้านกิโลกรัม เป็น 26 ล้านกิโลกรัม หรือเพิ่ม 2 เท่าตัว ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบอุตสาหกรรม ทั้งผู้ผลิตในประเทศและผู้นำเข้า ตลอดจนเกษตรกร ผู้ปลูกใบยาสูบ รวมถึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคยาเส้นที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ยังมองว่า ยาเส้นที่นำไปทำเป็นบุหรี่หรือมวนเองโดยไม่มีก้นกรอง อาจทำให้ได้รับสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาจัดเก็บภาษียาสูบบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกแนะนำที่ไม่เกินซองละ 60 บาท โดยให้เสียภาษีที่อัตรา 20% และภาษีบุหรี่ตามราคาปลีกแนะนำที่เกินซองละ 60 บาท ในอัตรา 40% ออกไปอีก 1 ปี เพื่อให้เกิดการปรับตัวและการพัฒนาในด้านต่างๆ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: