×

TMB เคาะราคาหุ้นเพิ่มทุน 24 กันยายนนี้ ชี้ 3 ข้อเสียกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิม

23.09.2019
  • LOADING...
ธนาคารทหารไทย

หลังจากธนาคารทหารไทย (TMB) และธนชาตปิดดีลประกาศชัดเจนว่าจะควบรวมธนาคารกันเสร็จสิ้นในปี 2564 ทำให้ระหว่างทางทั้งสองธนาคารต้องปรับโครงสร้างถือหุ้นกันยกใหญ่ ฝั่งธนาคารธนชาตผู้ถือหุ้นรายย่อยยังคงถือหุ้นใน TCAP เหมือนเดิม

 

แต่ฝั่งธนาคารทหารไทยจะออกหุ้นเพิ่มทุน เรื่องนี้จะกระทบผู้ถือหุ้นรายย่อยอย่างไร? 

 

TMB เคาะราคาหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเก่า 24 กันยายน 2562 คาดมูลค่ารวม 42,500 ล้านบาท 

 

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า จากแผนการควบรวมธนาคารระหว่าง TMB และธนชาต ทาง TMB ต้องหาเงินทุนราว 130,000 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นธนาคารธนชาต (TBank) แบ่งเป็น 20% โดยออกตราสารหนี้และตราสารด้อยสิทธิกว่า 30,000 ล้านบาท ส่วนอีก 80% มาจากการเสนอหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้นักลงทุนใหม่ 64,000 ล้านบาท รวมถึงการเสนอหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (TSR) ให้ผู้ถือหุ้นเดิมราว 42,500 ล้านบาท 

 

ทั้งนี้การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน TSR ให้ผู้ถือหุ้นเดิม จะกำหนดราคาหุ้นถูกกว่าราคาตลาด (วันที่ 23 กันยายน 2562 ราคาอยู่ที่ 1.71 บาทต่อหุ้น) โดยจะประกาศราคาหุ้นเพิ่มทุนนี้ในวันที่ 24 กันยายน 2562 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 1.35-1.60 บาทต่อหุ้น

อย่างไรก็ตามข้อมูลจากหนังสือบอกกล่าวเชิญประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2562 ระบุว่า หากเสนอราคาหุ้นเสนอเพิ่มทุนสามารถลดราคาได้ไม่เกิน 10% ของราคาตลาด 

 

ตัวอย่างเช่น ราคาใช้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนตาม TSR เท่ากับ 1.35 บาทต่อหุ้น (จากกรอบที่ตั้งไว้ 135-1.60 บาทต่อหุ้น) คิดส่วนลดเป็น 27.9% จากราคาตลาดที่ 1.87 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะคำนวณถัวย้อนหลัง 7 วันทำการก่อนวันที่คณะกรรมการมีมติให้ออกแล้วก็จัดสรรใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นสามัญของธนาคาร (วันที่ 29 กรกฎาคมถึง 16 สิงหาคม 2562) 

 

นอกจากนี้ราคาหุ้นสามัญเพิ่มทุนในกลุ่มนักลงทุนมูลค่าราว 64,000 ล้านบาทจะสูงกว่ามูลค่าของสินทรัพย์ตามงบดุลของบริษัท (Book Value) ราว 1 เท่า ส่วนหนึ่งหุ้นสามัญเพิ่มทุนราว 54,000 ล้านบาทจะมาจาก TBank 

 

TMB ออกหุ้นเพิ่มทุนกระทบผู้ถือหุ้น 3 ด้าน แต่ระยะยาวหุ้นอาจกลับมาเกิน 2 บาท

 

ทั้งนี้หากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน TSR ของ TMB สำเร็จ คือ ธนาคารสามารถออกหุ้นกู้เพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นของธนาคารได้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ 31,481 ล้านหุ้น (ราว 42,500 ล้านบาท) จะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิม 3 ด้าน ได้แก่ 

  • ผู้ถือหุ้นรายย่อยเดิมของธนาคารจะมีสัดส่วน สิทธิออกเสียงลดลง คือก่อนทำรายการ TSR ผู้ถือหุ้นรายเดิมของธนาคารทหารไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 44.18% หลังการทำรายการ TSR สัดส่วนจะลดลงเหลือ 31.39% 
  • ส่วนแบ่งกำไรลดลง จากการประมาณการของธนาคารทหารไทยระบุสมมติฐานว่า หลังจากการทำรายการ TSR จะมีส่วนแบ่งกำไร (EPS Dilution) 0.2068 บาทต่อหุ้น ลดลงจากก่อน ทำรายการ TSR ที่อยู่ระดับ 0.2486 บาทต่อหุ้น
  • ราคาหุ้นลดลง 

 

ปิติกล่าวว่า แม้ว่าหลังการทำรายการ TSR อาจทำให้ราคาหุ้นของ TMB อยู่ต่ำกว่า 2 บาทต่อหุ้น เพราะราคาการทำ TSR เป็นการตั้งราคาหุ้นต่ำกว่า Book Value ให้ผู้ถือหุ้นเดิมซื้อในราคาถูกกว่าราคาตลาด

 

ถัดมาทางธนาคารทหารไทยได้เงินมาก็จะเสนอซื้อหุ้นสามัญของธนาคารธนชาตจาก ทุนธนชาต (TCAP) และ Scotia Netherlands  Holding B.V. (BNS) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของธนาคารธนชาต สุดท้ายทั้งทุนธนชาตและ BNS จะนำเงินที่ได้จาก TMB กลับเข้ามาซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของธนาคาร TMB ซึ่งอาจจะทำให้ราคาหุ้น TMB อาจจะเพิ่มขึ้นเกิน 2 บาทต่อหุ้น

 

“ปัจจุบันมีคนเข้ามาเทรดหุ้น TMB อยู่ที่วันละ 100 ล้านบาท ซึ่งต้องเทรดหุ้น 200 วัน ถึงจะได้ 20,000 ล้านบาท ดังนั้นไม่มีทางที่รายใหญ่ๆ จะเข้ามาได้ขนาดนั้น ขณะเดียวกันช่วงที่เราเดินสายพบนักลงทุนต่างประเทศเรื่องดีลนี้พบว่า หุ้นขยับขึ้นมา 8-9% เพราะต่างชาติสนใจมากขึ้น ทำให้หุ้นทะลุขึ้นมา”

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising